Imagine the Future ‘เชลล์’ สอนบทเรียนนอกตำรา

ต้องยอมรับว่าศักยภาพในการคิดค้น และนำเสนอมุมมองต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคม ประเทศชาติให้สามารถเจริญเติบโตในโลกแห่งอนาคตได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ เชลล์จึงมุ่งสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน และส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสแสดงออกทางความคิด ผ่านกิจกรรม และโครงการที่หลากหลาย

ซึ่งเหมือนกับการแข่งขัน “Imagine the Future Scenarios Competition Thailand” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สำหรับปีนี้ใช้หัวข้อ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ของเมืองในเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง ในปี ค.ศ. 2050 : การดำรงชีวิต ทำงาน และใช้เวลาว่างในอนาคต” เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนได้คิดค้น และนำเสนอแบบจำลองสถานการณ์อนาคตในปี ค.ศ. 2050 ของประเทศไทย ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และการใช้เวลาว่างของผู้คน โดยคำนึงถึงปัจจัยและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

สำหรับการแข่งขันครั้งนั้น ปรากฏว่าทีม “BBA 21” ซึ่งเป็นนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วย อภิสรา ลือชัยประสิทธิ์, กรันย์พล ส่งเกียรติศรี, เปรม พัฒนพิฑูรย์, ณภัทร หิรัญเดช, มหธนพัทธ์ กอวาณิชย์กุล, สุดาทิพ หิรัญวัฒน์ศิริ และ พชร เลิศมนัสชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศในรอบสุดท้ายของการแข่งระดับประเทศ ด้วยแนวคิด “Homo Deus & Homo Sapiens” ทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชีย ณ ประเทศสิงคโปร์

โดยล่าสุดบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ส่งตัวแทน “ทีม BBA 21” เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future Scenarios Competition 2019 ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ณ ประเทศสิงคโปร์ ผลปรากฏว่าน้อง ๆ ทีม BBA 21 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์

เบื้องต้น “อัษฎา หะรินสุต” ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเนื่องจากเชลล์ ประเทศไทย จำกัด เล็งเห็นถึงความสามารถ และศักยภาพเยาวชนไทย ในการร่วมสร้าง และกำหนดรูปแบบพลังงานในวันนี้ไปจนถึงอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดการแข่งขัน Imagine the Future Scenarios Competition ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

“สำหรับการแข่งขัน Imagine the Future และเครื่องมือ Scenarios ที่เชลล์ใช้ในการศึกษา และออกแบบจำลองสถานการณ์ในอนาคต นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ในอีกทางหนึ่งยังมีคุณค่าในเชิงการพัฒนาบุคลากรของเชลล์เช่นกัน เพราะ Scenarios เป็นเครื่องมือที่ทำให้พนักงานของเราได้มีโอกาสเรียนรู้ และนำแนวคิดที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพมาใช้ในการทำงาน โดยช่วยให้พนักงานพัฒนาทักษะ ความสามารถในการคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

“เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่ตระหนักถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นการเปิดรับแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานใหม่ ๆ ด้วย ขณะเดียวกัน พนักงานเชลล์หลายคนมีโอกาสเป็นโค้ชอาสา เพื่อช่วยน้อง ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสที่เราได้ถ่ายทอดค่านิยมขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ การมีคุณธรรม การให้เกียรติผู้อื่น การคำนึงถึงความปลอดภัยให้กับน้อง ๆ เยาวชน รวมถึงพนักงานของเราด้วย”

“นอกจากนั้น ยังเป็นการร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นตามแนวคิดเติมความสุขให้ทุกชีวิต (Make Life”s Journeys Better) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเจตนารมณ์ของเชลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากร จนนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมเพื่อทุกฝ่ายในสังคมต่อไป”

“มหธนพัทธ์” ในฐานะผู้นำทีม BBA 21 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมแข่งขันครั้งนี้ว่า สมาชิกทีม BBA 21 ทั้งหมดมาจากสายบริหารธุรกิจ บัญชี การเงิน และที่ผ่านมาเคยแต่เข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจ หรือการแข่งขัน Business Case เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการมองอนาคต และจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบนี้เลย

“ตอนที่เห็นว่ามีการแข่งขันในโครงการนี้ ผมจึงลองถาม และชักชวนเพื่อน ๆ ว่าสนใจที่จะลองแข่งไหม ปรากฏว่าทุกคนสนใจ เพราะการแข่งขันครั้งนี้แตกต่างกับสิ่งที่เคยทำ ซึ่งเป็นเรื่องของพลังงาน และมีความเกี่ยวข้องเครื่องมือ Scenarios ของเชลล์ ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่สำคัญ เมื่อมาลองดูแนวคิดที่ใช้ในการแข่งขันถือเป็นสเกลที่ใหญ่มาก ทำให้ต้องระดมความคิดเห็นแบบเปิดกว้างทุกมุมมอง และเมื่อมาเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับเชลล์ จึงทำให้กระบวนการคิดกระชับขึ้นมาก เพราะเชลล์กำหนดขอบเขตของแนวคิดนั้น 2 แกน คือ uncertainty และ decentralized”

“โดยเรื่อง uncertainty พวกเราร่วมกันคิด และวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดพวกเรามองว่ามนุษย์คือสิ่งที่ไม่แน่นอนที่สุด เพราะทุกอย่างเกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่พวกเรายังไม่รู้ว่าสิ่งที่คิดมาถูกหรือไม่ จึงได้ไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งงานศึกษาวิจัย และเทรนด์ของเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี ว่าปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงไหน”

“จากนั้นเราจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยนำเรื่องของเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic of freedom) เศรษฐกิจแห่งอิสรภาพเป็นหลักในการมองแนวโน้มอนาคต จนทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมา ขณะที่เรื่องของ decentralized เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสินทรัพย์ หรือสิ่งที่มีคุณค่า และเมื่อเรานำทั้ง 2 เรื่องมารวมกัน จึงเกิดเป็นแนวคิด Homo Deus & Homo Sapiens”

ถึงตรงนี้ “อภิสรา” กล่าวเสริมว่าที่มาของแนวคิด Homo Deus & Homo Sapiens เกิดจากการที่พวกเราได้ศึกษาว่ามนุษย์มักใช้เวลาไปกับ 2 อย่าง คือ คิด (think) และทำ (do) การคิด โดยฝั่ง Homo Sapiens จะมุ่งไปในเรื่องของตลาดเศรษฐกิจเสรี มีการกระจายอำนาจ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หมด ต่างฝ่ายต่างประมวลผลได้เอง ทำให้คนกลุ่มนี้มีอิสระในการทำงาน ค้าขาย ทำไร่ทำนา เพราะทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้

“ส่วน Homo Deus จะเป็นฝั่งที่ความรู้ถูกรวบรวม โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลน้อยลง ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ทำให้จุดเด่นของแนวคิด โดยเฉพาะเรื่องของมนุษย์มีความชัดเจนขึ้น”

“เพราะจุดเด่นของพวกเราถือเป็นสิ่งที่เป็นความต่าง เนื่องจากแนวคิดนี้มองตัวคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากดูหลาย ๆ แนวคิดที่มานำเสนอในครั้งนี้จะพบว่าทุกทีมพูดถึงผลของการกระทำ แต่ของเราจะเน้นไปที่ตัวคน หรือสิ่งที่เป็นตัวปัญหา เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ต้องมองโลกให้รอบด้านมากขึ้น”

ขณะที่ “พชร” กล่าวว่าในการทำงานของพวกเรา สำหรับการแข่งขันตั้งแต่แรกถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะพวกเราไม่เคยทำงานด้วยกัน ต่างคนต่างชวนกันมา ทำให้แรก ๆ ต้องทำความรู้จัก และต้องทำความเข้าใจกันก่อน หลังจากนั้นทุกคนจะร่วมกันพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยน ซึ่งทุกครั้งจะร่วมกันหาข้อมูล และนำมาสังเคราะห์เพื่อทำให้เข้าใจมากขึ้น

“สิ่งที่ได้จากการร่วมงานครั้งนี้คือการทำงานเป็นทีมที่ต้องมีความยืดหยุ่น รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นต่าง และทุกคนต้องพูดคุยกันเพื่อร่วมกันหาทางออก และการได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อมาร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติครั้งนี้ ผมไม่ได้มองว่าต้องการชนะเพียงอย่างเดียว แต่การมาครั้งนี้เราต่างได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์กับเพื่อน ๆ ตัวแทนที่มาจากหลากหลายประเทศ”

“ที่สำคัญ ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ครั้งนี้ เป็นมากกว่ารางวัลที่ได้รับมาก ๆ ทั้งยังเป็นมิตรภาพในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่เราได้รู้จักคนเก่ง ๆ ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานร่วมกัน ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ที่ทำให้พวกเรามองภาพกว้างขึ้น และไม่จำเพาะแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการฝึกกระบวนการคิดที่หลากหลาย และรอบด้านอีกด้วย”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!