พันธสัญญา 2050 “เชลล์” มุ่งสู่พลังงานรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืน

ภายในงาน “Shell Powering Progress Together (PPT 2019)” ที่ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Co-creating City+” ณ ประเทศสิงคโปร์ เชลล์ได้ประกาศถึงพันธสัญญาการลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่
(new energies) โดยที่ทุกธุรกิจ และทุกผลิตภัณฑ์ทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ได้ 50% ภายในปี 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

“มาร์ก เกนส์เบอโรฮ์” รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจพลังงานใหม่รอยัล ดัตช์ เชลล์ กล่าวว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกอาจจะเพิ่มอีก 2 พันล้านคน รวมเป็น 9.7 พันล้านคน ทำให้โลกต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งในแง่ขนาดและความซับซ้อน และเราจะทำอย่างไรที่จะตอบสนองความต้องการในการใช้พลังงานที่อาจจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2070 ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน


“ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนของสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันในการที่จะบรรลุความตกลงปารีส โดยเชลล์กำหนดทิศทาง และบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และทำให้ธุรกิจของเราสามารถเติบโตได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน สู่อนาคตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“เรามุ่งมั่นที่จะลดปริมาณ CO2 ในผลิตภัณฑ์พลังงานของเชลล์ที่จำหน่ายให้ได้ราว 20% ภายในปี 2035 และ 50% ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นความมุ่งหมายในการลดปริมาณสุทธิของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (net carbon footprint ambition) โดยเราจะก้าวไปข้างหน้าเคียงคู่กับลูกค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส”

“ทั้งนั้น เชลล์ยังมีการลงทุนในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการลงทุน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจพลังงานใหม่ ซึ่งผมเป็นผู้ดูแลเอง โดยจะมุ่งเน้น 2 ด้านสำคัญคือ ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงใหม่ ที่ประกอบด้วยไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวภาพ และการชาร์จพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้า”

ที่ผ่านมาเชลล์เข้าซื้อกิจการบริษัท กรีนลอตส์ ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในการนำเสนอโซลูชั่นสำหรับการชาร์จพลังงานสำหรับรถไฟฟ้า ที่มีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยกรีนลอตส์ได้นำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลาย ทั้งความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมือง ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ บริการรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ใช้ยานพาหนะไฟฟ้าสำหรับการคมนาคมขนส่งและในสิงคโปร์ กรีนลอตส์ได้ติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้ากว่า 200 สถานี ในทำเลที่ตั้งกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เชลล์มีจุดชาร์จไฟฟ้าที่เชลล์เป็นเจ้าของอีกกว่า 45,000 แห่ง

ในส่วนของพลังงานไฮโดรเจน “มาร์กเกนส์เบอโรฮ์” กล่าวเพิ่มเติมว่าเชลล์อยู่ระหว่างการลงทุนในการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน อีกทั้งยังมีการลงทุนในเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งสามารถนำมาผสมกับเชื้อเพลิงที่มีอยู่แล้ว เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และยังอาจเป็นวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างคุ้มทุนอีกด้วย

“เราเล็งเห็นบทบาทที่ชัดเจนสำหรับระบบพลังงานที่ใช้ไฟฟ้าอย่างครบวงจร เชลล์จึงมุ่งทำงานเพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคาร์บอนต่ำแก่สังคม โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานทดแทน อันได้แก่ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เห็นอย่างชัดเจนคือการเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 49 ในบริษัท คลีนเทค โซลาร์ ผู้พัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในเอเชีย”

“จากการดำเนินงานด้านไฟฟ้าของเราไม่ได้จำกัดอยู่ที่การผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีส่วนร่วมในเกือบทุกขั้นตอนของระบบไฟฟ้า ทั้งการซื้อขายไฟฟ้า การจัดส่งไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง ตลอดจนสรรหาวิธีที่จะทำให้บ้านเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปีนี้เรายังซื้อกิจการบริษัท ซอนเนน บริษัทเยอรมันที่ผลิตระบบเก็บพลังงานในรูปของแบตเตอรี่สำหรับบ้านที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ในสหรัฐเราเข้าไปลงทุนในจีไอ เอเนอร์จี้ ซึ่งเป็นผู้สร้างโซลูชั่นพลังงานสะอาด ป้อนให้ลูกค้าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมทั้งการผลิตไฟฟ้า การสร้างความร้อน และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่”

“ส่วนในสหราชอาณาจักร เราเข้าซื้อกิจการไลม์จัมป์ ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่บริหารสินทรัพย์อย่างเป็นเอกเทศเชิงพาณิชย์ผ่านระบบรีโมต ช่วยให้บริษัทผลิตไฟฟ้าสามารถจำหน่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าและได้ยอดขายที่เหมาะสม ทั้งยังให้บริการพลังงานทดแทน 100% ในที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าชาวอังกฤษอีกด้วย”

“มาร์ก เกนส์เบอโรฮ์” กล่าวอีกว่าในความพยายามที่จะส่งมอบพลังงานคาร์บอนต่ำ โจทย์สำคัญอีกข้อหนึ่งของเชลล์คือการลดการปล่อย CO2 ในส่วนของลูกค้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา และเมื่อเร็ว ๆ นี้เชลล์ประกาศว่าธรรมชาติจะเป็นจุดศูนย์กลางในความพยายามที่จะลดปริมาณสุทธิของก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทปล่อยออกมา โดยมีแผนจะลงทุนในระบบนิเวศทางธรรมชาติ ในวงเงินสูงสุด 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2021

“เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐาน ทั้งการอนุรักษ์ผืนป่า ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างในมาเลเซีย, ออสเตรเลีย, สเปน และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งลงทุนก่อตั้งโครงการใหม่ ๆ ในการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัท อย่างในเนเธอร์แลนด์ เราเริ่มให้ลูกค้าที่เข้ามาเติมเชื้อเพลิงที่สถานีบริการเชลล์ ได้มีส่วนในการชดเชย CO2 ในราคา 1 ยูโรเซนต์ต่อลิตร และต่อไปจะขยายไปยังลูกค้าในประเทศอื่น ๆ ด้วย”

“ไม่เพียงเท่านี้ เชลล์ตระหนักดีว่าการเติบโตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการผลิต และใช้พลังงานของเมืองต่าง ๆ ให้เป็นไปในรูปแบบที่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องเกิดจากการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค โดยเชลล์ ภายใต้กลุ่มธุรกิจพลังงานใหม่ได้เปิดตัว City Solutions Living Lab เป็นแห่งแรกของโลกที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อช่วยให้เมืองใหญ่ทั่วโลก เดินหน้าในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน มุ่งสู่เมืองยั่งยืน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงต่อไป”