ภารกิจสู่ความยั่งยืน “AIS” ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย

หลังจากที่ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศวิสัยทัศน์ขององค์กรในการมุ่งสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับคนไทย (AIS Digital Platform for Thais) ด้วยการเพิ่ม data analytic เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเป็นฐานในการใช้ประโยชน์ข้อมูล ทั้งยังสร้าง cyber security เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ปลอดภัย ตลอดจนนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์บนแพลตฟอร์ม

จึงทำให้ไม่นานผ่านมา “เอไอเอส” ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ จัดงาน “AIS Network for THAIs อุ่นใจ Cyber” ภายใต้แนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย” เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายในการรณรงค์ใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน พร้อมเปิดตัวโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ความรู้ ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชน

ทั้งนั้นเพราะการส่งเสริมความเหมาะสม และปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งสังคมออนไลน์ของเอไอเอส ถือเป็น 1 ใน 7 กลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยกลยุทธ์เหล่านั้นเกิดจากการพิจารณาประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการทำธุรกิจ และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๆ ครอบคลุมโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยี และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างดีที่สุดแล้ว เอไอเอสยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดเป็นกลยุทธ์ขององค์กรในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน

อย่างโครงการอุ่นใจไซเบอร์ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของเอไอเอสในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในมิติของสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก ตลอดจนเครื่องมือในการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในโลกดิจิทัล และออนไลน์ ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างทักษะดิจิทัล เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะในการใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน ด้วยการยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน ดิจิทัลด้วย DQ (digital quotient) และการป้องกันความเสี่ยงจากใช้งานอินเทอร์เน็ต ด้วยการพัฒนาระบบคัดกรองเนื้อหาออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม

“สำหรับการยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทันดิจิทัลด้วย DQ นั้น จะเป็นชุดการเรียนรู้ 360 องศา ที่มีแบบทดสอบทักษะและความฉลาดทางด้านดิจิทัล (digital quotient) ครบทั้ง 8 ทักษะ เพื่อให้เด็ก ๆ สร้างภูมิคุ้มกันในการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมีไหวพริบ รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสมกับคนแปลกหน้า และใช้มือถือ แท็บเลตอย่างฉลาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยชุดการเรียนรู้นี้ได้รับการยอมรับ และมีการนำไปฝึกทักษะให้กับเด็ก ๆ มากกว่า 110 ประเทศทั่วโลก แปลไปแล้วกว่า 21 ภาษา จาก 100 พาร์ตเนอร์”

“ปัจจุบันเอไอเอสนำชุดการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ เข้าไปเสริมในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผ่านการส่งอีเมล์ การโทร.ไปพูดคุยกับอาจารย์ รวมถึงการเข้าไปติดต่อกับโรงเรียนโดยตรง ทั้งยังเปิด portal ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับคนไทยทุกคน โดยสามารถเข้ามาใช้งานได้ที่ www.ais.co.th/dq อีกด้วย”

ส่วนการพัฒนาระบบคัดกรอง online content ที่ไม่เหมาะสม “สมชัย” บอกว่าเอไอเอสได้เปิด AIS Secure Net ซึ่งเป็นบริการที่จะช่วยป้องกัน และคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ให้แก่บุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นเว็บ, ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าเอไอเอสใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“ไม่เพียงเท่านี้ เอไอเอสยังร่วมกับ Google ในการนำเอาแอปพลิเคชั่น Google Family Link มาขยายผลสู่กลุ่มผู้ปกครองคนไทย ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกเครือข่าย เพื่อให้คำแนะนำ ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ของบุตรหลาน ทั้งการกำหนดระยะเวลาการใช้งานของบุตรหลาน กำหนดการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างเหมาะสม ตลอดจนดูแลความปลอดภัยจากพิกัดการใช้งานปัจจุบัน”

 

“สิ่งที่เอไอเอสทำวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดตัวโครงการเท่านั้น แต่เป็นการเริ่มต้นทำงาน โดยมีสถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนพนักงานของเราที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 12,000 คน เข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้ขยายผลไปสู่นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงสังคมในวงกว้างได้อย่างแท้จริง”

และนอกจากโครงการอุ่นใจไซเบอร์แล้ว เอไอเอสยังให้ความสำคัญกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) ซึ่งหากไม่ได้รับการปลูกฝัง หรือให้ข้อมูลการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมาถึงทุกคนในโลกนี้

“สมชัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในปี 2561 พบว่าคนไทยทิ้งขยะอันตรายกว่า 638,000 ตัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 65% ที่สำคัญขยะอันตรายจากชุมชนเหล่านี้ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเพียง 83,000 ตันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เอไอเอสจึงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

“ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชน ผู้คนทั่วไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังจะนำกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปวางไว้ที่ศูนย์บริการของเอไอเอส เพื่อนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการส่งเสริมให้คนไทยกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอไอเอสอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เอไอเอส กล่าวเสริมว่า ในการจัดทำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของเอไอเอสนั้นเริ่มมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยพิจารณาจากความท้าทาย หรือโอกาสที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และอาจส่งผลต่อธุรกิจ รวมถึงประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญ ตลอดจนมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนระดับโลก

“จนได้ประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนใน 7 ด้าน ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล การปกป้องระบบสารสนเทศและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า การพัฒนาและดูแลบุคลากรแบบองค์รวม การสร้างคุณค่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่ชุมชนและสังคม การส่งเสริมความเหมาะสมและปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณคาร์บอน รวมถึงการลดและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี”

“โดยโครงการอุ่นใจไซเบอร์ และ e-Waste ถือเป็นโปรเจ็กต์นำร่องในมิติของสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องทำให้เกิดผลอย่างชัดเจน จับต้องได้ เพราะทั้งสองโครงการมีความใกล้ชิด และเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและลูกค้าของเราโดยตรง ซึ่งถ้าหากผลิตภัณฑ์และบริการของเราทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมดีขึ้น สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น ยังจะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

“ที่สำคัญ เรายังนำเอา ESG (environmental, social and governance) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และสังคม เพราะเราเชื่อว่านอกจากตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้ว เอไอเอสจะต้องลดความเสี่ยง และเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในมิติสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร และสังคมไทยในวงกว้างต่อไป”

นับเป็นภารกิจที่สำคัญของเอไอเอสในการที่จะสร้างคุณค่า และการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย”