ร้านค้าผ้าทอไทลื้อบ้านหล่ายทุ่ง “เซ็นทรัลทำ” โมเดลยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน-สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัลทำ (Central Tham)” ของ “บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด” ที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานใน 4 มิติ ได้แก่

หนึ่ง PEOPLE ที่มุ่งพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคน

สอง COMMUNITY มุ่งพัฒนาสินค้าชุมชน ด้วยการนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชน เกษตรกร พร้อมส่งเสริม SEMs

สาม ENVIRONMENT มุ่งพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในสังคม

และ สี่ PEACE & CULTURES มุ่งสืบสานและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างเป็นอาชีพและรายได้ให้กับท้องถิ่น

ผ่านการผสานความร่วมมือในการทำงานภายในองค์กร เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล ที่เรียกว่า “เซ็นทรัลลิตี้ (Centrality)” ไปพร้อมกับการสร้างพันธมิตรร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน คู่ค้า ผู้บริโภค ตลอดจนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในการสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกัน ทั้งยังทำให้ธุรกิจของเซ็นทรัลกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัล ได้สานต่อการดำเนินโครงการเซ็นทรัลทำ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างร้านค้าชมุชนผ้าทอไทลื้อให้แก่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอน้ำไหลบ้านหล่ายทุ่ง ต.ปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจ และทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังได้มอบเครื่องล้างส้มให้แก่วิสาหกิจกลุ่มส้มสีทองอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่านอีกด้วย

“นายพิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนและสังคมภายใต้โครงการเซ็นทรัลทํา ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่กลุ่มเซ็นทรัลยึดมั่น ในการดําเนินโครงการช่วยเหลือสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดระยะเวลา 72 ปีแห่งการดําเนินธุรกิจ

“ชุมชนไทลื้อบ้านหล่ายทุ่งแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่กลุ่มเซ็นทรัลให้การสนับสนุน เพราะมองเห็นถึงศักยภาพ ความเข้มแข็ง และความสามัคคีของทุกคนในชุมชน โดยเฉพาะการสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อผ่านการทอผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทลื้อ”

“ที่ผ่านมาโครงการเซ็นทรัลทำได้ดำเนินพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนผ้าทอน้ำไหลไทลื้อบ้านหล่ายทุ่ง ร่วมกับคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการพัฒนาสินค้าชุมชนให้สามารถตอบสนองความต้องการตลาดผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการสามารถเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ในสังคม สามารถสร้างช่องทางทางการตลาดใหม่ๆ ให้แก่สินค้าชุมชน และประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนต้นแบบให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ”

“ทั้งนั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 700,000 บาท เพื่อก่อสร้างร้านค้าชุมชนผ้าทอไทลื้อ บ้านหล่ายทุ่ง โครงการเซ็นทรัลทำ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อแก่นักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวชุมชน รองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และที่สำคัญยังช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อในอีกทางหนึ่งด้วย”

“ชนิกา โสดานาฎ” ตัวแทนกลุ่มทอผ้าบ้านหล่ายทุ่ง กล่าวว่า ผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อบ้านหล่ายทุ่ง เป็นผ้าทอลายดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายไทลื้อสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

“เดิมนั้นมักจะทอผ้าซิ่นลายมัดย้อม ซิ่นลายตาเดียว ตาลอน ซิ่นเครื่อง ผ้าหลบ ผ้าเติ้ม ผ้าขะม้า ถุงย่าม และตุง โดยลวดลายที่ใช้จะเป็นลายดั้งเดิมสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้ง ลายเก็บ ลายกาบสัก ลายขอล้วง ลายหน่วย ลายน้ำแป ลายสี่แปหับ ลายกด ลายกูด ลายปู ลายเฉลี่ยง และลายขอกลับ ซึ่งลายทั้งหมดนี้ถูกเก็บลายใส่เส้นด้ายเพียง 3 เขาไม้ แล้วนำไปประยุกต์เป็นลายต่างๆ ได้”

ต่อมาในปี 2523 นางแสงเดือน ดอกเกี๋ยง ได้นำลวดลายผ้าแบบชนเผ่าไทลื้อดั้งเดิมมาผสมผสานกับลายซิ่นหงส์สา ซิ่นตีนจก ซิ่นลายป้องเต็มตัว ซิ่นม่านฝ้าย มาทอเป็นผ้านุ่งไปทำบุญ และแจกให้กับญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นที่ถูกใจแก่ผู้พบเห็น เนื่องจากมีลวดลายสวยงามไม่เหมือนผ้าซิ่นทั่วไป

และในปี 2526 ได้สร้างสรรค์ลวดลายจากจินตนาการ จากวิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ห้อมล้อมไปด้วยภูเขา มีสายน้ำไหลจากทางเหนือลงไปทางใต้ผ่านเกาะแกร่งต่างๆ เวลาน้ำไหลกระทบกับแสงแดดจะเกิดประกายระยิบระยับสวยงาม มีต้นกูดขึ้นตลอดสองฝั่งลำน้ำ ก่อให้เกิดเป็นลายผ้าทอที่สวยงาม อย่าง ลายน้ำไหล ลายดอกกูด ลายภูเขา ลายน้ำไหลผสมไทลื้อ และลายน้ำไหลเต็มตัว ซึ่งถูกสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

“ส่วนเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านหล่ายทุ่ง ถือเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่มีความสวยงามและโดดเด่นในความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่สชาวไทลื้อ ที่ได้สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน โดยการทอผ้าของกลุ่มช่างทอได้นำเอาลวดลายทั้งเก่าและใหม่มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แลพจุดเด่นของผ้าทอบ้านหล่ายทุ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผ้าทอลายไทลื้อแต่โบราณ และมีการประยุกต์ลายให้ดอกเล็กลง”

ไม่เพียงเท่านี้ “พิชัย” บอกว่า กลุ่มเซ็นทรัลยังได้สนับสนุนด้านการเกษตร โดยเฉพาะส้มสีทอง ซึ่งเป็นผลไม้สำคัญของจังหวัดน่าน ทั้งยังได้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication) ซึ่งเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือเอกลักษณ์ของสินค้านั้นเป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า

“เราได้สนับสนุนเครื่องล้างส้ม มูลค่า 700,000 บาทให้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส้มสีทอง อําเภอทุ่งช้าง ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในอีกทางหนึ่งด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการที่กลุ่มเซ็นทรัลสนับสนุนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขี้นให้แก่ชาวอำเภอทุ่งช้างอย่างยั่งยืนต่อไป”