จดหมายเหตุ คุณค่าทางประวัติศาสตร์

คอลัมน์ HR Corner

โดย รณดล นุ่มนนท์

กองหนังสือ และเอกสารที่วางเรียงรายอยู่ทั่วบ้าน ถือเป็นเรื่องปกติที่ผมจำความได้ตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่ต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อเตรียมสอนหนังสือ และเขียนหนังสือ และผมมักหยิบเอกสารเหล่านั้นมาอ่านเสมอ ๆ เอกสารหลายชิ้นสร้างความตื่นตาตื่นใจ เพราะถือเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

และเมื่อแม่ พาผม และน้องชายไปที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี รวมทั้งที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อค้นคว้าหลักฐานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในช่วงสงครามเวียดนามเป็นเวลาร่วมปี ยิ่งทำให้ผมซึมซับกับคุณค่าของเอกสารเหล่านั้น

หากกล่าวถึง “จดหมายเหตุ” หลายคนคงคิดถึงการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อใช้ในการอ้างอิง เป็นเอกสารที่รายงาน หรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “เป็นการจดเรื่องราวที่มีขึ้นอาจเป็นเรื่องอะไรก็ได้แต่เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ต้องจดอ้างไว้ว่าเกิดเมื่อไรแผ่นดินไหน” (1)

งานจดหมายเหตุของไทยมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามข้อทรงสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “เรื่องจดหมายเหตุมีธรรมเนียมเก่าเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กจะต้องจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอศาสตราคม และงานจดหมายเหตุในราชสำนักก็ยังเป็นประเพณีสืบต่อมาหลายสมัยถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานเรื่องการจัดงบประมาณกรม พระอาลักษณ์ เมื่อ ร.ศ. 115 ขอรับพระราชทานยกการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันรวมกับราชกิจจานุเบกษายกเป็นกองจดหมายเหตุ ใน ร.ศ. 118 ปรากฏหลักฐานประกาศตั้งตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีและกรมพระอาลักษณ์ มีหลวงนรราชจำนง ดำรงตำแหน่งปลัดกรม ยังคงปรากฏมีกองจดหมายเหตุอยู่”

ส่วนหอจดหมายเหตุ ในความหมายที่เป็นหน่วยงานเก็บเอกสารไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ ตรงกับคำว่า “ARCHIVES” ของภาษาอังกฤษ (2) ที่มาจากรากคำภาษากรีกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของหนังสือราชการตามที่มีพระราชกระแสให้นำเอกสารสำคัญไปเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “ARCHIVES”

ขอยกตัวอย่างพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องตราที่ว่า “เรื่องตราเป็นอันได้ความถูกต้องตามที่พระยามหาอำมาตยแจ้งความ แต่มีความเสียใจที่เปนตราแกะใหม่ทั้ง 2 ดวงรุ่นเดียวกันกับนารายน์ทรงราหู ตราเก่าเป็นจะหายหกตกหล่น เพราะเจ้าแผ่นดินไม่ได้อยู่ติดเมืองสักคนหนึ่ง…หนังสือชนิดนี้ควรจะเข้าอาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี” (3)

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุและหอรูปขึ้น เพื่อเก็บรักษาเอกสารและรูปถ่ายที่มีอายุเกิน 25 ปีไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า จนมาเป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และขยายออกไปอยู่ในส่วนภูมิภาค 10 แห่งในปัจจุบัน (4)

อย่างไรก็ดี หลายคนคงยังไม่ทราบว่าแบงก์ชาติก็มีหอจดหมายเหตุเช่นเดียวกัน และเพื่อให้ผมได้พาพวกเราไปท่องหอจดหมายเหตุ แบงก์ชาติ แบบจับต้องได้ ผมจึงได้นัด “พี่อ๋อย” จิราภรณ์ ศิริธร รองผู้อำนวยการ และ “พี่มด” สุมัยวดี เมฆสุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ควบ) ส่วนบริหารงานเอกสาร จดหมายเหตุ และวัตถุพิพิธภัณฑ์ พาทัวร์หอจดหมายเหตุพร้อมเล่าประวัติความเป็นมา

“พี่อ๋อย” และ “พี่มด” จัดเตรียมเอกสารหลักฐานมาเล่าแบบไม่ให้ตกหล่น สมกับเป็นนักจดหมายเหตุพันธุ์แท้ โดยเล่าว่า…แบงก์ชาติโชคดีที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนให้ความสำคัญกับเอกสารจดหมายเหตุ โดยให้จัดเก็บเอกสารที่มีคุณค่าตั้งแต่แบงก์ชาติเริ่มดำเนินการในปี 2483 เป็นสำนักงานธนาคารชาติไทย ขณะที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จนถึงเอกสารของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การดำเนินการจัดเก็บเอกสารให้เป็นมาตรฐานสากลของแบงก์ชาติเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยได้เชิญ “Mr. John F. Murphy” ผู้เชี่ยวชาญจาก International Executive Service Corps (IESC) สหรัฐอเมริกา เข้ามาปรับปรุงงานจัดการเอกสาร ตั้งเป็น “คณะทำงานโครงการปรับปรุงการเก็บรักษาเอกสาร”

โดยเสนอแนะให้ธนาคารมีงานหอบรรณสารดูแลระบบงานเอกสารของธนาคารอย่างครบวงจร ตั้งแต่งานต้นน้ำคือ งานสารบรรณ (ระบบการบริหารงานเอกสารในปัจจุบัน) งานศูนย์เก็บเอกสาร เพื่อเก็บเอกสารรอทำลาย จนถึงงานปลายน้ำคือ หอบรรณสาร (งานหอจดหมายเหตุในปัจจุบัน) เพื่อเก็บรักษาเอกสารที่มีคุณค่าไว้เป็นการถาวร ซึ่งการดำเนินงานหอบรรณสารช่วงแรกมี “ม.ร.ว.อนงค์เทวัญ เทวกุล” เป็นบรรณสารารักษ์รับผิดชอบงานดังกล่าว สังกัดส่วนการเลขานุการ ต่อมาก็ได้มี “พี่เบ็ญจมาศ ตันตยาภรณ์” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานงานจดหมายเหตุของแบงก์ชาติ

โดยแต่เดิมหอบรรณสาร (ที่เปลี่ยนชื่อเป็นหอจดหมายเหตุเมื่อ พ.ศ. 2532) อยู่ที่ชั้นใต้ดินอาคาร 2 สังกัดหอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ และต่อมาย้ายมาที่ตั้งปัจจุบันภายในชั้น 4 อาคาร 7 ภายใต้การดำเนินงานของฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน

ความท้าทายของงานจดหมายเหตุ เริ่มต้นจากการคัดเลือกว่า เอกสารและหลักฐานใดที่มี “คุณค่า” สมควรจะถูกเก็บรักษาไว้ถาวร ไปจนถึงวิธีการเก็บรักษาเอกสารและหลักฐานที่อยู่ในรูปวัตถุทางกายภาพให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยาวนาน ภายในห้องจัดเก็บมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดพร้อมควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นในด้านอุณหภูมิ ความชื้น การป้องกันแมลง ตลอดจนเชื้อรา มีตู้จัดเก็บที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะพร้อมหัวฉีดสารเคมีฉุกเฉินกรณีเพลิงไหม้ เพื่อทำให้เอกสารเหล่านี้สามารถมีสภาพคงอยู่ได้อย่างยาวนาน

โดยมีความท้าทายที่หอจดหมายเหตุแบงก์ชาติกำลังเผชิญคือ การจัดการ และเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ยังมีห้องสำหรับพนักงานปฏิบัติงานแปลงเอกสารและหลักฐาน (ที่มีอีกจำนวนมากที่รอการแปลง) ให้อยู่ในรูปไฟล์ดิจิทัลเพื่อการสงวนรักษาอีกด้วย รวมถึงมีอีกห้องหนึ่งที่มีอุปกรณ์เหมือนห้องตรวจสอบหลักฐานในภาพยนตร์ที่มีพนักงานคอยทำหน้าที่ซ่อมแซมเอกสารหรือหลักฐานที่ชำรุด

ปัจจุบัน หอจดหมายเหตุแบงก์ชาติเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุมากกว่า 100,000 แฟ้ม มีเอกสารตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อ พ.ศ. 2483 เอกสารนโยบาย การบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารการประชุมของคณะกรรมการธนาคาร คณะกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ รายงานข้อมูล การวิเคราะห์ทางวิชาการ โครงการสำคัญ สุนทรพจน์ คำปราศรัย คำแถลงข่าว ฯลฯ

ตลอดจนภาพถ่าย, สไลด์, ฟิล์มภาพยนตร์, เทปบันทึกเสียง, วิดีโอเทป, แผนที่, แผนผัง, แบบแปลน

นอกเหนือจากเอกสารทางการแล้ว หอจดหมายเหตุยังจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า ซึ่งเป็นข้อมูลประสบการณ์ส่วนตัว ข้อคิดเห็นของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การคลังและการธนาคารของไทย รวม 39 ท่าน เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, คุณเสริม วินิจฉัยกุล และคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นต้น เนื่องจากประวัติศาสตร์

บอกเล่าจะอธิบายถึง 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.ระบบการคลังและการธนาคารของไทย พ.ศ. 2483-2492, 2.วิวัฒนาการกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย และ 3.ความเป็นมาของธุรกิจธนาคารสาขาในประวัติศาสตร์ไทยหอจดหมายเหตุอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการได้ โดยยึดแนวคิดว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

นอกจากนั้น พวกเรายังสามารถค้นหาเอกสารจดหมายเหตุผ่าน botlc website (www.botlc.or.th) ที่จัดเอกสารในรูปดิจิทัลที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น แผนผังโครงสร้างองค์กรเมื่อครั้งก่อตั้งธนาคารชาติที่มีเพียง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายออกบัตรธนาคาร, ฝ่ายการธนาคาร และฝ่ายบัญชาการ (รูปแบบการเขียนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) รวมทั้งบันทึกจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2489 มอบหมายให้แบงก์ชาติช่วยกระทำกิจการที่เป็นงานประจำ และมีอยู่ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทหน้าที่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินของแบงก์ชาติอย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานเปิดการประชุมวิชาการเรื่อง “บทบาทงานจดหมายเหตุในกระแส big data และสังคมแห่งการเรียนรู้” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562 ว่า “เอกสารจดหมายเหตุของแบงก์ชาติ ถือเป็นเครื่องมือบริหาร เป็นความรู้ เป็นความทรงจำของสถาบัน

ซึ่งบอกเล่าอดีต สนับสนุนภารกิจ ความรับผิดชอบปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งเป็นหลักฐานและพยานเอกสารแสดงความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กร และเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิสำหรับการค้นคว้าวิจัยในสาขาเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคารของไทย” (5)

ซึ่งพวกเราสามารถไปเยี่ยมชมนิทรรศการจดหมายเหตุ ธปท. เพื่อย้อนรำลึกความทรงจำของแบงก์ชาติ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังจัดอยู่ที่ห้องค้นคว้าจดหมายเหตุ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ชั้น 1 ได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562

หมายเหตุ : แหล่งที่มา

(1) วรนุช วีณะสนธิ รู้จักจดหมายเหตุ http://www.finearts.go.th(2-3-4) ประวัติหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ https://www.nat.go.th/


(5) วิรไท สันติประภพ คำกล่าวเปิดโครงการประชุมวิชาการประจำปี 2562 เรื่อง “บทบาทงานจดหมายเหตุในกระแส big data และสังคมแห่งการเรียนรู้” วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ชั้น 5) จัดโดย สมาคมจดหมายเหตุไทย ร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และภาคี