“หม่อมเต่า” รับข้อเสนอ “คสรท.” ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ “นายสมพร ขวัญเนตร” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และคณะ เพื่อรับฟังนโยบายด้านแรงงาน ในประเด็นประกันสังคม การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงานในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง สิทธิของแรงงานสตรีและเยาวชน และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมี “นายสุทธิ สุโกศล” ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โดยขอเสนอของ คสรท. ต้องการให้รัฐจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่แทนชุดเดิมที่ลาออกเป็นกรณีเร่งด่วน และเลือกผ่านตัวแทนองค์กรผู้ประกันตน 50 คนต่อ 1 เสียง ทั้งยังขอให้รัฐปฏิรูปประกันสังคม ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ตลอดจนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน รวมถึงให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558

อีกทั้งขอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ได้แก่ สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และมาตรา 39 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกันกับมาตรา 33 เพิ่มเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้ายของการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ขยายกรอบระยะเวลาและเพดานการรักษาทั้งกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมจนสิ้นสุดการรักษาและให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ยกเว้นการศัลยกรรมตกแต่ง เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาท และขยายอายุจาก 6 ปีเป็น 10 ปี กรณีส่งเงินสมทบครบ 15 ปีให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตลอดชีวิต กรณีการขยายเวลาสิ้นสุดการเกษียณอายุจาก 55 เป็น 60 ปี ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานผู้ประกันตนต้องได้รับเงินชราภาพตามสิทธิเดิม ส่วนสิทธิจาก 55 ถึง 60 ปี ให้เป็นภาคสมัครใจหรือเป็นไปตามทางเลือกที่ตกลงกัน และการได้สิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมจะต้องไม่ตัดสิทธิตามกฎหมายอื่น

ทั้งนี้ “นายสมพร” ยังได้ยื่นหนังสือข้อเสนอเร่งด่วนประเด็นประกันสังคมและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกับ รมว.แรงงาน จากนั้น รมว.แรงงาน ได้ไปพบปะและให้กำลังใจกับสมาชิก คสรท. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว

ทั้งนั้น “ม.ร.ว.จัตุมงคล” ได้กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า เป็นขั้นตอนของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล โดยมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน
ซึ่งขณะนี้จะต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบด้านพอสมควร ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกสักระยะหนึ่งว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร