แสงสว่างแห่งความหวัง “โรงไฟฟ้าขนอมทำงานกันเป็นทีม”

เป็นที่ทราบว่ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA), รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus-TQC Plus) ล้วนต่างนำเกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The Baldrige National Quality Award-BNQA) มาเป็นแนวทางการพัฒนาองค์กรเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในทุกมิติ

สำหรับปี 2561 มี 2 องค์กรที่ได้รับรางวัล TQC Plus ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านปฏิบัติการ และด้านลูกค้า ขณะที่อีก 11 องค์กรได้รับรางวัล TQC โดยหนึ่งในนั้นมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศด้วย

ฉะนั้น ถ้าดูเส้นทางการเดินทางของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมาที่นำเกณฑ์ของ TQA มาเป็นกรอบในการปฏิบัติงานทั่วทั้งองค์กรจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า องค์กรแห่งนี้ไม่ได้เร่งรีบเพื่อจะนำองค์กรเข้ารับการตรวจประเมิน เพราะมีการจัดเตรียมการทำรายงาน และผลลัพธ์อย่างน้อย 3 ปี เพื่อดูแนวโน้มกับคู่เทียบในการประเมินความพร้อมขององค์กรตัวเอง

จนที่สุดในปี 2553 จึงยื่นตรวจประเมินครั้งแรก, ปี 2557 ยื่นตรวจประเมินครั้งที่ 2 และในปี 2561 จึงยื่นตรวจประเมินเป็นครั้งที่ 3 และที่สุดบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด สามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศในที่สุด

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “ผู้นำ” องค์กรมองเห็นความสำคัญของรางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างไร ? ทำไมถึงนำองค์กรเข้าตรวจประเมิน และวางแผนสำหรับการพัฒนาคนในอนาคตอย่างไร ?

รวมถึงการวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่งขององค์กร และการเลือก “คน” ที่ใช่สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป 

“สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์” ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด จึงค่อย ๆ อธิบายให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วเราในฐานะพนักงานทุกคนของโรงไฟฟ้าขนอมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับรางวัล TQC ครั้งนี้ เพราะทำให้เรามั่นใจว่าทิศทางการดำเนินงานที่ผ่านมามีความถูกต้องชัดเจน เนื่องจากเรามีความคิดว่าโรงไฟฟ้าขนอมจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ทั้งยังต้องเป็นโรงไฟฟ้าชั้นนำในระดับภูมิภาคที่มีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศต่อไป

“เพราะเรามองเห็นแนวทางของรางวัล TQA ครอบคลุมทุกกระบวนการ ทั้งในเรื่องของกระบวนการในการนำองค์กร การพัฒนาบุคลากร และธุรกิจ รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ CSR ทั้งระบบที่จะช่วยทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในอนาคต เพราะจุดมุ่งหวังของเราลึก ๆ คือ ต้องการเห็นความเติบโตในศักยภาพของโรงไฟฟ้าขนอม”

“ดังนั้น เกณฑ์ของรางวัล TQA จึงตอบโจทย์หลายมิติ โดยเฉพาะการเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพราะที่ิอ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช รายล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญชุมชนโดยรอบยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเรา ขณะที่เราเองก็คำนึงถึงชุมชนก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ เราจึงมีกิจกรรมสัมพันธ์ต่าง ๆ กับชุมชนมาอย่างยาวนาน”

ถึงกระนั้นจึงอดถาม “สืบศักดิ์” ไม่ได้ว่า feedback report จากคะแนนโดยรวมเป็นอย่างไรบ้าง ?

