“อิมแพ็คฯ” ชูการตลาด HR รับรู้แบรนดิ้งใหม่-พัฒนานวัตกรรม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จึงทำให้ธุรกิจไมซ์ (MICE) ของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีนักเดินทางไมซ์ทั่วประเทศ และนานาชาติถึง 35 ล้านคนต่อปี โดยสร้างรายได้ถึง 2 แสนล้านบาท ต่อปี แต่สิ่งที่ดูจะสวนทางคือเรื่องของคน เพราะยังขาดแคลนในสายตลาดงานไมซ์พอสมควร

ด้วยเหตุนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรไมซ์เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังปรับเปลี่ยนการทำงานของสายเอชอาร์ (HR-human resource) จากแบบดั้งเดิมมาสู่การเป็น marketing HR เพื่อสร้างแบรนดิ้งดึงดูดคนในตลาดแรงงาน และสร้างความเข้าใจในตัวธุรกิจอย่างแท้จริง

“ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทำงานสายไมซ์หายาก หรือมีเทิร์นโอเวอร์สูงเพราะสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้สอนเด็กลงมือปฏิบัติงานด้านไมซ์อย่างแท้จริง เด็กหลายคนที่เลือกเรียนสายนี้มองภาพไมซ์อีกแบบ พอพวกเขาจบออกมาทำงานจริงพบว่าไม่ตรงกับความชอบเลยถอย

“ทีมเอชอาร์ของอิมแพ็คฯทำหลายโครงการเพื่อหาคนมาป้อนธุรกิจ แต่สิ่งแรกที่เราทำคือปรับข้างในก่อน โดยสมัยก่อนคนจะมองเอชอาร์ว่าทำงานหลังบ้าน แต่ตอนนี้เรากำลังปรับงานเอชอาร์ของอิมแพ็คฯโดยเน้นเรื่องการตลาดมากขึ้น เรารับคนรุ่นใหม่ที่จบสายการตลาดมาทำแผนกเอชอาร์ เพราะเรารู้สึกว่าเอชอาร์ต้องหันมาสร้างแบรนด์ขององค์กร (employer branding) โดยเราเริ่มปรับมาเป็น marketing HR ได้ประมาณ 3 ปี”

“เหตุผลที่ปรับเพราะเราพบว่าเด็กที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานยังไม่รู้จักอิมแพ็คฯอย่างแท้จริง บางคนมองว่าเป็นธุรกิจครอบครัวที่ทำด้านจัดงานแสดงสินค้า เส้นทางเติบโตอาจไม่มาก แต่ความจริงแล้วเราทำมากกว่านั้น เรามีธุรกิจในเครือมากมายที่คนรุ่นใหม่สามารถเลือกทำและเติบโตในสายงานได้หลากหลาย นอกจากธุรกิจทำศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ เรามีร้านอาหารในเครือ 24 ร้าน มีร้านกาแฟ มี IMPACT Speed Park ซึ่งเป็นรถแข่งโกคาร์ตเพื่อสันทนาการ เป็นต้น”

“ตอนนี้เรามีพนักงานกว่า 1,700 คน โดยการทำงานของพนักงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทั้งสายงานสร้างสรรค์งานอีเวนต์ และร้านอาหาร ทั้ง 2 ส่วนมีจำนวนพนักงานปฏิบัติงานเท่า ๆ กัน ดังนั้น การทำ marketing HR จะช่วยปรับให้คนภายนอกมองภาพลักษณ์ของอิมแพ็คฯที่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยดึงดูดคนเข้ามา และกลุ่มเป้าหมายของเราคือคนรุ่นใหม่ และเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์อิมแพ็คฯให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่”

“ทมิตา” บอกว่า เนื่องเพราะกลุ่มตลาดแรงงานในปัจจุบันอยู่ช่วงอายุระหว่าง 20-37 ปี เราจึงจัดกิจกรรมแคมปัสโรดโชว์ไปตามมหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในธุรกิจไมซ์อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เราตั้งเป้าสร้างความนิยมให้อิมแพ็คฯติด 1 ใน 3 ของบริษัทในประเทศที่มีคนอยากมาทำงานในที่สุด

