กพร.ลุยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เสริมทักษะ STEM ให้เอสเอ็มอี ตั้งเป้า 15,000 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปฏิรูปคนทำงาน (Workforce transformation) รองรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง

กพร.ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงศักยภาพกำลังแรงงานอยู่เสมอว่า ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการด้าน SME จึงจัดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานขึ้น โดยจัดส่งทีมงานออกให้คำปรึกษาและวิเคราะห์กระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตได้ รวมถึงให้ความรู้แก่พนักงานให้สามารถวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาในการทำงานเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2562 โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มีเป้าหมายให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP และ SME จำนวน 228 แห่ง มีสถานประกอบการทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 332 แห่ง และพัฒนาทักษะแก่พนักงานหรือสมาชิก รวมจำนวน 15,000 คน เพื่อให้คิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง STEM Workforce และมีทักษะที่หลากหลาย (Multi Skill) ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันหรือสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ โครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2562 นี้ หลังจากนั้นจะสรุปผลภาพรวมทั้งประเทศ ถึงมูลค่าที่สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน อย่างไรก็ตามหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีการติดตามผลและให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯอย่างต่อเนื่อง

ด้าน “นางน้อย รอดปันนา” หัวหน้าฝ่ายผลิต เล่าว่า บริษัท จอย สปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่กระเป๋ากันน้ำ เบาะเรือ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่น เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก จัดเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษา แนะนำ โดยช่วงแรกจะเข้ามาดูกระบวนการผลิต ขั้นตอนการทำงาน เพื่อศึกษาว่ามีจุดไหนบ้างที่ส่งผลต่อการผลิต ซึ่งพบว่าเครื่องจักรในแผนกตัดเย็บ ขาดการบำรุงรักษา ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง ส่งผลต่อการผลิตได้ไม่เต็มที่ และสร้างความเสียหายต่อชิ้นงาน จึงจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้และบำรุงรักษาจักรอุตสาหกรรมแก่พนักงานแผนกตัดเย็บ จำนวน 20 คน ให้สามารถบำรุงรักษา และซ่อมเครื่องจักรได้เบื้องต้น ซึ่งช่วยให้ตัดเย็บชิ้นงานได้มากขึ้น และส่งลูกค้าทันเวลา ที่สำคัญคือประหยัดค่าใช่จ่ายในการซ่อมบำรุงอีกด้วย