10 คำถามควรรู้ เกี่ยวกับการยื่นใบลาออก

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com 

คำเตือนก่อนอ่าน : ไม่ได้ส่งเสริมให้คนอยากจะลาออกนะครับ ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนการตัดสินใจ

  1. ถาม : หัวหน้าเรียกมาบอกให้เขียนใบลาออกจะทำอย่างไรดี ?

ตอบ : อยู่ที่ตัวเราแหละครับ ถ้าเราไม่อยากจะลาออกก็ไม่ต้องเขียน (และเซ็นชื่อใน) ใบลาออก เรายังคงมีสถานะเป็นพนักงานต่อไป แต่ถ้าบริษัทอยากจะให้เราออกจากบริษัทจริง ๆ เขาต้องแจ้งเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามาให้เรา

2. ถาม : ถ้าเรายื่นใบลาออกเอง จะได้รับค่าชดเชยเหมือนกับถูกเลิกจ้างหรือไม่ ?

ตอบ : ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกจะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ครับ เนื่องจากเป็นความประสงค์จะลาออกของตัวลูกจ้างเอง

3. ถาม : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุ พนักงานยังคงต้องเขียนใบลาออกหรือไม่ และเมื่อเกษียณอายุจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ?

ตอบ : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุพนักงานไม่ต้องเขียนใบลาออกครับ จะถือว่าพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัท ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) ให้กับลูกจ้างอีกด้วยครับ

4. ถาม : หัวหน้าสามารถใช้อำนาจ (ของหัวหน้า) บังคับให้เราเขียนและเซ็นใบลาออกได้ไหม ?

ตอบ : ตอบเหมือนข้อ 1 ครับ คือ ถ้าเราไม่เขียน หรือไม่เซ็นใบลาออก ใครก็มาบังคับไม่ได้ครับ

5. ถาม : ถ้าหัวหน้าบังคับให้เราเขียนใบลาออก แล้วเราก็เขียนและเซ็นใบลาออกให้หัวหน้าไปจะมีผลอย่างไร ?

ตอบ : มีผลคือเราจะพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทในวันที่เราระบุเอาไว้ในใบลาออก โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างให้เราถึงวันสุดท้ายที่เราทำงานครับ

6. ถาม : ถ้าหัวหน้าบังคับให้เราเขียนใบลาออก และเราก็เซ็นใบลาออกไปแล้ว เราจะไปฟ้องศาลแรงงานว่าเราถูกผู้บริหารบีบบังคับ หรือกดดัน หรือข่มขู่เราทั้ง ๆ ที่เราไม่เต็มใจได้หรือไม่ ?

ตอบ : การลาออกเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งลูกจ้าง เมื่อเซ็นใบลาออกไปแล้ว ก็เท่ากับแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว การจะไปฟ้องศาลแรงงานว่าเราถูกข่มขู่จากนายจ้างจะต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาจริง ๆ ว่ามีการข่มขู่อย่างไร หนักหนาสาหัสอย่างไร ถ้าไม่เซ็นใบลาออกเราจะถูกประทุษร้ายหรือมีอันตรายถึงชีวิตอย่างไร ฯลฯ เพื่อให้ศาลท่านพิจารณา

แต่ถ้าจะไปฟ้องศาลโดยอ้างลอย ๆ ว่าถูกข่มขู่โดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ท่านลองคิดเองนะครับว่าจะชนะคดีหรือไม่

7. ถาม : หัวหน้าเรียกไปด่าแล้วพูดว่า “ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไป” หรือ “คุณลาออกไปเถอะ ทำงานกันไปคุณก็ไม่มีวันก้าวหน้าหรอก” แล้วเราก็ไปเขียนใบลาออกถือว่าเราถูกขู่ได้หรือไม่ ?

ตอบ : อย่างที่ตอบไปแล้วว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่การข่มขู่ หรือการปิดกั้นไม่ให้เรามาทำงานที่แสดงว่าจะเลิกจ้าง ดังนั้น ถ้าพนักงานเขียนใบลาออกถือว่าเป็นการสมัครใจลาออกเอง ไม่ใช่การถูกข่มขู่ครับ

8. ถาม : ถ้าเขียนใบลาออกไปแล้วยื่นให้กับหัวหน้า แล้วจะเปลี่ยนใจไม่ลาออกควรทำอย่างไร ?

ตอบ : ก่อนจะยื่นใบลาออกให้หัวหน้า ขอให้คิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นใบลาออกไปแล้ว การลาออกจะมีผลลาออกตามวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออก ถ้าหากจะไปเปลี่ยนใจทีหลังว่าจะไม่ลาออกก็ต้องไปพูดคุยกับหัวหน้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทแล้วล่ะครับว่าเขาจะว่าอย่างไร

ถ้าเขายังอยากให้เราทำงานต่อไป เขาควรจะต้องคืนใบลาออกกลับมาให้เรา แต่ถ้าเขาไม่อยากให้เราทำงานต่อไป ใบลาออกจะมีผลตามวันที่เราระบุเอาไว้แหละครับ ผมถึงบอกว่าก่อนยื่นใบลาออกคิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นไปแล้วจะอยู่ที่การตัดสินใจของบริษัทแล้วครับ

9. ถาม : การยื่นใบลาออกจะต้องยื่นล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่ยื่นตามระเบียบของบริษัทจะมีความผิดหรือไม่ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายได้หรือไม่ ?

ตอบ : เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออก และระบุวันที่มีผลเอาไว้วันใด เมื่อถึงวันที่ระบุไว้จะมีผลทันที ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอนุญาตแต่อย่างใด ถ้าลูกจ้างไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัทแล้วทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทมีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานว่าลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบการลาออกแล้วทำให้บริษัทเสียหายไปกี่บาทกี่สตางค์ เพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัย แต่บริษัทไม่มีสิทธิไปหักเงินเดือนงวดสุดท้าย โดยอ้างว่าลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบไม่ได้ครับ

ดังนั้น พูดง่าย ๆ คือ เมื่อพนักงานยื่นใบลาออก จะมีผลพ้นสภาพในวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออกทันที แม้ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัทก็ตาม แต่ถามว่าพนักงานที่ดีควรทำอย่างนี้หรือไม่ การลาออกควรลาออกด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันจะดีกว่าหรือไม่ ก็เท่านั้นแหละครับ

10. ถาม : บริษัทจะออกระเบียบห้ามพนักงานลาพักร้อนเมื่อยื่นใบลาออกได้หรือไม่ ?


ตอบ : ถ้าพนักงานมีสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมอยู่เท่าใด หากพนักงานยื่นใบลาออกแล้ว ยังมีสิทธิในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมอยู่เช่นเดิม ถ้าบริษัทไม่ให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามสิทธิที่มีอยู่ บริษัทจะต้องจ่ายเงินคืนกลับมาตามจำนวนวันที่พนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 64 ของกฎหมายแรงงานครับ