“นอกจากนั้น เรามีการทำข้อตกลงที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเด็กให้มีโอกาสลงมือทำงานสายไมซ์จริง ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา เช่น โครงการกล้าไมซ์ที่ให้นักศึกษามาเรียนรู้ธุรกิจไมซ์ และลงมือทำงานจริง 2 สายงานเป็นระยะเวลา 2 เดือน 300 ชั่วโมง รวมถึงเรามีโปรเจ็กต์อยู่เมืองทองฯ ทำงานเมืองทองฯที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว เพราะเรามองเห็นว่าบริเวณเมืองทองฯมีประชากรเป็นแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไปทำงานในเมืองชั้นในทั้งสิ้น เราจึงทำประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เมืองทองฯเกี่ยวกับธุรกิจเอชอาร์ และโอกาสการเติบโตในองค์กรเพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกเขามาทำงานที่นี่เพราะใกล้ที่พัก”

“นอกจากการปรับเป็น marketing HR เพื่อทำแบรนดิ้งองค์กร เรายังขยายภาพเอชอาร์ของอิมแพ็คฯให้เป็น innovation HR โดยทำหน้าที่ส่งเสริมและสร้างพื้นที่ให้พนักงานทุกคนทุกตำแหน่งนำเสนอนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ที่ทำให้องค์กรดีขึ้น โดยใช้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า R2I (Routine to Innovation) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว และแต่ละปีผ่านมาเราได้รับความร่วมมือจากพนักงานมากขึ้นทุกปี โดยปีนี้จะโฟกัสนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ customer experiences ด้วยการเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางผู้ใหญ่มองว่าจะเป็นทิศทางหลักของธุรกิจในปีนี้”

“สำหรับปีแรกมีพนักงานเข้าร่วม 22 ทีม ส่วนปีที่ 2 มีมากถึง 40 ทีม พนักงานของเรามีไอเดียส่งประกวดเยอะมาก ทำให้เรามองเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะพนักงานหลายคนมีศักยภาพซ่อนอยู่ แต่เขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออก โดยทีมที่ได้รางวัลชนะจะมีเงินเป็นกำลังใจให้ แต่เราพบว่าพนักงานเกือบทุกคนไม่ได้หวังเงิน เขาต้องการนำเสนอสิ่งที่ช่วยพวกเขาให้ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น มีทีมที่นำเสนอเครื่องเก็บพรม เพราะพบอุปสรรคในการทำงานจริงว่าการพับพรมผืนใหญ่มีความยาก และมุมของพรมที่พับโดยมือจะไม่เท่ากัน จึงไม่เป็นระเบียบ พวกเขาจึงผลิตเครื่องพับพรมและเป็นทีมที่ชนะ ซึ่งเราจะช่วยต่อยอดผลิตเครื่องพับพรมเพิ่มขึ้น และเตรียมที่จะจดลิขสิทธิ์ด้วย”

นอกจากนั้น “ทมิตา” ยังเล่าถึงแผนงานในอนาคตว่า เอชอาร์อิมแพ็คฯกำลังทำเรื่อง talent pool (ขุมกำลังคนเก่ง) โดยปกติอิมแพ็คฯทำในเรื่อง individual development plan (IDP) มาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล เป็นกรอบที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายในสายอาชีพ แต่เราเล็งเห็นว่าต้องสร้างคนเก่งมาเป็นผู้นำแทนคนรุ่นที่กำลังจะเกษียณ โดยหลายองค์กรจะหาคนกลุ่มนี้จากนอกองค์กรผ่านโครงการ Management Trainee แต่เราจะทำต่างออกไปโดยจะผลักดันเด็กในองค์กรที่มีศักยภาพให้มาแทนคนรุ่นก่อน

“เราจะบ่มเพาะเขาในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องธุรกิจของอิมแพ็คฯไปยังเรื่องความเป็นผู้นำ เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขารับมือกับบทบาทที่สูงขึ้น โดยเราจะให้กลุ่มพนักงานระดับผู้บริหารซึ่งเป็นคนรุ่นก่อนที่จะเกษียณในอนาคตมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่กลุ่มคน talent”

ทั้งหมดนี้เพื่อป้อนคนที่ใช่สู่องค์กร และผลักดันพนักงานสู่การเติบโตในสายอาชีพ