โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บุก EEC หาคนรองรับนโยบายรัฐ

นัฐติยา ซอล
โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor) นับเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย ที่พัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Sea-board โดยระยะแรกเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บริษัทในพื้นที่ดังกล่าวต้องการบุคลากรมาร่วมพัฒนาธุรกิจเป็นจำนวนมาก

ในฐานะที่ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการผลักดันโอกาสการป้อนคนเข้าโครงการอีอีซี ด้วยการขยายสำนักงานแห่งใหม่ไปที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ชลบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2562

โดยมุ่งเน้นไปที่ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง และระดับสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการ, ซัพพลายเชน, การจัดซื้อ, วิศวกรรม, บัญชีและการเงิน, การขายและการตลาด และฝ่ายทรัพยากรบุคคล

“นัฐติยา ซอล” ผู้อำนวยการ บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ และสำนักงานโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด กล่าวว่า EEC สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายปี 2558-2561 ได้ดี โดยมีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนรวม 1.014 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC และ 1.110 ล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ส่วนใหญ่ยังลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีฐานอยู่ก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีภัณฑ์ 20%, อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 9%, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 8% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 7% ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านการลงทุนที่ไม่หยุดนิ่ง จึงนับเป็นความท้าทายของบริษัทในการสรรหาบุคลากรที่เก่ง มีความสามารถหลากหลาย และยังมีทักษะเฉพาะตัว

“การเติบโตและแนวโน้มของ EEC ส่งผลให้ 3 อุตสาหกรรมนี้มีความต้องการแรงงานมากที่สุดในอีก 5 ปีนับจากนี้ ได้แก่ อันดับ 1 อุตสาหกรรมดิจิทัล อันดับ 2 โลจิสติกส์ อันดับ 3 อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีความต้องการคนที่มีวุฒิการศึกษาต่างกันไป อุตสาหกรรมดิจิทัลต้องการคนจบอาชีวศึกษา 49,156 คน, ปริญญาตรี 67,056 คน, โลจิสติกส์ต้องการคนจบอาชีวศึกษา 65,940 คน, ปริญญาตรี 49,970 คน และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต้องการคนจบอาชีวศึกษา 44,492 คน, ปริญญาตรี 9,155 คน และปริญญาเอก 5,701 คน นอกจากนั้นยังมีอีก 7 อุตสาหกรรม รวม ๆ แล้วมีความต้องการคนจำนวน 475,674 อัตรา”

“นัฐติยา” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานแห่งใหม่นี้จะไม่ใช้รูปแบบการสรรหาแบบเหมารวม แต่จะเน้นการสรรหาตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงให้แก่ลูกค้าทั้งบริษัทต่างชาติ และบริษัทไทยที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคนี้

รวมไปถึงการให้ลูกค้าได้คัดเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพด้วยการผลักดันผู้สมัครเหล่านี้เข้ามาทำงานในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งสำคัญ เช่น ในด้านการดำเนินโครงการในสายการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์

“ปัจจุบันมีตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการใน EEC ประมาณ 50 ตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจตลาด และการพูดคุยกับลูกค้าในบริษัทต่าง ๆ พบ 5 ตำแหน่งงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งเป็นที่ต้องการสูง ได้แก่ 1.บัญชีและการเงิน 2.ทรัพยากรส่วนบุคคล 3.วิศวกรรม 4.ซัพพลายเชนและการจัดซื้อ และ 5.การบริหารงานทั่วไป”

“อุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ติดต่อให้เราช่วยจัดหาบุคลากรให้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, เคมีภัณฑ์, อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมเครื่องอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนการแข่งขันด้านบุคลากรในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดถือว่ามีความรุนแรงไม่แพ้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งตำแหน่งระดับกลางจะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 80,000-150,000 บาท และระดับสูงเริ่มต้นที่ 150,000 บาทไปจนถึง 500,000 บาท”

“นัฐติยา” อธิบายถึงสถานการณ์การจ้างงานใน EEC ว่า เป็นตลาดที่มีการแข่งขันของผู้สมัครที่มีทักษะ และความสามารถสูง โดยผู้สมัครมักมองที่ตั้งบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญ และพิจารณาชื่อเสียงและสังคมขององค์กร (community driven) ทั้งนี้ผู้สมัครงานต้องการโยกย้ายงานภายในเขตพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเท่านั้น รวมถึงวัฒนธรรมของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจที่จะย้ายที่ทำงานของผู้สมัคร

“บริษัทส่วนใหญ่ในโครงการ EEC ต้องการจ้างคนไทยที่มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม และมีทักษะความเป็นผู้นำร่วมกับความสามารถในการทำงานข้ามสายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น การดึงดูดบุคลากรให้ย้ายมาร่วมงานที่พื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับโปรแกรมการฝึกอบรมและการพัฒนาโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับแพ็กเกจการจ่ายค่าตอบแทน และสวัสดิการพนักงานเพื่อดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้”

“สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในอนาคต เรามองว่าประเทศไทยต้องเตรียมคนรองรับการเติบโตของธุรกิจการบิน เพราะจากข้อมูลในปี 2562 จาก Pilot & Technician Outlook 2019-2038 โดยบริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่าในพื้นที่ EEC จะมีความต้องการสูงในช่างเทคนิคด้านอากาศยานในอีก 20 ปี โดยทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยาน 769,000 คน และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนความต้องการถึง 35%”

อันไปสอดคล้องกับข้อมูลจากกรกฎาคม 2562 ของ www.eeco.or.th ที่ระบุว่ามีจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมกันทั้งปีเกือบ 900,000 เที่ยวบิน ธุรกิจการบินเติบโตขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งยังมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งชาวไทย และต่างชาติกว่า 140 ล้านคน ซึ่งเติบโตขึ้น 5.5% นอกจากนั้น ยังมีสายการบินต้นทุนต่ำก็มีการเติบโตมากขึ้น

โดยมีจำนวนเที่ยวบินทั้งปีกว่า 400,00 เที่ยวบิน เติบโตขึ้น 12% เพราะสายการบินต้นทุนต่ำมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีเกือบ 70 ล้านคน เติบโตเกือบ 12% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยต้องเร่งสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์กับความต้องการในอนาคต


นับว่าสำนักงานแห่งใหม่นี้เป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยแนวโน้มการเติบโตของโครงการอีอีซี ซึ่งผู้บริหารระดับสูงที่มากด้วยทักษะและประสบการณ์ที่โรเบิร์ต วอลเทอร์สจัดหาให้บริษัทต่าง ๆ จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในภูมิภาคและประเทศไทยโดยรวมได้