“สืบศักดิ์” ตอบว่า หมวดดีที่สุดจะเป็นเรื่องของโปรเซสใหญ่ ๆ เพราะฉะนั้นจาก 7 หมวดที่เราเห็น feedback ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสูงหรือต่ำ ทำให้เราเห็นจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อนำมาปรับปรุงต่อไปในอนาคต

“แม้แต่คะแนนในบางหมวดที่มีคะแนนสูง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเรา เราจะต้องนำไปพัฒนาต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางด้านโรงไฟฟ้าในอนาคต เราจะหยุดอยู่แค่ความภูมิใจตรงนี้ไม่ได้ และไม่เฉพาะแต่ผม ทีมงานของเราทุกคนต่างมีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเป้าหมายของผมจริง ๆ คือ อยากเห็นโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะผมเชื่อว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าขนอมเป็นพื้นที่ ที่พร้อมขยายโรงไฟฟ้าให้กับเอ็กโก กรุ๊ป จนเกิดความยั่งยืน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมมุ่งหวังมากกว่า”

“เพราะผมมีความหวังว่าทำอย่างไรถึงจะให้พื้นที่แห่งนี้มีแสงสว่างเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะถ้าเราขยายโรงไฟฟ้าได้ พนักงานจะทำงานอย่างมีความหวัง ธุรกิจโดยรวมจะเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญลูกหลานของชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าจะมีงานทำ เพราะทุกวันนี้เราให้ทุนการศึกษากับลูกหลานของคนในชุมชนมา 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่ระดับ ปวช.-ปวส. และระดับปริญญาตรี”

“ดังนั้น ถ้าพวกเขาอยากสอบเข้าทำงานกับโรงไฟฟ้าขนอม เราจะให้โอกาสเขาก่อน ผมจึงพยายามสอนพนักงานรุ่นน้อง ๆ ทุกคนว่าเรามีตำแหน่งอะไรที่เปิดรับบ้าง เพื่อจะได้ชักชวนพวกเขามาทำงานกับเรา พูดง่าย ๆ เราให้ทุนเรียนฟรี และเราให้โอกาสเขามีงานทำ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องออกไปทำงานที่ไหน เพราะวัตถุประสงค์ของผมคืออยากให้พวกเขาอยู่ที่นี่ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ญาติพี่น้องของเขา”

นอกจากนั้น “สืบศักดิ์” ยังส่งเสริมเรื่องอาชีพกับคนในชุมชน โดยเฉพาะช่วงราคายางตกต่ำ ด้วยการส่งเสริมให้คนในชุมชนนำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือแม้แต่การส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ, ข้าวอินทรีย์ ด้วยการหาตลาดให้กับพวกเขานำไปขายเพื่อจะได้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น รวมถึงการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับคนในชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

“ฉะนั้น ถ้าผมเลือกรับสมัครพนักงานจะเลือกคนในชุมชน และคนพื้นที่ใกล้เคียงก่อนเสมอ เพราะอยากให้พวกเขากลับบ้าน ตรงนี้แม้ใครจะบอกว่าทำไมไม่เลือกคนดี คนเก่ง ซึ่งผมจะบอกว่าคนดี คนเก่ง ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ไกลจากตัวเราหรอก บางทีเขาอาจอยู่ใกล้ ๆ เรา เพียงแต่จะให้โอกาสเขาหรือเปล่าเท่านั้นเอง ผมจึงเลือกคนในพื้นที่เป็นตัวตั้งก่อน เพราะอย่างไรเขาก็ต้องรัก และหวงแหนแผ่นดินเกิดของเขา”

“ผมถึงมีความหวังลึก ๆ ว่า ถ้าเรามีโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ คนที่เรารับ และพัฒนาเขาขึ้นในทุก ๆ มิติจะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น และไม่ได้อยู่แค่เฉพาะช่วง ๆ นะ แต่จะต้องเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องทำให้ทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าขนอมเห็นเสียก่อนว่าเราสามารถพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้”

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ “สืบศักดิ์” คาดหวัง

เพราะในปลายปี 2562 เขาจะเกษียณอายุการทำงาน

แต่กระนั้น “สืบศักดิ์” มีความเชื่อว่า แม้ธุรกิจพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรืออาจจะต้องใช้ “หุ่นยนต์” เข้ามาทำงานแทน “คน” อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับเขากลับไม่คิดเช่นนั้น

“ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนากำลังคนของเราให้มีขีดความสามารถสูงสุด โดยเฉพาะกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่พนักงานจะต้องมีความรู้ในเรื่องของการเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาเครื่อง ผมเชื่อว่าคนของผมมีความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญพวกเขาพร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และคนเหล่านี้ล้วนเป็นคีย์หลักที่อยู่กับเอ็กโก กรุ๊ป และโรงไฟฟ้าขนอม”

“ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าคนเหล่านี้จะเป็นคีย์หลัก ๆ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนอม และพัฒนาเอ็กโก กรุ๊ป ได้ด้วยเทคโนโลยีที่เรามี และผมก็เชื่อว่าเทคโนโลยีทางด้านนี้ไม่ค่อยมีความแตกต่างเท่าไหร่นัก แตกต่างแค่ฟังก์ชั่นการใช้งานบางส่วนเท่านั้นเอง ดังนั้น การที่หุ่นยนต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานของแรงงาน หรือมนุษย์ ผมจึงมองว่าหุ่นยนต์เป็นแค่ตัวเสริมเท่านั้น เพราะคีย์หลัก ๆ อย่างไรยังต้องเป็นคนอยู่ดี”

เมื่อ “สืบศักดิ์” เล่ามาถึงตรงนี้จึงอยากถามต่อถึงการเลือกคนที่ “ใช่” ของโรงไฟฟ้าขนอม เขาจึงตอบว่า…จริง ๆ คำถามนี้เหมาะสำหรับการรับพนักงานใหม่ ซึ่งผมเองก็อยากได้คนเก่ง คนดีอย่างที่ผมตอบไป เพียงแต่ผมต้องการมากกว่านั้นคือผมไม่ต้องการคนเก่งมาก แต่ผมต้องการคนเก่งระดับหนึ่งที่สามารถทำงานเป็นทีมได้ แต่ถ้าเขาเป็นคนดีด้วย ผมจะยิ่งยินดี

“เพราะงานของโรงไฟฟ้าไม่ใช่นักวิชาการมาเขียน paper หรือสอนหนังสือ แต่เราต้องการทำงานเป็นระบบ และจะต้องทำงานกับคนอื่น ๆ ได้ เวลาผมสัมภาษณ์คน ผมต้องการจากเขาอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ ทำงานเป็นทีม, เก่งระดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนดี เพื่อที่พวกเขาจะได้มาต่อจิ๊กซอว์กัน และทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

“พูดง่าย ๆ ทุกทีมที่เราทำต้องเป็นจิ๊กซอว์ และต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งเรื่องการบริหาร, การเดินเครื่อง, บำรุงรักษาเครื่อง, การทำกิจกรรมซีเอสอาร์ ทุกคนต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน ไม่มี one man show ผมต้องการคนอย่างนี้มากกว่า และผมเชื่อว่าคนที่จะมาเป็นผู้นำของที่นี่ในอนาคต เขาจะมองเรื่องเหล่านี้สำคัญเช่นกัน”

ผลตรงนี้จึงทำให้ถามต่อว่า…แสดงว่ามี successor เรียบร้อยแล้ว ?

“วางไว้แล้วครับ ผมคุยกับผู้บริหารจากเอ็กโก กรุ๊ป ไประดับหนึ่งแล้ว จริง ๆ ใน 5 หมวดหลักของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเอชอาร์เราวางแผนเรื่องการสืบทอดตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว และเราไม่ได้วางแค่

ปีเดียว เราต้องให้เขาเห็นประสบการณ์จากงานที่ผมทำอยู่ ซึ่งเขาจะต้องเดินคู่ขนานกับผมอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปี จนเห็นว่าไม่สะดุด และไม่หลุดไปจากกรอบที่บริษัทเดินอยู่ เพราะผมเชื่อว่าคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรามีกรอบ และทิศทางของ TQA ชัดเจนอยู่แล้ว”

“สำหรับผู้นำที่มาใหม่อาจเข้ามาเปลี่ยนเครื่องมือ (tools) ตัวไหนก็ได้ แต่กรอบของ TQA จะไม่หลุด เพื่อคนที่อยู่ข้างล่างจะได้ไม่กังวล เพราะฉะนั้น คนที่จะมาเป็น successor จะเดินตามกรอบนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องน่าห่วงแต่อย่างใด และตอนนี้ผมมีตัวละครไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งหลายทั้งปวงสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าแสงสว่างแห่งความหวังในธุรกิจใหม่ไม่เกิดขึ้น”

“ผมหวังเพียงแค่นั้นจริง ๆ”