อัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ “ความจริงใจคือสิ่งสำคัญในธุรกิจ”

“ต้องยอมรับว่าการบริหารงานทุกอย่างไม่มีอะไรที่จะทำได้ง่าย ๆ แต่ถ้าเรามีความจริงใจ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คอยแนะนำ ให้การช่วยเหลือ รวมถึงการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค และความเท่าเทียม ไม่ตั้งกำแพงใด ๆ เท่านี้จะทำให้เราบริหารคน บริหารองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำพาองค์กรให้เติบโต ก้าวหน้า แม้ว่าจะมีวิกฤต หรือปัญหาใด ๆ ก็ตาม”

คำพูดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “อัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่น จำกัด และประธานสภาธุรกิจไทยในดูไบ และรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ใช้เป็นหลักการในการบริหารคน บริหารองค์กร จนทำให้ เวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่น ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพราะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ และชำนาญการในตลาดตะวันออกกลาง จนสามารถนำพาผู้ประกอบการด้านสินค้า และบริการของไทยให้ประสบความสำเร็จ ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมไปถึงกลุ่มประเทศมุสลิมที่ช่วยเปิดตลาดการค้าการส่งออกทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง จนก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจ และสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนั้น “อัครวุฒิ” ยังต่อยอดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจกว่า 15 ปี ในตะวันออกกลาง มาเป็น ศูนย์การค้า “ไทยมาร์ท” (THAIMART) ที่ราชอาณาจักรบาห์เรน ซึ่งเป็นสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า บริการของไทย ทั้งยังเป็นศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์สุขภาพ วิลล่า และอื่น ๆ ที่มีบรรยากาศ สถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับความเป็นไทย บนพื้นที่กว่า 6,700 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของ “ดิยาร์ อัล มูฮาร์รัค” หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของบาห์เรน และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในต้นปี 2563

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อครั้งแรกเริ่มที่ “อัครวุฒิ” ตัดสินใจเข้าไป “แสวงหาโอกาส” ในตะวันออกกลาง ดินแดนที่คนไทย ธุรกิจไทย ในตอนนั้นยังไม่ค่อยรับรู้ และเป็นที่รู้จักเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยเขาเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเข้าทำงานในสายงานที่จบมาระยะหนึ่ง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ค่อนข้างย่ำแย่ ผู้คนไม่มีกำลังซื้อ ทำให้รู้สึกไม่สนุกกับงานที่ทำ จึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานที่ประเทศโอมาน

“งานที่ผมไปทำตอนนั้นคือรับจ้างช่วยขายไม้กฤษณา ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว อีกทั้งเรื่องภาษาของผมตอนนั้นต้องบอกว่าไม่ได้เรื่องเลย ต่างคนต่างมั่วเหมือนกัน แต่เมื่อไปแล้วทำให้ผมเห็นรูปแบบ และวิธีการทำธุรกิจ ที่ไม่ยึดติดกับตัวสินค้า บริการ แต่มองเรื่องกำลังซื้อเป็นสำคัญ จนเป็นที่มาของไอเดียธุรกิจการจัดงานแสดง และจำหน่ายสินค้า ที่นำสินค้าไทยไปขายที่ตะวันออกกลาง”

“ตอนนั้นธุรกิจแบบนี้ยังไม่มีใครทำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะสินค้าที่ไปจากไทยส่วนใหญ่จะขายแบบกระจัดกระจาย เราจึงคิดว่าถ้าเอามารวมกันได้ จัดออกมาในรูปแบบบรรยากาศ และเอกลักษณ์ของประเทศไทย จะทำให้ง่ายต่อการขาย และการจัดแสดง หลังจากนั้น ผมจึงกลับมารีวิว หาข้อมูล พร้อมกับหาสินค้าใหม่ ๆ เข้ามา”

ดังนั้น หากมองความต้องการในเรื่องสินค้าของประเทศแถบตะวันออกกลาง “อัครวุฒิ” บอกว่า ทุกประเทศยังเปิดรับ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต ทำให้ต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ตรงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำธุรกิจเทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่น

“แต่ด้วยความที่ผมไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านนี้มาก่อน จึงใช้วิธีการคิดแบบตรรกะของวิศวะที่ผมเรียนมา โดยวิเคราะห์จากความน่าจะเป็น ทั้งการจัดบูท การจัดเวที แล้วเลือกว่าอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะเข้ามาอยู่ในงานของเรา อย่างเมื่อก่อนงานเอ็กซิบิชั่นทั่วไป คนมองแค่ว่าจะขายได้หรือไม่เท่านั้น แต่สิ่งที่ผมทำคือจัดให้มีเวทีการแสดงอย่างน้อย 2 เวที ทั้งด้านนอก และด้านใน เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาในงาน ตรงนี้ทำให้เกิดความสนใจ และเกิดการขยายในที่สุด ทั้งหมดนี้กว่าจะเริ่มทำธุรกิจตัวเองได้จริง ๆ ที่โอมาน ผมใช้เวลาประมาณปีกว่า”

“การบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดตอนนั้น เริ่มต้นด้วยเงินเพียงแค่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้เงินวันละ 100 บาท คำนวณทุกอย่าง และผมทำเองทั้งหมดทุกอย่าง ทั้งงานขาย งานโอเปอเรชั่น งานที่เป็นเปเปอร์เวิร์ก ซึ่งต้องอดทนมากพอสมควร จนวันที่เราพอมีกำลัง ธุรกิจเดินไปได้ด้วยดีแล้วจึงหาคนมาช่วย อย่างตอนนี้ทีมงานของผมถือว่าเป็นมัลติคัลเจอร์ เพราะคนทำงานมาจากหลากหลายเชื้อชาติ สัญชาติ ที่มาจากคนท้องถิ่น คนอินเดีย และคนไทย ทั้งยังมีทีมการขายที่ไทย และต่างประเทศ เพราะวันนี้ธุรกิจเราไม่ได้จัดเฉพาะสินค้าไทยเท่านั้น แต่ยังมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย”

“ขณะที่ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และยังมีส่วนที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขายของอยู่ในจตุจักรที่อยากนำสินค้าไปขายยังต่างแดน ซึ่งรูปแบบงานแสดงและจำหน่ายสินค้าที่เราทำขึ้น ส่วนใหญ่จะโชว์ความเป็นประเทศไทย ทั้งตลาดนัด ตลาดน้ำ การแสดงศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเราเป็นผู้ลงทุนทำบูท จัดการระบบน้ำ ระบบไฟให้ทั้งหมด และการจัดงานจะมีตั้งแต่ระยะสั้น 5-7 วัน ไปจนถึง 6 เดือน”

จุดแข็งอย่างหนึ่งสำหรับการทำธุรกิจของเวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่น ที่นอกเหนือจากการหาคอนเซ็ปต์ หรือการนำเสนอใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทั้งผู้ที่มาเลือกซื้อสินค้า และผู้ที่มาออกบูท รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีแล้ว “อัครวุฒิ” มองว่าถ้าลูกค้าไปต่อไม่ได้ เราก็ไปต่อไม่ได้ หรือ Your success is our Job ทำให้ในธุรกิจของผมจะมีพาร์ตหนึ่งที่เป็นรูปแบบการให้คำปรึกษา

“โดยจะมีการรีวิวสินค้าที่ให้คนตะวันออกกลางมาช่วยเล่าให้ฟังว่า สินค้าเป็นอย่างไร แล้วนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปบอกกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เขาเหล่านั้นรู้ว่า สินค้าของเขาต้องปรับปรุง หรือเพิ่มไอเดียอะไรบ้าง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ตรงนี้ถือเป็นการเตรียมตัว และสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการไทยในอีกทางหนึ่งด้วย”

“ด้วยความสนใจในสินค้าและบริการของไทย เราจึงร่วมมือกับดิยาร์ อัล มูฮาร์รัค บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของบาห์เรน ในการยกระดับงานจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า มาสู่ศูนย์การค้าไทยมาร์ท ที่บาห์เรน ซึ่งผมนำเอาประสบการณ์กว่า 15 ปี ในการดำเนินธุรกิจในตะวันออกกลาง ใส่เข้าไปไทยมาร์ท”

“ที่นี่ไม่เพียงจะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากประเทศไทย ทั้งสินค้าเครื่องสำอาง สปา และสุขภาพต่าง ๆ, สินค้าไลฟ์สไตล์ และของตกแต่งบ้าน, สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และอาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มแล้ว แต่ยังมีบริการทางด้านแพทย์ สุขภาพ และนวดแผนไทยที่ได้มาตรฐาน และได้รับการเลือกสรรมาแล้ว ที่สำคัญ ยังมีลานกิจกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ออนไลน์ไม่สามารถมีได้ ทำให้ตรงนี้เป็นจุดที่ดึงดูด และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง”

ถึงตรงนี้ “อัครวุฒิ” บอกว่า การบริหารงานไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องง่าย แต่เราต้องใช้ความจริงใจ การสร้างความสัมพันธ์อันดี มีปัญหาอะไรต้องช่วยเหลือ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่สำคัญ เมื่อเราไปทำธุรกิจในต่างบ้านต่างเมืองต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา และต้องวางแผนการทำงานที่ดี และคิดถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น มองความน่าจะเป็น แล้วหาทางรับมือ ทางแก้ปัญหาไว้ด้วย

“ส่วนการบริหารคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกัน ไม่มีกำแพงในการทำงาน วันนี้ถือว่าธุรกิจของเราเติบโตขึ้นมาก ปีละ 20% ทั้งตัวงานแสดง และจำหน่ายสินค้า รวมถึงโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น”

“แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ผมต้องอดทน ต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคมากมาย ลองผิด ลองถูก และใช้ความจริงใจ เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่”

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ “อัครวุฒิ” กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นในตอนท้าย