“บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ยะลา ดูงานปิดทองหลังพระ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ร่วมแก้เศรษฐกิจ-ภัยแล้ง ชายแดนใต้

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ขยายผลแก้เศรษฐกิจ-ภัยแล้ง เพิ่มผลผลิตพืชเกษตร ทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ บล็อกทางผ่านยาเสพติดชายแดนเหนือ สนองแนวพระราชดำริหนุนแก้ปัญหาความมั่นคง หาแหล่งน้ำให้ชาวบ้านทำเกษตรกว่า 2 หมื่นแห่ง

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคตให้ตอบสนองปัญหาและความต้องการของประเทศ

ทั้งนี้ แผนงานใหม่ของมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ระยะที่สาม (2564-2568) จะเน้นการนำแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาความมั่นคง ในชายแดนภาคเหนือ พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และชายแดนภาคใต้พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

“ปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้มีมายาวนานและประชาชนได้รับความทุกข์ ความต้องการอย่างมากในการพัฒนาการทำมาหากิน ในขณะที่ทางภาคเหนือเป็นทางผ่านของยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นการช่วยลดด้านอุปสงค์” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว

การทำเกษตรแนวใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนางานหัตถกรรม ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีทั้งเรื่องสินค้าเกษตรราคาต่ำ พื้นที่แห้งแล้ง มีการสร้างฝาย ให้มีน้ำมาทำเกษตร พัฒนาคุณภาพการปลูกทุเรียนทำให้คุณภาพทุเรียนดีขึ้น จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท เป็นขายคัดเกรด ราคาเฉลี่ยดีสุดอยู่ที่ประมาณ 90 บาท ชาวสวนรายได้เพิ่มขึ้นจาก 8,000 บาท เพิ่มเป็น 10,250 บาท ในปีนี้

ในปัจจุบัน ปิดทองหลังพระฯ มีโครงการและกิจกรรมดำเนินอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้รวม 7 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งน้ำ การเกษตร และหัตถกรรม ในขณะที่ชายแดนภาคเหนือ มุ้งเน้นการอบรมผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมให้พัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ โดยมีการอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว 83 แห่ง

ด้วยทิศทางการพัฒนาดังกล่าว ในวันที่ 7 ส.ค. 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามดูผลการดำเนินงานการแปรรูปทุเรียนพื้นบ้าน และเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพรฯ ได้ร่วมดำเนินการในพื้นที่ จ.ยะลา ด้วย

สำหรับแผนงานใหม่ต่อเนื่องจากแผนที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯ จะร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนอกเขตชลประทานตามมติคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจร่วมมือจากสมาคมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ที่จะร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประมาณ 1,317 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลประมาณ 17,197 แห่ง ซึ่งจะเริ่มต้นจากการร่วมมือสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการพัฒนาต่อไป

“ในช่วงเวลา 9 ปี นับจากการก่อตั้งมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้พัฒนาโครงการต้นแบบในทุกภาค มีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยงบประมาณรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 275,107 ไร่ และประชาชน 79,022 ครัวเรือนได้รับน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร ประชาชน 4,536 ครัวเรือนในพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดน่าน ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าจากงบประมาณในการพัฒนา” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว