คิดได้ ทำได้ ค้าขายเป็น อุดมการณ์ “ยุวเกษตรกร” นครสวรรค์

นักเรียน 170 คน ใน 10 ลำดับชั้นตั้งแต่อนุบาล จนถึงชั้นมัธยม 3 โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ใน อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ถูกแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าเชิงเขากว่า 62 ไร่ มีทั้งทุ่งเลี้ยงสัตว์ และที่นาปลูกข้าวและพืชผัก

ในฤดูฝนน้ำฝนไหลหลากจากภูเขาลงสู่สระน้ำขนาดใหญ่ ถูกใช้เป็นน้ำกิน-น้ำใช้ ทั้งในโรงเรียนและต่อท่อเป็นน้ำประปาหมู่บ้าน

ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้ครูทั้ง 14 คน ชวนคิด-ชวนทำ กิจกรรมการเกษตร-การค้าขายผ่านระบบสหกรณ์แบบครบวงจร ถึง 13 ฐาน ทั้งการเลี้ยงหมู, เลี้ยงควายไทย, บ่อปลาดุก, กบ, เลี้ยงไก่ไข่, ปลูกกล้วย, ผักปลอดสารพิษ, เพาะเห็ดนางฟ้า, ปลูกสมุนไพร, ทำปุ๋ยชีวภาพ, น้ำส้ม,ควันไม้ไล่แมลง และกิจการสหกรณ์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิต

การวางผังโรงเรียน-โรงเรือนการเกษตร การจัดสรรที่ดินฝึกฝนอาชีพของ “กลุ่มยุวชนเกษตรกรบ้านหนองไผ่” เป็นไปตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

สำหรับ “ยุวเกษตรกร” แห่งนี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2543 จากนั้นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาแล้ว 15 รุ่น และในปี 2560 ที่ผ่านมาได้รับรางวัลกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ลำดับที่ 3 ของประเทศ

“ดำเนิน เผ่าคนชม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เล่าว่า ทั้งหมดมาจากแนวคิดของ “พนม จันทร์ดิษฐ์” ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องการสอนให้เด็กนักเรียนที่นี่ฝึกอาชีพเกษตรกรที่เป็นอาชีพที่มีคุณค่าของปู่ย่าตายาย และเป็นวิชาที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางหลัก จึงทำให้วันนี้นักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เป็นยุวเกษตรกรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ

“อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพมีคุณค่า เราอยากให้นักเรียนไม่ทิ้งถิ่น ไม่ทิ้งอาชีพเกษตร แต่เด็กต้องทำด้วยใจรัก เด็กต้องระเบิดความคิดจากข้างใน เพราะเมื่อทำด้วยใจรัก เขาจะมุ่งมั่นทำจริง ให้สอนเด็ก ฝึกปฏิบัติลงแปลงเกษตร ปศุสัตว์ และฝึกระบบสหกรณ์ เพื่อฝึกให้เด็กคิดได้ ทำได้ ขายเป็น” ครูผู้ฝึกเยาวชนกล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกยุวเกษตรกร 107 คน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมปีที่ 3 จะนำผลผลิตที่ได้ไปขายที่สหกรณ์ อีกส่วนหนึ่งนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน และเงินรายได้ครึ่งหนึ่งให้นักเรียนกลับไปออม อีกครึ่งหนึ่งจะเข้าระบบกองทุน และเด็กสามารถกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนทำการเกษตรของกลุ่มตนเองได้ ขายได้ แล้วนำเงินมาคืน

ปัจจุบันกองทุนมีเงินหมุนเวียนประมาณ 490,000 บาท และเด็กแต่ละกลุ่มจะมีรายได้ในกลุ่มของตนเองด้วย เช่น กลุ่มพืชมีเงิน 4,300 บาท กลุ่มเลี้ยงหมูมีเงินกองทุน 61,186 บาท บ่อปลาดุกมีผลผลิตปีล่าสุด 250 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับปริมาณผลผลิตกบ

ที่ดินหลังโรงเรียนมีทุ่งเลี้ยงควาย ในโครงการอนุรักษ์ควายไทยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงก่อตั้งเมื่อปี 2554 ปัจจุบันมีฝูงควายทั้งหมด 11 ตัว ตอนพักกลางวัน “ยุวชนเกษตร” จะลงทุ่ง-ขี่ควายอย่างคล่องแคล่ว

ผลการดำเนินงานอีกกลุ่มที่ถือว่าได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ คือ กิจกรรมเลี้ยงไก่ 150 ตัว มีรายได้ 150,995 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ปันผลให้นักเรียนจำนวน 7,250 บาท และเหลือเงินเข้ากองทุน 7,720 บาท โดยจะมีเงินกองทุนในการดำเนินงานปีต่อไปจำนวน 84,156 บาท

“ด.ญ.คนัสนันส์ อภิวนัสบดี” นักเรียนชั้น ม.2 ตัวแทนกลุ่มเลี้ยงไก่ไข่เล่าว่า กลุ่มนี้มีสมาชิก 14 คน ทำกิจกรรมการเกษตรที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมง จะแบ่งเวรกันมาดูแลมาเลี้ยงไก่ และเก็บไข่ วัดขนาดไข่ไก่แยกเบอร์แยกขนาดเพื่อทำบัญชีและส่งขายสหกรณ์ โดยที่สหกรณ์จะมีทั้งผู้ปกครองและแม่ค้ามารับซื้อด้วย

เช่นเดียวกับสมาชิกรายอื่น ๆ ที่นอกจากจะทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วกลับไปทำการเกษตรที่บ้านด้วย เช่น “ด.ช.ธุวานนท์ โอภาษี” ที่เลี้ยงไก่ชน และปลูกดอกมะลิ-ดอกพุด ขายได้ครั้งละ 200-300 บาท และที่บ้านเลี้ยงไก่บ้าน 12 ตัว เพื่อบริโภคในครัวเรือน

“ยุวเกษตรกร” นำคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่จากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงแปลงเกษตร และชมโรงสีขนาดเล็ก อุปกรณ์การเกษตร รถแทร็กเตอร์ บ่อเลี้ยงปลา รวมทั้งเล้า “หมูหลุม” ที่มีการเลี้ยงแบบเฉพาะของโรงเรียน เห็นแผนผัง และวัฏจักรการทำงานอย่างเป็นระบบ ราวกับเป็นโรงงานผลผลิตการเกษตรขนาดย่อมแห่งหนึ่ง อันไปสอดคล้องกับแนวคิดของ “พนม” ผู้อำนวยการโรงเรียนที่บอกว่า โรงเรียนต้องการสร้างอุดมการณ์ให้ยุวเกษตรกรมีหลักคิดว่า การจะเป็นเกษตรกรต้องเข้าใจเรื่องการพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกัน และรวมกลุ่มกันโดยใช้ศาสตร์พระราชา

“ที่สำคัญ จะต้องให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ปลูก ผลิต ขาย ต่อยอดผ่านสหกรณ์ร้านค้า, สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เพื่อการผลิต ตรงนี้ถึงจะสะท้อนว่า นักเรียนเห็นคุณค่า ศรัทธาต่อแนวพระราชดำริ และนำไปปรับใช้อย่างเป็นธรรมชาติในที่สุด”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!