ปิดทองหลังพระฯ จับมือ คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทำฟันพระราชทาน เฉลิมพระเกียรติ ร.10 พื้นที่ชายแดนใต้

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดยะลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา จัดโครงการคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่ เฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2562 พื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” วันที่ 28 กรกฎาคม 2562

“รศ.ทญ.วัชราภรณ์ ทัศจันทร์” อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่เมื่อปี 2513 ด้วยทรงห่วงใยราษฎรพื้นที่ชนบทไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เพราะขาดทันตแพทย์และเครื่องมือ

“พระองค์ท่านทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถทันตกรรมเคลื่อนที่ 1 คัน และมอบหมายให้ ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ส่วนพระองค์ นำทีมทันตแพทย์อาสาจากคณะทันตกรรมฯ จุฬา ไปยังท้องถิ่นห่างไกลรักษาประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่เป็นการถอนฟัน ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก และดำเนินงานต่อเนื่องถึงปัจจุบัน”

“การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ” ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า คลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เริ่มครั้งแรกปี 2561 ณ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ให้บริการประชาชนไปมากกว่า 2,000 คน จากพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ สายบุรี, ไม้แก่น, มายอ, กะพ้อ และปะนาเระ เป็นการออกคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่ฯครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีการจัดมาก่อนหน้านี้ถึง 3 เท่า

การออกหน่วยคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 2 ปี 2562 ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาในครั้งนี้ ใช้ห้องประชุมโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร มิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. ตำบลบันนังสตา มีทันตแพทย์อาสาร่วมให้การรักษาเพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรก เป็นระดับอาจารย์และทันตแพทย์จุฬาฯ 32 คน เจ้าหน้าที่ 24 คน ทันตแพทย์มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 2 คน ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าจุฬาฯในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมอีก 35 คน

ส่วนผู้เข้ารับการรักษาเป็นประชาชนทั่วไปและนักเรียนจากอำเภอบันนังสตา และอำเภอกรงปินัง ผ่านการคัดกรองเพื่อจัดประเภทของการรักษา ได้แก่ ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด แบ่งเป็นวันที่ 10 กรกฎาคมจำนวน 1,393 คน และวันที่ 11 กรกฎาคม จำนวน 1,296 คน รวมกว่า 2,500 คน

และการเตรียมงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดยะลา อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง โรงพยาบาลบันนังสตา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง กอ.รมน.จังหวัดยะลา จัดเจ้าหน้าที่ร่วมอำนวยความสะดวกให้ทันตแพทย์อาสาและทีมงาน จัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ คัดกรองผู้เข้ารับบริการ รวมถึงการจัดรถรับ-ส่ง ประชาชน นักเรียน ดูแลความปลอดภัย ตลอดระยะเวลาในการรักษา