ทุกคนคือผู้นำ

คอลัมน์ CSR Talk

สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การสหประชาชาติพบว่า ความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืนไม่ก้าวหน้าอย่างที่คาดไว้ เช่น การขจัดความหิวโหย, การศึกษาที่เท่าเทียม, การลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

ผลกระทบที่ตามมาคือความขัดแย้งในสังคมซึ่งนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ถ้าหันมามองสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง เหตุการณ์เด็กวัยรุ่นรุมทำร้ายเด็กชายวัย 13 ปีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนตาย สะท้อนความอ่อนแอทางสังคมที่มีผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับอีกหลายคดี หลายเหตุการณ์ที่สังคมต้องทบทวน

ในบทความ “การออกแบบสวัสดิการสังคมแบบมีส่วนร่วม : ข้อคิดจากประสบการณ์ประเทศรัฐสวัสดิการ” โดย “ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ” ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้นำประเด็นที่น่าสนใจในการสร้างสังคมแบบมีส่วนร่วมไว้ว่า การส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบัน เช่น ครอบครัวที่เข้มแข็ง ศูนย์รวมของชุมชนที่เข้มแข็ง หรือสถาบันการศึกษาที่สร้างองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง ให้มีระบบพึ่งพาตนเอง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างสังคมแบบมีส่วนร่วม

สังคมแบบมีส่วนร่วมจะทำให้การแก้ไขปัญหาตอบสนองความต้องการได้ทุกฝ่าย ด้วยการเห็นปัญหาอย่างครบถ้วนจากการสะท้อนในทุกมุมมอง

การลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่การมุ่งไปที่การสร้างรายได้แต่เพียงอย่างเดียว การสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เครื่องมือตัวหนึ่งคือการพัฒนาคนให้มีภาวะผู้นำหรือ leadership

ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติของผู้ที่มีภาวะผู้นำคือปัจจัยสำคัญในการสร้างสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็งตั้งแต่ส่วนที่เล็กที่สุด แต่เป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดคือสถาบันครอบครัว ในประเทศที่พัฒนาแล้วการพัฒนาภาวะผู้นำเป็นเป้าหมายหนึ่งทางการศึกษา เด็ก ๆ จะได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ภาวะผู้นำประกอบด้วยความเที่ยงตรง, ความซื่อสัตย์, ความมั่นใจในตนเอง, ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น โดยมีความมุ่งมั่น และความมานะ, มีทักษะในการสื่อสาร, มีความสามารถในการตัดสินใจ, มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีความเข้าใจผู้อื่น แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางความคิด หรือวัฒนธรรม

การพัฒนาผู้นำในโครงการส่วนใหญ่มักผูกขาดกับคนเพียงกลุ่มเดียวในชุมชน และไม่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดาย ผู้นำในนิยามของสังคมไทยจึงกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งการมากกว่าความสามารถในการสร้างความสำเร็จ ซึ่งเป็นความท้าทายของภาวะผู้นำ การสร้างความสำเร็จของผู้นำคือการทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจจากผู้อื่นในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ประสบการณ์ในการทำงานชุมชนของผู้เขียนเองพบว่า การผูกขาดคนกลุ่มเดียวในฐานะผู้นำ โดยไม่ได้สร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นกับคนทุกคนในชุมชน ในที่สุดจึงกลายเป็นการผูกขาดอำนาจ สมาชิกอื่น ๆ ไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งหมายถึงขาดการมีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง ผู้นำเริ่มฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ สมาชิกจึงทยอยกันถอนตัวจากกลุ่ม และกลุ่มก็แตกสลายในที่สุด

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเกือบทุกโครงการ แม้ว่าจะมีการวางกฎระเบียบ วางระบบการตรวจสอบ แต่ถ้าสมาชิกไม่มีความมั่นใจ และกล้ายืนหยัดที่จะรักษาความสุจริตแล้ว ระบบที่วางไว้ย่อมนอนนิ่งอยู่ในแผ่นกระดาษเท่านั้น

สังคมไทยนับว่ามีจุดอ่อนในเรื่องภาวะผู้นำจากขนบ ประเพณีที่ให้ความเคารพยำเกรงผู้อาวุโส ซึ่งต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ชัดเจนว่าภาวะผู้นำเป็นคนละเรื่อง ถ้าพิจารณาคุณสมบัติข้างต้นจะเห็นว่าการสร้างภาวะผู้นำคือการสร้างคนดี คนกล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง มีความคิดชัดเจน กล้าตัดสินใจ สังคมไทยอาจต้องเปลี่ยนขนบบางประการ ถ้าอยากให้สังคมก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะการยอมรับความคิดเห็นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

เพราะภาวะผู้นำเท่านั้นที่จะทำให้สังคมแข็งแรง

ข้อมูลอ้างอิง :  https://thaipublica.org/2019/05/sdgs-2030-agenda-progress-un-hlpf/,https://blog.taskque.com/characteristics-good-leaders/