Empowering Societies กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน ‘ดีแทค’

ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีเป้าหมายจะเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในประเทศไทย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ยังตระหนักถึงบทบาทในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ขององค์กรคือ “Empowering Societies” ที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่ง

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว “ดีแทค” มีการกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนออกเป็น 2 เรื่องคือ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และการสร้างไทยให้แกร่ง ผ่านแนวคิด “การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value)” ด้วยการนำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม องค์ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนเครือข่าย พันธมิตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคม โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้คนในสังคม

จึงทำให้ที่ผ่านมา “ดีแทค” มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม จนนำไปสู่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Smart Farmer, ฟาร์มแม่นยำ, เกษตรกรสำนึกรักษ์บ้านเกิด, ดีแทคเน็ตอาสา, Safe Internet, Dtac-SIIT Artificial Intelligence Lab และโครงการพลิกไทย

สำหรับล่าสุด ดีแทคยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุน “แชตบอต My Sis” ซึ่งเป็นบริการที่ต่อยอดมาจากโครงการโปลิศน้อย เพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการพลิกไทย ทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็กและคนรอบข้างอีกด้วย

เบื้องต้น “อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค เล่าให้ฟังถึงแนวทางในการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนกลยุทธ์ความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ของดีแทคว่า การดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ ดีแทคยึดหลักการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควบคู่ไปกับการนำเอาศักยภาพ ความเชี่ยวชาญของธุรกิจไปสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของดีแทคที่ต้องการสร้างไทยให้มีความแข็งแกร่ง

“เราเชื่อว่าดิจิทัลและเทคโนโลยี สามารถสร้างสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่งได้ ด้วยการนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญขององค์กรที่มีอยู่มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในมิติต่าง ๆ อย่างการสนับสนุนแชตบอต My Sis ที่ดีแทคร่วมกับโอเพ่นดรีม ในการต่อยอดโครงการโปลิศน้อย เพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง ที่เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการดีแทค พลิกไทย”

“เพราะอัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ 80-90% ของเหยื่อเลือกที่จะไม่แจ้งความ หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุตั้งแต่ 5-90 ปี แต่ 60% ของผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุ 5-20 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคน”

“การมีส่วนสนับสนุนแชตบอต My Sis จึงเป็นการช่วยให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเข้าถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเปรียบเหมือนกับพี่สาว หรือเพื่อนที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. ด้วยการทำหน้าที่รับฟัง และให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทเทคโนโลยี ดิจิทัล ที่มีส่วนช่วยพัฒนา และยกระดับสังคม ตลอดจนสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น”

นอกจากนั้น “อรอุมา” ยังบอกว่าดีแทดมีการดำเนินโครงการ Smart Farmer มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา ดีแทคร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยกว่า 20,000 ราย ใน 7 จังหวัด ผ่านหลักสูตรเกษตรเชิงพาณิชย์

“ทั้งยังสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเกษตรกรรายย่อยในการบริหารจัดการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการตั้งเป็นธุรกิจที่เรียกว่า pop agriculture ที่รวบรวมองค์ความรู้ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานเกษตรด้านต่าง ๆ มาสร้างเป็นชุมชน ที่ให้เกษตรกรสามารถเข้ามาใช้งานได้ ซึ่งอนาคตต่อไปจะพัฒนาไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคม ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอีกด้วย”

“ไม่เพียงเท่านี้ ดีแทคยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน โดยถูกกำหนดไว้ในนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานออนไลน์ เราจึงจัดทำโครงการ Safe Internet มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557” 


“เพราะเล็งเห็นว่าการใช้การสื่อสารออนไลน์ หรือการใช้ข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม จะนำมาซึ่งความสูญเสียในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการป้องกันตัวเองในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราในฐานะผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร จึงเป็นความรับผิดชอบของดีแทคที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์ให้แก่เด็กและเยาวชน”

ด้วยการให้ความรู้ที่เท่าทัน การเสริมสร้างทักษะและจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ ที่สำคัญยังมุ่งเน้นไปที่ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ (cyberbullying) โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ดีแทคได้ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์กับนักเรียนไปแล้วกว่า 6,654 คน จาก 28 โรงเรียนในระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่วนปี 2562 ดีแทคมีการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet บนเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com เพื่อให้เด็กและครอบครัว สามารถพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็ก ๆ โดยได้รับการออกแบบโดย Parent Zone ผู้ให้บริการด้านความรู้ในการเลี้ยงเด็กในยุคดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ

สำหรับหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับเด็กอายุ 5-16 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1) สำหรับเด็กตั้งแต่ 7-10 ขวบ

2) สำหรับเด็กอายุ 10-13 ปี และ

3) สำหรับเด็กอายุ 13-15 ปี ซึ่งจะประกอบด้วยเกมทดสอบความเข้าใจโลกออนไลน์ คลังคำศัพท์ แบบฝึกหัด เป็นต้น

ทั้งยังมีคำแนะนำสำหรับครูและผู้ปกครองอีกด้วย นอกจากนั้น ดีแทคยังร่วมมือกับเครือโรงเรียนเอกชนที่มีจำนวนโรงเรียนกว่า 300 โรงเรียนทั่วประเทศในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ผ่านหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet โดยจะเริ่มจากการอบรมครูผู้สอนก่อน หลังจากนั้นจะอบรมเด็กและผู้ปกครองต่อไป

ถึงตรงนี้ “อรอุมา” บอกว่าไม่ใช่เพียงแค่การเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ด้วยการนำเอาความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลมาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมเท่านั้น แต่ดีแทคยังมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ การเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วจากลูกค้า มารีไซเคิลด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

“ปี 2561 ผ่านมา ดีแทคดำเนินโครงการ Dtac ThinkSmart ทิ้งอย่างฉลาด เพื่อรณรงค์ให้ลูกค้าและประชาชนทั่วไปทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งซากมือถือ แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่ตู้รับ ThinkSmart ซึ่งกระจายอยู่ที่ Dtac hall ทั่วประเทศ และจุดรับตามสถานที่ต่าง ๆ ของพันธมิตรดีแทค โดยขยะเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน TES-AMM ซึ่งปีที่ผ่านมาเราสามารถเก็บโทรศัพท์ที่ใช้แล้วคืนกลับได้มาราว 2 แสนเครื่อง”

“ส่วนปีนี้เราจะดำเนินโครงการ E-Waste Management โดยร่วมกับสตาร์ตอัพ Trash Lucky ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขยะ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการนำกลับมารีไซเคิล ที่สำคัญ ยังมีเปิดแคมเปญรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้คนนำขยะมาส่งมอบที่ช็อปของดีแทค พร้อมรับของรางวัลอีกด้วย”


อันเป็นกลยุทธ์ของดีแทค ในการมุ่งสร้างสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน