“ปิดทองหลังพระ” ร่วมแชร์ประสบการณ์ “ระเบิดจากข้างใน” ใช้แนวพระราชดำริ หลักชัยผู้นำภูธร

ผู้นำท้องถิ่น นักปกครอง ข้าราชการ พัฒนาการอำเภอ ผู้นำชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ เข้าเรียนหลักการพัฒนาชุมชนแบบปิดทองหลังพระ ฟื้นความสุขในครัวเรือน พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย พร้อมจัดทำแผนแก้ปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน

นายชูชีพ พงษ์ไชย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อที่จะนำความเจริญผาสุกมาสู่ประชาชน ภายใต้ความร่วมมือของประชาชน บนพื้นฐานหลักการทรงงานโดยเฉพาะ หลักการ “ระเบิดจากข้างใน” โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนนำความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่

ชูชีพ พงษ์ไชย

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติ “การดำเนินงานตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ” มีปลัดอำเภอ เกษตรอำเภอ พัฒนาการ ผู้นำชุมชน 25 อำเภอ กว่า 150 คนเข้าร่วม มีจุดมุ่งหมายให้นำความรู้ไปจัดทำแผนพัฒนาชุมชนที่เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนให้ตรงจุดต่อไป

“หลังจากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คาดหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม นำความรู้ไปใช้ในการจัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรมของชุมชนเอง ที่มีหลักคิดว่าเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง จากฐานข้อมูลที่เป็นจริง เกิดการจัดทำแผนพัฒนาของหมู่บ้าน แผนพัฒนาอำเภอและจังหวัด และเป็นแผนของชุมชนให้หน่วยงานต่างๆวางแผนการส่งเสริมสนับสนุน โดยกลับไปเริ่มดำเนินการได้ทันที” นายชูชีพกล่าว

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในฐานะวิทยากร “การพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ” กล่าวว่า หลักสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ คือทุกฝ่ายต้องมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอย่างเดียวกัน มีความเชื่อและเข้าใจแนวพระราชดำริ มีทีมงานที่ดีและเก่ง ตลอดจนมีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของหน้าที่ในฝ่ายต่างๆ ที่เหมาะสมชัดเจน รวมถึงการบริหารโครงการและกิจกรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือการมีข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องพร้อมใช้งาน

นายสุทัศน์ บานเย็น นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม กล่าวถึงหลักการพัฒนาตามแนวปิดทองหลังพระฯ ว่าเป็นแนวการพัฒนาที่มีความยั่งยืน ได้ค้นหาปัญหาที่แท้จริงของชุมชน โดยเก็บข้อมูลทุกครัวเรือนเพื่อทำให้รู้ปัญหาที่แท้จริงซึ่งจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง และเมื่อนำแนวการพัฒนาไปปรับใช้ ทำให้เกือบทุกครัวเรือนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าแนวทฤษฏีใหม่เป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนและสังคมได้จริง

สุทัศน์ บานเย็น

สำหรับเทศบาลตำบลปิงโค้ง พบว่าชุมชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยทุกครัวเรือนต้องซื้อน้ำดื่มเฉลี่ยรวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น เทศบาลจึงเดินหน้าทำโครงการประปาหมู่บ้าน โดยเก็บค่าน้ำในราคาที่เป็นธรรมและเมื่อมีรายได้จะเป็นกองทุนสำหรับนำมาพัฒนาสร้างและซ่อมระบบประปา โดยในระระยะต่อไป จะดำเนินการทำฝายเก็บน้ำและโครงการธนาคารอาหารชุมชน ซึ่งจะสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงไก่ รวมถึงการทำแก๊สชีวภาพจากเศษวัสดุในชุมชน ซึ่งโครงการทั้งหมด จะช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนของสมาชิกในชุมชน