บ้านปู BC4C ปี”9 ก้าวที่กล้าเดินของธุรกิจ SE

เพราะบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา “คน” ในการขับเคลื่อนชุมชน สังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงทำให้โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปูจึงมุ่งสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต ตลอดจนการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่น ๆ

ซึ่งเหมือนกับ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change-BC4C)” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปีที่ 9 โดยร่วมกับสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการสนับสนุน ส่งเสริม ตลอดจนพัฒนากิจการเพื่อสังคมของประเทศไทย

“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ BC4C ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก้าวที่กล้าเดินหน้าเพื่อพัฒนากิจการเพื่อสังคมของคุณอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการตอบรับความต้องการของโลกยุคใหม่ด้วยการนำเสนอแผนธุรกิจของตนควบคู่ไปกับการทำตลาดและการสื่อสาร ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ที่แตกต่างกันไปตามลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ถือเป็นการตอบรับเทรนด์ใหม่ให้ลูกค้าเข้าถึงกิจการเพื่อสังคมของพวกเขาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมที่หลากหลาย

“ปีนี้มี 34 กิจการเพื่อสังคมที่ส่งแผนธุรกิจเข้าร่วมโครงการ และทุกทีมได้ร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินกิจการเพื่อสังคมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ SE.School (Social Enterprise School) พร้อมรับคำแนะนำในการพัฒนาแผนธุรกิจอย่างเข้มข้นจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเหตุผลที่เราจัดกิจกรรมการเรียนรู้ช่วงแรกอย่างเต็มรูปแบบผ่าน SE.School นั้น เพราะด้วยความเชื่อของบ้านปูที่ว่า พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ซึ่งเราต้องการให้ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผนธุรกิจ และโมเดลการแก้ไขปัญหาสังคมของตนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

“จนที่สุดเราจึงคัดเลือก 10 กิจการเพื่อสังคมที่มีความเป็นไปได้ทั้งในส่วนการดำเนินธุรกิจและแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปการพัฒนาทักษะการนำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจ เรียนรู้เคล็ดลับการทำแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังรับฟังข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำกิจการเพื่อสังคมให้ยั่งยืนจากรุ่นพี่ของโครงการอย่างนรินทร์ จิตต์ปราณีชัย จากกิจการเพื่อสังคม a-chieve รุ่นพี่โครงการ BC4C รุ่นที่ 1 และสมศักดิ์ บุญคำ จากกิจการเพื่อสังคม Local Alike รุ่นพี่ BC4C รุ่นที่ 2 อีกด้วย”

สำหรับ 10 กิจการเพื่อสังคมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ PharmCare (ฟาร์มแคร์) แพลตฟอร์มออนไลน์เชื่อมโยงบริการการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ณ ร้านขายยาให้คนทั่วไปสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้น, Cropperz (ครอปเปอซ์) ธุรกิจระบบจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรในระบบออนไลน์, Heaven on Earth (เฮเวนออนเอิร์ธ) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าที่แปรรูปจากใบชาที่ปลูกในพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูในภาคเหนือ, YoungHappy (ยังแฮปปี้) ธุรกิจบริหารจัดการชุมชนผู้สูงอายุผ่านแอปพลิเคชั่น, อัตลักษณ์ ธุรกิจของชำร่วยจากเศษผ้าพื้นบ้านของภาคอีสาน เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น

Orgafeed (ออร์ก้าฟีด) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสุนัขที่ผลิตจากแมลง เพื่อช่วยจัดการขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ผ้าสร้างสุข ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนท้องถิ่นภาคใต้, ปักจิตปักใจ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผ้าปักจากฝีมือคนตาบอด สร้างเสริมอาชีพใหม่ให้ผู้พิการทางสายตา, GreenHerit (กรีนเฮอริท) ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์ ช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกและเพียงใจ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องนอนจากเศษยางพาราเขาคีริส ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสร้างอาชีพให้คนในชุมชนแทนการออกไปทำงานไกลบ้านไกลครอบครัว

“อุดมลักษณ์” กล่าวย้ำว่า ทั้ง 10 กิจการเพื่อสังคมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับทุนสนับสนุนเบื้องต้นรวม 800,000 บาท สำหรับการดำเนินกิจการตามเป้าหมายที่นำเสนอต่อคณะกรรมการเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นทั้งหมดจะเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพิ่มเติมกับทางโครงการเพื่อเรียนรู้การวางแผนการสื่อสาร การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม การร่วมพัฒนาและทดสอบแผนการตลาด ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ

“และเข้าร่วมกิจกรรม Mentor Matching ที่โครงการร่วมกับกิจการเพื่อสังคม Hand Up ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการ BC4C รุ่นที่ 5 เพื่อจับคู่กับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของแต่ละกิจการ ทั้งหมดนี้จะทำให้กิจการเพื่อสังคมของทั้ง 10 ทีมมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป”

“สุดท้ายราวเดือนสิงหาคม 2562 ทั้ง 10 ทีมจะมานำเสนอผลการดำเนินงานอีกครั้ง เพื่อคัดเลือก 5 ทีมชนะเลิศที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไปพร้อมกับสร้างรายได้ทางธุรกิจอย่างโดดเด่น และรับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีกกว่า 1.25 ล้านบาท”


“อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาโครงการจัดกิจกรรมโรดโชว์ที่เชียงใหม่, อุดรธานี และสงขลา จนทำให้มีผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ไฟแรงที่มามากมายจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศ จึงทำให้เรามีความหวังว่ากระแสการตื่นตัวของเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในระดับท้องถิ่นจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ระดับประเทศต่อไป”