ห้องเรียนแห่งอนาคต ‘ซัมซุง’ ส่งต่อความสำเร็จสู่สังคมไทย

เพราะเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้มนุษย์พัฒนา และก้าวต่อไปได้คือการค้นพบ ซัมซุงจึงนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ จนกลายเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังนำแนวคิดมาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยการผสานเข้ากับแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อการค้นพบ

บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยจัดทำโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้มีทักษะการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรม, ทักษะด้านการสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะชีวิต และอาชีพ ผ่านการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ในชื่อ “ห้องเรียนแห่งอนาคต”


ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ของซัมซุงที่มีอยู่ เข้ามาช่วยในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ในรูปแบบของ “active learning” เพื่อทำให้เขาเหล่านั้นค้นพบศักยภาพ และความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง โดยมีครูเป็นโค้ช และจากการดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ซัมซุงขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ทั้งยังพัฒนาโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตไปแล้ว 50 โรงเรียนทั่วประเทศ

โดยล่าสุดมีการจัดงาน “6 ปี สร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต” เพื่อฉลองความสำเร็จ 6 ปี ของการดำเนินโครงการ พร้อมกับส่งมอบผลงานต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการ ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการพัฒนาต่อยอด และขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

“วรรณา สวัสดิกูล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน และการพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน อย่างโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านแนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคต

“ทั้งนั้น ภายในระยะเวลา 6 ปี แนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคตถูกนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประถมขยายโอกาส โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างได้ผล”

“ปัจจุบันมีห้องเรียนแห่งอนาคตต้นแบบ ที่ทางโครงการได้ร่วมพัฒนากับโรงเรียนภาคี มีอยู่ 50 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ โดยมีครูที่ผ่านการอบรมจากโครงการกว่า 4,000 คน และมีเด็กที่ผ่านประสบการณ์ห้องเรียนแห่งอนาคตกว่าแสนคน”

“วาริท จรัณยานนท์” ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต กล่าวว่า การดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ได้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำโครงงาน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศสืบค้นข้อมูล

“ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเปิดพื้นที่, การเชื่อมโยงชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้, การเรียนเป็นแบบสหวิชา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และตั้งอยู่หลังจากที่เราดำเนินโครงการมาแล้ว 6 ปี”

ไม่เพียงเท่านี้ ครูที่เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้กับโครงการหลายร้อย หลายพันคน ยังพร้อมจะปรับเปลี่ยนแนวทางการสอน โดยจะเป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ เพื่อทำให้เด็กได้ฝึกตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ เรียนรู้วิธีสืบค้นข้อมูล ฝึกการคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งพัฒนาไปสู่การสอนแบบทีม (team teaching)

“สิ่งเหล่านี้ถ้าย้อนกลับไป ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่เป็นห้องเรียนแห่งอนาคต หรือการที่ครูมีประสบการณ์แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะเห็นได้ว่าโจทย์ที่เป็นความตั้งใจของเราที่ต้องการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีของซัมซุง มาช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 คงไม่ใช่บทบาทหลัก เป็นแต่เพียงตัวหนุนเสริมเท่านั้น”


“เพราะนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีของซัมซุงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วม ขณะเดียวกันยังช่วยให้เด็กสามารถจัดเก็บประสบการณ์ จากคำถามที่ตัวเองต้องการที่จะรู้ แล้วไปหาคำตอบมาเพื่อที่จะตอบตัวเอง ฉะนั้น บทบาทของเราจึงเป็นตัวกลางในช่วยเหลือ ส่งเสริม เพื่อทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นจริง ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้ในแต่ละบริบทได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเราทำจนตกผลึก และสามารถส่งมอบกระบวนการเหล่านี้ให้ขยายไปทุกพื้นที่ของประเทศ จนเกิดเป็นความยั่งยืน”

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 6 ปี “วาริท” บอกว่า มี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเห็นได้จากการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ผ่านการทำโครงงานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสืบค้นข้อมูล การฝึกตั้งคำถาม หาคำตอบ คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงาน การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล (digital storytelling) เพื่อสื่อสารและแบ่งปันการค้นพบ

“นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเด็กแล้ว ครูที่เข้าร่วมโครงการยังยอมเปลี่ยนจากผู้สอน มาเป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ผลที่ออกมาจึงทำให้เห็นว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้นทุกด้าน ส่งผลให้ครูมุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบใหม่นี้ไปในวิธีของตนเอง จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ที่มีความหลากหลายไม่ซ้ำกัน และยังเปิดพื้นที่ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ มาเรียนรู้แล้วนำไปปรับใช้ได้”

“การส่งมอบกระบวนการจัดการ และข้อเรียนรู้ที่ได้จากการพัฒนาต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ให้กับ สพฐ. ซึ่งเป็นผู้มีส่วนกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการการศึกษาไทย” 

“เพราะองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ได้กระจายไปอยู่ในโรงเรียน ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ และผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อนครูคนอื่น ๆ จนเกิดเครือข่ายครูแห่งอนาคตต่อไป”