“หม่อมเต่า” กำชับทุกหน่วยในสังกัดช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพายุโพดุลอย่างเต็มที่

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุล ซึ่งทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเยียวยา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ กระทรวงแรงงานได้เตรียมแผนแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไปไว้แล้ว ทั้งระยะก่อนเกิดภัย ได้จัดเตรียมแรงงานที่มีความรู้ทางเทคนิคเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระยะเกิดภัย ตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองและเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย และระยะฟื้นฟู ได้เตรียมการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ผู้ประสบภัย

กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ซึ่งได้กำหนดแผนการช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ

1) ก่อนเกิดภัย ได้มีการจัดเตรียมแนวทาง/มาตรการ สำรวจอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำทะเบียนช่าง เปิดแอพพลิเคชั่นสารพัดช่าง ตรวจสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน จัดทำคู่มือและฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งจัดทำสุขาลอยน้ำ เป็นต้น

2) ระหว่างเกิดภัย ได้จัดเตรียมแผนการตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยเพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนกรณีนายจ้างหยุดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

และ 3) ระยะฟื้นฟู ได้จัดเตรียมแผนการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ผู้ประสบภัย อาทิ กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ฝึกอบรมผู้ประสบภัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้บริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ รวมทั้งจัดหน่วยให้บริการด้านประกันสังคม อาทิ บริการรับเงินสมทบ รับแบบยื่นสิทธิประโยชน์นอกสถานที่ ให้บริการตอบข้อซักถาม จัดทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

อีกทั้งยังได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานมีการติดตามสำรวจข้อมูลเป็นระยะมาพิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ย.62 ระบุว่า มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 24 จังหวัด 64 อำเภอ 148 ตำบล 356 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 6 ชุมชน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,663 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดอุบลราชธานี และมีผู้บาดเจ็บ 1 รายที่จังหวัดชัยภูมิ โดยในส่วนของพื้นที่บริเวณ ต.บ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบว่า มีผู้ประสบภัยจำนวน 13 ชุมชน 3,428 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 13,712 คน ซึ่งในขณะนี้เทศบาลเมืองบ้านไผ่ ได้เตรียมจุดสำหรับพักพิงจำนวน 6 จุด ขณะที่ชาวบ้านยังมีความต้องการเรือเล็ก เจ็ทสกี เพื่อเข้าไปรับ-ส่ง คนออกจากพื้นที่น้ำท่วม และรับ-ส่ง เสบียงอาหารในช่วงรอการช่วยเหลือ สำหรับในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในสังกัดและอาสาสมัครแรงงานลงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วและอยู่ระหว่างการสำรวจผู้ได้รับผลกระทบต่อไป


อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง