14องค์กรคว้าสุดยอดนายจ้าง “แมคไทย”ซิวดับเบิลเบสต์ปี”60

แมคไทยซิวที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นจากเอออน ฮิววิท ขณะที่ 13 องค์กรดาหน้าคว้ารางวัลสุดยอดปี”60 เอไอเอส, ดีเอชแอล, ฟู้ดแพชชั่น, เทสโก้ โลตัส ฯลฯ ด้านกูรูเอชอาร์จากศศินทร์ห่วงองค์กรไทยยังตามไม่ทันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แนะควรวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณมากกว่าแค่ทำรายงานส่งผู้บริหาร

นายภานุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน กรรมการผู้จัดการ และพาร์ตเนอร์ บริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นของบริษัทเอออน ฮิววิท เป็นการสำรวจที่น่าเชื่อถือ และความครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง โดยเริ่มครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2544 ด้วยการทำงานร่วมกันกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยปีนี้มีบริษัทที่ได้รับรางวัลที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย คือ บริษัท แมคไทย จำกัด ส่วนอีก 13 องค์กรรับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย คือ บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็ค เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด, บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด, บริษัท พาเนล พลัส จํากัด, เทสโก้ โลตัส, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, โรงพยาบาลพญาไท, บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จํากัด และบริษัท เอสเอพี ซิสเต็มส์ แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ โปรดักส์อิน ดาต้า โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด โดย 2 บริษัทหลัง นับเป็นปีแรกที่องค์กรขนาดเล็ก-ขนาดกลางได้รับรางวัลครั้งนี้ด้วย

สำหรับแมคโดนัลด์ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่แมริออท เวเคชั่น คลับ ประเทศไทย ในเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นระดับโลก ประจำปี 2560

“ความยั่งยืนขององค์กรมักจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่สามารถบริหารความต้องการในแง่ธุรกิจ และความต้องการของบุคลากรได้อย่างสมดุล โดยในมุมธุรกิจต้องมีความรวดเร็ว นวัตกรรม และการปรับตัวที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่มุมของพนักงาน พวกเขาต้องการทำงานกับองค์กรที่มีความโปร่งใส มีวัตถุประสงค์องค์กรชัดเจน และได้รับประสบการณ์ที่ดีจากองค์กร” นายภานุวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการศึกษา และการสำรวจชี้ให้เห็นว่า องค์กรใดที่มีการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน จะเป็นตัวที่นำไปสู่ความผูกพันกับองค์กรสูง และจะเป็นตัวผลักดันผลประกอบการของบริษัท องค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นมีรายได้มากกว่าองค์กรทั่วไปในตลาดถึง 25% ทั้งยังทำกำไรมากกว่าองค์กรทั่วไปในตลาดถึง 58%

นางสาวฐาณิญา กฤษฎาวรกุล ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้จัดการโครงการนายจ้างดีเด่นประจำปี 2017 บริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปีนี้มีองค์กรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 84 องค์กร ในจำนวนเหล่านั้นมีองค์กรขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่มีบุคลากรไม่เกิน 100 คน กว่า 10 องค์กร เข้าร่วมโครงการด้วย

“กระบวนการสำรวจเราใช้แบบสอบถาม เรียงความ และการสัมภาษณ์ ทั้งผู้บริหาร และพนักงาน โดยเราพิจารณาด้วยว่า คำตอบของทั้งสองฝ่ายไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และปีนี้นับเป็นปีที่ 5 ที่แมคไทยเข้าร่วมโครงการ และมีผลคะแนนในแต่ละปีดีขึ้นสม่ำเสมอ เพราะองค์กรของเขาให้ความสำคัญต่อการศึกษาผลคะแนนในปีที่ผ่านมา ทั้งยังนำไปปรับปรุงอยู่ตลอด ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัล แต่จุดเด่นสำคัญของแมคไทย คือ ถึงแม้บริษัทจะมีความท้าทายในการรักษาคนสูง เพราะมีจำนวนพนักงานพาร์ตไทม์มากกว่าบริษัทอื่น ๆ แต่ยังมีผลกำไรสูงขึ้น และพนักงานระดับปฏิบัติการได้รับโอกาสในการเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงได้ไม่ยาก” นางสาวฐาณิญากล่าว

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราอาจเริ่มต้นจาก HR 1.0 ซึ่งเป็นจุดที่ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคล จากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่ HR 2.0 เริ่มมองถึงวิธีการแก้ปัญหา ส่วน HR 3.0 เป็นการลงมือทำ และ HR 4.0 คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมมาต่อยอด เพียงแต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้น HR 2.5 เท่านั้น

“เพราะองค์กรในประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องพัฒนาการบริหารบุคลากร และการจัดอันดับสุดยอดนายจ้างน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กระนั้นก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เอชอาร์ประเทศไทยก้าวหน้าได้ทันนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ คือ ต้องเพิ่มทักษะการวิเคราะห์เชิงข้อมูลตัวเลข จากนั้นถึงนำผลมาศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข ซึ่งวิธีนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้วย” รศ.ดร.ศิริยุพากล่าว