สถาบันจอนส์ฮอปกินส์ ช่วยมนุษยชาติผ่านหลักสูตร I4H

แฟ้มภาพ
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านต่าง ๆ และเนื่องด้วยศศินทร์กำลังชูแนวคิด “การเป็นผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงได้เชิญ “ศ.ดร.เจมส์ คาลวิน” อาจารย์สาขาวิชาบริหารจัดการ ของ Johns Hopkins Carey Business School และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาแอฟริกา The Center for Africana (CAS) ใน Zanvyl Krieger School of Arts & Sciences มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา มาบรรยายในหัวข้อ “SDG’s Across the Globe : Innovation for Humanity from Baltimore to Bangkok”

เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่าของศศินทร์ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือมนุษยชาติผ่านนวัตกรรม ซึ่งหลายภาคส่วนสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ทั้งสิ้น

“ศ.ดร.เจมส์ คาลวิน” กล่าวว่า innovation for humanity (I4H) เป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตร MBA สากลของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นวิชาที่เริ่มขึ้นในปี 2554 โดยมี 4 หน่วยกิต ที่เน้นส่งเสริมให้นักศึกษาศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับความท้าทายทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจในประเทศที่นักศึกษาจะเดินทางไป และเมื่อถึงเวลาเดินทาง นักศึกษาจะไปพร้อมกับความรู้ และพวกเขาจะไปมีส่วนร่วมทำงานกับผู้ประกอบธุรกิจในท้องถิ่น และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในการรับมือกับความท้าทายกับปัญหาจริงในพื้นที่

“เราอยากนำสิ่งที่ Johns Hopkins Carey Business School ส่งเสริมนักศึกษาให้ทำเพื่อมนุษยชาติมาเผยแพร่ให้คนในประเทศไทยได้ฟัง เพื่อพัฒนาความเข้าใจด้านมนุษยชาติ และความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-sustainable development goals) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อเอาไปใช้จัดการกับปัญหา และที่ซับซ้อนในทางธุรกิจสามารถเชื่อมโยงกับสังคมได้ เพราะ innovation for humanity มีการดำเนินการสอดคล้องตามมาตรฐานของ SDGs”

“ก่อนที่จะมี SDGs เป็นเป้าหมายร่วมของประเทศในสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย เรามีกรอบที่มาก่อนชื่อว่า MDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (millennium development goals) ที่เกิดจากการรวมตัวกันในการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2543”

ดังนั้น เมื่อ MDGs สิ้นสุดระยะที่กำหนดไว้ในปี 2558 ทาง UN จึงจัดประชุมล่วงหน้า และรวบรวมความคิดเห็นของประชาคม เพื่อร่วมกำหนดกรอบในการเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกในระยะต่อไป ที่เรียกว่า SDGs โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมายที่ถูกพัฒนาบนพื้นฐานของการมองความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะเป้าหมายนี้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนโลกไปจนถึงปี 2573

“ศ.ดร.เจมส์ คาลวิน” ยกตัวอย่าง innovation for humanity ที่นักศึกษาเดินทางไปทำที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ว่านักศึกษาของเราศึกษาเกี่ยวกับปัญหาในลิมา แล้วพบว่าประชาชนส่วนใหญ่พูดถึงความลำบากในการเดินทางของคนยากจนที่อาศัยอยู่สลัมในเมืองลิมาเป็นจำนวนมาก เพราะสลัมแห่งนี้ถูกกีดกันจากความเจริญด้วยภูเขา และขาดเส้นทางที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อไปยังแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งสาธารณูปโภค เนื่องจากคนในสลัมต้องเดินไต่เขาทุก ๆ วัน

“นักศึกษาของเราทำงานร่วมกับ TECHO องค์กรอาสาสมัครที่ไม่แสวงหากำไร โดยมุ่งเน้นไปที่การให้บริการแก่ผู้ยากไร้ ซึ่งพวกเขาช่วยออกแบบเครื่องมือที่สามารถคำนวณ และให้คะแนนโปรเจ็กต์ใด ๆ ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ส่งเสนอเพื่อช่วยชุมชนสลัมแห่งนี้ เพื่อตัดสินว่ามีประโยชน์ และเหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด โดยเครื่องมือนี้อ้างอิงกับสิ่งที่ชุมชนต้องการด้วย”

จึงนับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับโลกตามหลัก SDGs โดยออกแบบวิชาที่ให้นักศึกษาลงมือทำเพื่อช่วยมนุษยชาติอย่างแท้จริง