Creator Space (NEXT) บ่มเพาะนวัตกรกระตุ้น ศก.ไทย

การจะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น ต้องพัฒนาคนให้มีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีเทคโนโลยี และการบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ตรงตามความต้องการของตลาด โดยหนทางที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ คือ การสร้างพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์สามารถรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด และเป็นที่บ่มเพาะให้ความคิดของพวกเขาเกิดขึ้นจริง

ด้วยเหตุนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย, ทรู ดิจิทัล พาร์ค และองค์กรร่วมกว่า 10 องค์กร มาร่วมมือกันสร้าง Creator Space (NEXT) แหล่งพัฒนานวัตกร-สตาร์ตอัพครบวงจรที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่ในศูนย์ เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติในระยะยาว

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า พื้นที่นักสร้างสรรค์ Creator Space (NEXT) ตั้งอยู่ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของไทยที่รวบรวมองค์กร หรือบริษัทขนาดใหญ่จากทั่วโลก เช่น กูเกิล, หัวเว่ย อยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการตั้ง Creator Space (NEXT) เพราะเป็นย่านที่เหล่าสตาร์ตอัพเดินทางมาพิตชิ่งโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ พวกเขายังสามารถใช้พื้นที่ของเราเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเพื่อทำงานใกล้ ๆ กับบริษัทด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่น ๆ

“เพราะ Creator Space (NEXT) มีฟังก์ชั่นการบริการใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านนวัตกรสัมพันธ์ (human resources) เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสู่สตาร์ตอัพในภาคธุรกิจดิจิทัล, ด้านพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรม, พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน มีเวิร์กช็อป เทรนนิ่ง และการแข่งขันสร้างสรรค์ไอเดีย หรือ hackathon”

“ด้านชุมชนดิจิทัล การพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการสนับสนุนจากเครือข่ายในชุมชนดิจิทัล และการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์, ด้านความรู้ และเทคนิคจากพาร์ตเนอร์ การแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการสร้างสรรค์ ระหว่างพาร์ตเนอร์และนวัตกร นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจดิจิทัล, ด้านความร่วมมือกับภาครัฐ การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการสตาร์ตอัพ ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ด้านการสนับสนุนทางการเงิน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับองค์กรภาคเอกชน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดเศรษฐกิจ”

“วันนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังพึ่งพาต่างประเทศ เช่น เรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านการผลิต ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติมาตั้งในไทย เมื่อเราต้องพึ่งอิทธิพลของนอกประเทศแบบนี้ เศรษฐกิจประเทศไทยจะเหนื่อย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวน้อยลง หรือบริษัทข้ามชาติเห็นแรงงานประเทศอื่นถูกกว่า พวกเขาจะย้ายส่วนผลิตผลทางการเกษตรก็ยากที่จะช่วยเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า”

“ศ.ดร.สุชัชวีร์” กล่าวต่อว่า การจะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง คือ ต้องยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้ และสามารถผลิตของที่ใช้แรงงานไม่ต้องเยอะ แต่ขายได้ราคาแพง เช่น ของที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร และโทรศัพท์มือถือ เพราะประเทศที่ทำโทรศัพท์มือถือต่างรวยทั้งนั้น แต่ถ้าเราทำได้ ค่าแรงจะขึ้น ไม่ต้องซื้อของนอกประเทศ และถ้ายิ่งส่งออกได้จะทำให้ GDP (gross domestic product) หรือ GNP (gross national product) ยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

“ฉะนั้น ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องคิด ต้องย้ายจากการอาศัยปัจจัยนอกประเทศ มาอาศัยทรัพยากรมนุษย์ของเรา คือ พลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถช่วยให้ประเทศพึ่งพาตัวเองได้ และส่งออกผลผลิตได้ แบบนี้เศรษฐกิจจะไปอย่างมั่นคง ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ศูนย์ตรงนี้จะเป็นฐานที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจใน 2 มิติ หนึ่ง เป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจ จะทำให้เกิดนวัตกรรมต่อเนื่อง และขยายฐานต่อไป สอง ดึงดูดคนเข้ามาใน ecosystem มาต่อยอดฐานที่เกิด จนทำให้ฐานใหญ่ขึ้น ต่อยอดนวัตกรรมได้ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้น

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ตอนนี้แผนของประเทศต้องการใช้นวัตกรรมนำ เพราะ Creator Space (NEXT) จะช่วยให้นิสิตนักศึกษา นวัตกร นักวิจัย มีที่ให้ลองและนำไปใช้จริง และเป็นการสร้างผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม และความสร้างสรรค์ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการจะสร้าง S-curve ใหม่ ช่วยผลักดัน GDP แทนที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เติบโตมานาน และค่อย ๆ ลดอัตราการเจริญเติบโตลง ดังนั้น เราต้องเร่งให้อุตสาหกรรมที่มาจากนวัตกรรมมีการเติบโตสูง เพราะจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของระบบเศรษฐกิจในอนาคต”

“ทั้งนี้ การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะนำมาสู่การพัฒนาบุคลากรของประเทศ ตอกย้ำเจตนารมณ์ของ ธ.กรุงไทย ในการก้าวสู่ invisible banking และเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำ ร่วมสร้างนวัตกรรมสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ โดยเราพร้อมสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับนวัตกรรมสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในทุกรูปแบบ พร้อมกับการเป็นผู้บริหารกิจการ หรือผู้ประกอบการที่มีความสามารถ นำไปสู่โอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากลต่อไป”

“ฐนสรณ์ ใจดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค มีแนวคิดเป็น open innovation ที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากความพร้อมด้านสถานที่ เรายังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ช่วยให้ศูนย์นี้เปรียบได้เหมือนกับ Silicon Valley (พื้นที่ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก)

“เพราะ Creator Space (NEXT) มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี มีบริษัทสตาร์ตอัพมากมาย มี incubator (นักบ่มเพาะธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น) และ accelerator เป็นผู้ช่วยเร่งอัตราการเติบโตของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และบริษัทการเงินการธนาคาร รวมไปถึงความร่วมมือกับภาครัฐ เราจึงเชื่อมั่นว่า Creator Space (NEXT) จะช่วยสร้างนวัตกรไทยหน้าใหม่ให้สามารถเติบโต และแข่งขันได้ในเวทีโลก”

“เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เราตั้งเป้าให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งรวมนวัตกรกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งถือว่าใกล้ความจริงมาก เพราะทรู ดิจิทัล พาร์ค เพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่มีคนด้านนวัตกรรมกว่า 3 พันคนแล้ว”

นับว่าเป็นแหล่งที่ช่วยให้ทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ได้ปฏิสัมพันธ์กัน เป็นพื้นที่บ่มเพาะและให้คำปรึกษานวัตกร สู่การเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล