CPF ตัดหนี้นอกระบบ พนง. สร้างวินัยเก็บออมเพื่ออนาคต

นอกจากบรรยากาศ และสถานที่ทำงานที่ดีแล้ว “ความสุขในการทำงาน” ถือเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากความสำคัญในเรื่องดังกล่าว “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” หรือ “ซีพีเอฟ” จึงได้ดำเนิน โครงการ “ปลดหนี้สร้างสุข และส่งเสริมการออม” มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้พนักงานในองค์กร พนักงานในโรงงานและฟาร์ม เข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ตลอดจนการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

โดยร่วมกับสถาบันการเงิน อย่างธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารธนชาต และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการให้ความรู้ด้านบริหารเงิน การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน การวางแผนการเงิน ให้แก่พนักงานของซีพีเอฟทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน และในปีนี้ซีพีเอฟได้สานต่อโครงการปลดหนี้ให้กับพนักงาน ควบคู่กับการสร้างวินัยในการออมเงิน พร้อมทั้งจับมือแบงก์เดินสายให้ความรู้เพื่อวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสมอีกด้วย

“สมพร เจิมพงศ์” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขในการทำงานของพนักงาน โดยมุ่งหวังที่จะให้การทำงานมีคุณภาพมากที่สุด โดยเริ่มต้นโครงการปลดหนี้สร้างสุข พร้อมทั้งส่งเสริมการออมกับสายธุรกิจสุกร และได้ขยายผลไปยังสายธุรกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ภายในองค์กรซีพีเอฟ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเงินให้กับพนักงานที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ และหนี้บัตรเครดิตที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง

“จากการติดตามผลของโครงการพบว่า พนักงานพึงพอใจ เพราะสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้จริง พนักงานระวังในการใช้เงินมากขึ้น มีการวางแผนผ่านบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน ทั้งยังทำให้พนักงานได้มีเงินเก็บออมในแต่ละเดือน ที่สำคัญยังยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้”

ด้าน “วิชิต อุปนันท์” วัย 38 ปี คนงานในฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ต้องเป็นตัวหลักในการรับผิดชอบดูแลครอบครัว เล่าว่า ที่ผ่านมาเคยกู้เงินนอกระบบ และมีหนี้บัตรเครดิตอีก 3 ใบ รวมหนี้ประมาณ 1 แสนบาท ขณะนั้นมีรายได้เพียง 9,000 บาทต่อเดือน และต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำรวมทั้งหมด 8,000 บาท เหลือเงินใช้จ่ายแค่เดือนละ 1,000 บาท ทำให้ต้องหารายได้เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่พอจ่าย ทำให้มีความกังวลในภาระดังกล่าว แต่เมื่อบริษัทจัดโครงการปลดหนี้ จึงสมัครเข้าโครงการโดยกู้เงิน 1 แสนบาท มาชำระหนี้เงินกู้นอกระบบและหนี้บัตรเครดิต “ทุกวันนี้ชำระหนี้หมดแล้ว ทำให้ในตอนนี้ผมมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และยังมีเงินออมได้อีกเดือนละ 3,000 บาท เงินออมที่เก็บไว้นำมาลงทุนในสวนลำไยมีรายได้ปีละ 40,000-50,000 บาท และตั้งแต่เข้าโครงการจนถึงปัจจุบันผมได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เรารู้ว่าใช้เงินไปอย่างไร ช่วยให้เราวางแผนการเงินดีขึ้น”


ขณะที่ “สิริพิชญา มากด่าน” อายุ 55 ปี แม่บ้านประจำฟาร์มสุกรวังทอง จ.พิษณุโลก หนึ่งในพนักงานที่เข้าร่วมโครงการปลดหนี้ และปัจจุบันชำระหนี้หมดแล้ว เล่าว่า ตอนนั้นสมัครเข้าโครงการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีภาระหนี้หลายทาง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่กู้มาจากบริษัทที่ปล่อยเงินกู้ จำนวน 50,000 บาท ส่วนหนึ่งต้องใช้เพื่อผ่อนจ่ายชำระหนี้ 1,000 บาท/เดือน แต่มาทราบทีหลังว่าเงินที่ชำระหนี้หักเงินต้นได้เพียง 200 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เองจึงตัดสินใจเข้าโครงการปลดหนี้ ซึ่งในตอนนี้ตนชำระหนี้หมดแล้วก่อนที่จะเกษียณปีนี้

“เราใช้หนี้หมดแล้ว รู้สึกโล่งใจมาก จากเดิมที่ต้องมานั่งกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้หมด คุยกับเพื่อน ๆ พนักงานที่มีภาระหนี้ ทุกคนบอกว่าโครงการปลดหนี้ช่วยพนักงานได้จริง ๆ เพราะทำให้เราสามารถปลดหนี้ได้เร็ว ไม่ใช่เฉพาะปลดหนี้ แต่สร้างวินัยทางการเงิน และไม่กลับไปเป็นหนี้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561-กรกฎาคม 2562 มีจำนวนพนักงานในโรงงาน และฟาร์มของสายธุรกิจสุกร รวมถึงสายธุรกิจอื่น ๆ ของซีพีเอฟ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าโครงการปลดหนี้สร้างสุข และส่งเสริมการออม ที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินรวม 748 ราย วงเงินอนุมัติรวมประมาณ 336 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการขอกู้เพื่อชำระหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต นอกจากนี้ บางรายเป็นการขอกู้เพื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย