“คลองยัน” นักสู้ภัยพิบัติ เล็งปั้นชุมชนสู่เกษตรครบวงจร

ภาพปัจจุบันของชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎ์ธานี ในวันนี้ ชกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ต่อสู้กับวิกฤตภัยพิบัติได้ทั้งน้ำหลาก น้ำขาดแคลนได้สำเร็จ จนไม่เหลือภาพเดิมอีกต่อไป กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง ชุมชนลุ่มน้ำคลองยันได้รวมตัวกันผ่านการจัดตั้ง “เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน” และ “กองทุนสวัสดิการเครือข่ายลุ่มน้ำคลองยัน” ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ร่วมกันหาทางออกของปัญหาน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” มาเป็นหลักคิดในการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอและกักเก็บน้ำ จัดทำแผนที่ ผังน้ำ สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ และเรียนรู้เข้าใจตัวเอง นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 21 และเป็นต้นแบบโครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย

“ดร.รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติฯดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่

“มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาร่วมทำงานกับชุมชนตั้งแต่การถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งน้อมนำหลักการทรงงาน ควบคู่กับวิถีการใช้ชีวิตของชุมชน หรือที่เรียกว่าหลักภูมิสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยแนะนำการพัฒนาอีก เช่น และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่นำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาถ่ายทอด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

“อีกทั้งยังร่วมกันบริหารจัดการป่าและน้ำ จนเกิดเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ในพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 653 ตารางกิโลเมตร มีเครือข่ายวิทยุภาคประชาชน 25 สถานีแม่ข่าย ลูกข่าย 300 เครื่อง และเป็นเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตรงนี้ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ยังเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาด้วย” ดร.รอยลกล่าว

ด้าน “ปรีชา พุดดำ” รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ได้อธิบายถึงพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติฯว่า ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 จุด ที่สำคัญ ได้แก่ จุดที่หนึ่ง “จากผืนป่า สู่หยดน้ำได้ดื่มกิน” ที่เกิดจากการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 700 ฝาย ครอบคลุมเส้นทางน้ำใน 27 ลำห้วยสาขา ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า และเป็นแหล่งน้ำของสัตว์นานาชนิดในบริเวณนั้น เกิดความมั่นคงน้ำ 10 ชุมชน 3 ตำบล 2 อำเภอ ลดค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำจากภายนอก 3.66 ล้านบาท/ปี ปัจจุบันเครือข่ายนำน้ำจากต้นน้ำและคลองยันมาผ่านระบบกรองน้ำเพื่อบริโภคใน 4 ชุมชน โดยมีคณะกรรมการระบบน้ำดื่มชุมชนดูแล และบริหารจัดการรายได้ นำไปเป็นกองทุนดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และบำรุงรักษาระบบกรองน้ำดื่มต่อไป

จุดที่สอง “เขตอภัยทาน สร้างด้วยมือ ดูแลด้วยใจ” จุดนี้เกิดจากการที่เครือข่ายได้ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมทั้งฟื้นฟูคลองยันที่เป็นสายน้ำหลัก แก้ปัญหาตลิ่งพังด้วยการปลูกพืชท้องถิ่นยึดตลิ่ง และได้กำหนดเขตอภัยทาน หรือวังปลา ระยะทาง 300 เมตร เกิดการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกวิธี และจับปลาแต่พอกินในครอบครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ยังทำให้ปริมาณพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นกว่า 60 ชนิด

ส่วนจุดที่สาม นำเสนอเกี่ยวกับเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยพิบัติ สู่การป้องกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2551 พื้นที่ลุ่มน้ำคลองยันเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เกิดความเสียหายตลอดลุ่มน้ำ ชาวบ้านจึงได้พัฒนาเครือข่ายภายใต้ชื่อ “กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำคลองยัน” เพื่อแจ้งเตือนภัยภายในเครือข่ายชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะลดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของทุกครัวเรือนตลอดสายน้ำคลองยัน ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติต่อชุมชน

“ปรีชา” แนะนำมาถึงจุดสุดท้าย จะเป็นเรื่องเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาสู่การทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกผักและพืชเศรษฐกิจผสมผสานหลายชนิด ปัจจุบันมีเครือข่ายใน 4 ตำบล 2 อำเภอ รวมกว่า 6,599 ครัวเรือน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเดิม 30,000 บาท/ปี เป็น 75,000 บาท/ปี ที่สำคัญ คือ สามารถลดรายจ่ายได้ถึง 36,500 บาท/ปีอีกด้วย”

สำหรับเป้าหมายของมูลนิธิอุทกพัฒน์ในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำคลองยันในสเต็ปต่อไป คือ ทำให้เกิดการทำ “เกษตรแบบครบวงจร”ตั้งแต่การผลิต นั่นหมายถึงว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการสร้างอาชีพเพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการนำพืชที่เพาะปลูกมาแปรรูปเพื่อจำหน่าย และในที่สุดแล้วจะขยายผลไปสู่รากฐานทางด้านการศึกษาที่เกิดจากความมั่งคั่งของคนในชุมชน เป็นลำดับต่อไป