แก้หนี้นอกระบบ 24 ชั่วโมง “ทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง” ใช้คุณธรรม 5 ข้อ เป็นหลักประกัน

เงินขาดมือ-หมุนไม่ทัน สำหรับอาชีพเกษตรกร ในสังคมชนบท เกิดขึ้นได้เสมอ

ตั้งแต่ปัญหาขาดเงินซื้ออาหารประทังชีวิต จ่ายค่าเทอมและอุปกรณ์การเรียนของลูก ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ ครบกำหนดชำระหนี้แต่ยังไม่มีเงินจ่าย ขาดเงินไปจ่ายเป็นภาษีสังคม เช่น งานบวช งานแต่ง จิปาถะ ไปจนถึงเจ็บไข้ได้ป่วยขาดเงินในการรักษา

เส้นทางเข้าแหล่งทุน มี 2 ทางเท่านั้น ทางแรก การกู้หนี้ในระบบ ยากแสนยากกว่าจะได้เข้าถึง “ธนาคารของรัฐ” ปัญหามีตั้งแต่ เอกสารสารพัดยาวเหยียด 10-20 รายการ และกู้ยาก กู้ไม่ผ่าน ขั้นตอนยุ่งยาก เพราะสถาบันการเงินมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อป้องกันความเสี่ยง แม้รัฐบาลจะหาเสียง-ไฟเขียวไปจากกรุงเทพฯ

ทางที่สอง “กู้นอกระบบ” ทำได้ง่าย รวดเร็วทันใจ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงสำหรับการถูกโกง การทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ค้นพบพื้นที่ ที่จัดการ “หนี้” ได้อย่างเป็นระบบ “สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง” ตําบลหนองหลุม อําเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร มีวิธีการจัดการที่โจทย์-ลงตัว แก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ผ่านวิกฤตหนี้นอกระบบได้ มาแล้ว 9 ปี

“ชูศักดิ์ ทองดอนยอด” ประธานสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาในตำบลหนองหลุม มีเงินสารพัดกองทุนต่างๆ อยู่มากมายที่ได้รับเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีหลายกองทุน คนที่พอจะมีความรู้ หรือเป็นผู้นำ ก็จะถูกจับไปให้เป็นกรรมการเกือบทุกกองทุน ในแต่ละเดือนประชุมหลายครั้ง บางทีก็เกิดความสับสนในวิธีการของแต่ละกองทุนที่ไม่เหมือนกัน กรรมการบางคนต้องเข้าร่วมทั้งประชุมใหญ่ ประชุมย่อย จนไม่มีเวลาไปทำมาหากินของตัวเอง”

ขณะที่ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนก็กู้กันหลายกองทุน บางทีก็ผิดระเบียบ ผิดวัตถุประสงค์ บางกองทุนหยุดดำเนินการ ไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหนก็เอามาฝากกลุ่มออมทรัพย์

จุดเปลี่ยนในการบริหารจัดการ “เงินกองทุนสารพัด” จึงกลายเป็นพลิกกลุ่มออมทรัพย์มาเป็นสถาบันให้บริการการเงินโดยสร้างเครือข่ายชุมชนขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง” เมื่อปี 2553 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรวมคณะกรรมการทุกกองทุนจัดตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสถาบัน

จากเดิมชาวบ้านไปกู้กองทุนต่างๆ ได้เงินน้อย บางทีซื้อปุ๋ยได้แค่ 5-10 กระสอบ ไม่พอสำหรับทำนา เมื่อนำทุกกองทุนมารวมกันแล้วบริหารจัดการร่วมกัน ร่างระเบียบกันขึ้นมาใหม่ คราวนี้กู้ได้มากขึ้น แต่ทุกครัวเรือนจะต้องกู้เพียง 1 สัญญาเท่านั้น

จุดแข็งของกองทุนคือ ในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมายังไม่มีหนี้เสีย-ไม่มียึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

“ปัจจุบันดําเนินงานมาได้กว่า 9 ปี มีเงินหมุนเวียนจำนวน 56 ล้านบาท ชาวบ้านกู้ไปประมาณ 40 ล้านบาท ที่เหลือฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไว้ อีกส่วนเป็นเงินสำรองไว้เผื่อชาวบ้านกู้ฉุกเฉิน ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนําไปประกอบอาชีพหรือนําไปใช้จ่ายยามจําเป็น ไม่ต้องกู้ยืมหลายกองทุน หลายสัญญา ตลอดจนป้องกัน การสูญหายของเงินทุนในชุมขน และลดระยะเวลาการเดินทางไปทําธุรกรรมทางการเงินในอําเภอเมืองให้ประชาชนในพื้นที่ได้”

สําหรับการบริการของสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 12% ต่อปี และมีเงินปันผลให้สมาชิกสำหรับเงินฝากด้วย ซึ่งเงินปันผลขึ้นกับกําไรสุทธิ โดยสถาบันฯ ให้บริการเงินกู้ 4 ประเภท ประกอบด้วย บริการเงินกู้ฉุกเฉิน สําหรับสมาชิกผู้กู้เท่านั้น ที่ต้องการนําไปดําเนินการเรื่องงานแต่ง งานบวชและงานศพ ในวงเงินสูงสุด 100,000 บาท ให้บริการเงินกู้ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว วงเงินสูงสุด 200,000 – 300,000 บาทต่อครัวเรือน

หลักเกณฑ์ของสถาบันฯ คือ สมาชิกผู้กู้ จะต้องเป็นสมาชิกของสถาบันฯอย่างน้อย 6 เดือน มีภูมิลําเนาอยู่ในตําบลหนองหลุม อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจะต้องมีบัญชีเงินออมและถือหุ้นตามที่สถาบันฯกําหนด และการรับบริการกู้จะต้องมีโฉนดที่ดินและผู้ค้ำประกันที่มียอดเงินฝากออมทรัพย์ในสถาบันฯ สูงกว่าจํานวนเงิน ที่ขอกู้เป็นหลักทรัพย์

การพิจารณาอนุมัติ คณะกรรมการสถาบันฯ จะพิจารณาจาก วัตถุประสงค์ ความเหมาะสมของวงเงินที่ขอกู้ ความสามารถในการผ่อนชําระ และลักษณะนิสัยของสมาชิกผู้กู้ เป็นสําคัญ ซึ่งการติดตามชําระหนี้จะเป็นไปในลักษณะหนังสือทวงหนี้ เตือนล่วงหน้าก่อน 2-3 เดือน เพื่อให้สมาชิกผู้กู้มีเวลาเตรียมตัวผ่อนชําระคืน

ซึ่งหากมีกรณีที่สมาชิกไม่ชําระหนี้ตามกําหนดเวลา สถาบันฯ จะไม่ดําเนินการตรวจสอบหรือฟ้องร้องผู้กู้เหมือนสถาบันการเงินในระบบ แต่จะให้โอกาสเข้ามาชี้แจงสาเหตุ และลดหย่อน การผ่อนชําระให้สมาชิกแทน ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมา 9 ปี ไม่มีสักรายเดียวที่ถูกยึดหลักทรัพย์และก็ไม่มีหนี้เสียเช่นเดียวกัน

ปัจจัยในความสำเร็จและความมั่นคงของกองทุน ที่ต่างไปจากกองทุนประเภทอื่น คือ คุณธรรม 5 ประการ ตามป้ายที่ติดไว้บนผนังสำนักงานของกองทุน ระบุว่า “คุณธรรม 5 ประการ 1.มีความซื่อสัตย์ต่อกัน 2.มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม 3.มีความรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีความเห็นอกเห็นใจกัน 5.มีความไว้วางใจ

“เพราะธนาคารอยู่ไกล พี่น้องในตําบลหนองหลุม กว่า 3 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยห้าง บ้านไหล่โก และบ้านโนนไร่ จึงมาฝากเงินที่สถาบันฯแทน กำหนดเงินฝากขั้นต่ำสำหรับสมาชิกคือ 20 บาทต่อเดือน และสมาชิกสามารถแจ้งกู้ฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเราแสดงให้ เขาเห็นว่าการทํางานที่นี่โปร่งใส มีการชี้แจงอย่างต่อเนื่องกับสมาชิก นอกจากนี้ที่ผ่านมาสถาบันฯ บ้านห้วยห้าง สามารถช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบ หนี้หมวกกันน็อก หนี้จากการซื้อเคมีภัณฑ์ ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น”

“ทุกคนในชุมชนกว่า 90% ของครัวเรือนทั้งหมดในบ้านห้วยห้างมีเงินออม เข้าถึงแหล่งทุน ที่จะนําไปสู่การสร้างความสุขของตัวเองต่อไปได้ เช่น บางรายกู้ไปทำกิจการร้านเบเกอร์รี่” ประธานสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้างกล่าว


นอกจากนี้ทางสถาบันยังได้จัดการสวัสดิการในชุมชนด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนการจัดงานวันเด็ก ทุนการศึกษา สนับสนุนร้านค้าชุมชนสําหรับจําหน่ายผลิตภัณฑ์ช่วยสาธารณะ ประโยชน์ หรือเหตุการณ์ทางธรรมชาติ โดยมีเงินปันผลปลายปีเป็นค่าตอบแทนกรรมการประมาณ 10,000 บาทต่อราย โดยไม่มีเงินเดือน ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการที่สถาบันฯ จะได้วันละ 300 บาท