แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน

อาจเป็นเพราะเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-sustainable development goals) ไม่เพียงมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติ หากยังเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่อารยประเทศต่าง ๆ จึงร่วมกันรับรองเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานภายในองค์กร และประเทศของตน รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว หากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ต่างนำแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเช่นกัน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้รายงานล่าสุดเรื่อง “SDG Index and Dashboards Report 2018” ซึ่งเป็นโครงการติดตามความคืบหน้า และประมวลผลการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ตลอดหลายปีผ่านมา จึงบรรลุผลเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ

กล่าวกันว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung โดยระบุว่าประเทศไทยตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศ ด้วยคะแนน 73 คะแนน โดยคิดเฉลี่ยระดับภูมิภาคอยู่ที่ 65.7 คะแนน โดยเป้าหมายที่ 1 ของ SDG เรื่อง “การขจัดความยากจน” ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะบรรลุเป้าหมาย 100 คะแนนเต็ม ทั้งยังประสบความสำเร็จใน 2 เป้าหมายย่อยคือกลุ่มประชากรที่มีรายได้ 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน และกลุ่มประชากรที่มีรายได้ 3.20 ดอลลาร์ต่อวัน

แต่กระนั้น เมื่อมาดูข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรากฏว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2562 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ของปี 2561 อยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ต่อ GDP โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัว 6% โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล

กล่าวกันว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนนี่เองที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในมิติต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงอาหาร, สาธารณสุข, การศึกษา และที่อยู่อาศัย และที่ผ่านมาภาคเอกชนของไทยพยายามดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และกิจกรรมเพื่อสังคมในการช่วยเหลือ พัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในทุก ๆ ด้านโดยผ่านกิจกรรม และโครงการต่าง ๆ มากมาย

แต่กระนั้น ยังไม่สามารถทำให้ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” เบาบางลงเท่าที่ควร เพราะ “คนไทย” ยังขาดวินัยในการบริหารทางการเงิน ที่สำคัญ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ยังเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับสังคมไทยชนบทที่จะต่อจิ๊กซอว์ไปถึงปัญหาของสังคมเมืองตามมา

เหตุนี้เอง จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ค่อนข้างเป็นห่วงต่อปัญหาดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาแรก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย หากยังมองว่าถ้าเราไม่หยุดยั้งต่อปัญหาดังกล่าว อาจทำให้สังคมชุมชน สังคมชนบท และสังคมเมืองบางกลุ่มอาจไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ จนอาจลามเป็นปัญหาในระดับประเทศต่อไปในอนาคต

ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” คิด และร่วมมือกับ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เพื่อต้องการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะเรื่องการดำรงตนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากระตุกต่อมคิด เพื่อให้ประชาชนคนไทยหวนกลับมามองการใช้ชีวิตที่ถูกทำนองครองธรรมอีกคำรบหนึ่ง

กระทั่งกลายเป็นงานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปีในชื่อว่า “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ที่ไม่เพียงจะอธิบายถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หากยังพูดถึงการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้

โดยงานสัมมนาจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2562 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.

ที่ไม่เพียงจะมี “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประสบการณ์ 5 ทศวรรษ สืบสานแนวพระราชดำริ”

หากยังมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันโครงสร้างเศรษฐกิจไทย”

ต่อจากนั้นจะมีการสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ซึ่งจะมี “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) “ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และ “ปริโสทัต ปุณณภุม” รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มาร่วมสัมมนาในภาคเช้า

ส่วนภาคบ่ายจะมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทตลาดทุนสร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับสังคมยั่งยืน” โดย “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากนั้นจะมีการสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “หุ้นส่วนสร้างภูมิคุ้มกันสังคมยกระดับชุมชนยั่งยืน” ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย “ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ “ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่าย Sustainable Development บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ “สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

ฉะนั้น ทุกหัวข้อจะมีความเข้มข้นตามดีกรีของผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ถึงตรงนี้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” จึงเล่าให้ฟังถึงเบื้องหน้า และเบื้องหลังในการจัดสัมมนาครั้งนี้ให้ฟังว่าตลอดเวลา 9 ปี นับจากก่อตั้งมูลนิธิ และสถาบันปิดทองหลังพระฯมีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยงบประมาณรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 275,107 ไร่ และประชาชน 79,022 ครัวเรือนได้รับน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร

“ขณะที่ประชาชนจำนวน 4,536 ครัวเรือนในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่าน, ขอนแก่น, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, อุทัยธานี และเพชรบุรีมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าจากงบประมาณในการพัฒนา ดังนั้น หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงประชาชนพลเมืองเอาจริงเอาจังกับแนวพระราชดำริ เชื่อว่าประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิต และความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป”

“ผมจึงมองว่าการทำเกษตรแนวใหม่ สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนางานหัตถกรรม ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนเรื่องพื้นที่แห้งแล้ง เราต้องสร้าง และซ่อมฝาย ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมคือการพัฒนาการปลูกทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จนทำให้มีคุณภาพดีขึ้น เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าใน 7 หมู่บ้านของจังหวัดยะลา, ปัตตานี และนราธิวาสต่างมีหนี้สินรวมกันถึง 73.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นครัวเรือนละ 60,652 บาทในปี 2561”

“ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกทุเรียนให้กับเกษตรกร ซึ่งจากเดิมเขาเคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นการขายแบบคัดเกรด แต่พอเราเข้าไปส่งเสริมปรากฏว่าเขาขายทุเรียนได้กิโลกรัมละ 90 บาท ตรงนี้ไม่เพียงทำให้เกษตรกรชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที หากยังทำให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย”

ฉะนั้น ต่อจากนี้ไปในระหว่างปี 2564-2568 มูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงกำหนดแผนงานใหม่เพื่อสนองพระราชปณิธาน แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงภารกิจการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการแก้ปัญหายาเสพติดบริเวณชายแดนแถบภาคเหนือ

ทั้งนั้นเพราะ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” มองว่าปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้มีมายาวนาน และประชาชนต่างได้รับความทุกข์ และความต้องการอย่างมากในการพัฒนาเรื่องการทำมาหากิน ในขณะที่ทางภาคเหนือเป็นทางผ่านของยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ

“ซึ่งหากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตรงนี้จึงเป็นการช่วยลดด้านอุปสงค์ และตอนนี้ผมในฐานะประธานกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระจึงจับมือกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการทุ่มเทการขยายผลแนวทางการพัฒนาตามแนวทางศาสตร์พระราชามากว่า 40 ปี ด้วยสไตล์ของปิดทองหลังพระ”

“ผมเชื่อว่าการโฟกัสในการยกระดับคุณภาพชีวิตชายแดนใต้ จะกะเทาะใจกลางปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกยาวนาน ตรงนี้เป็นงานที่ท้าทายผมอย่างมาก และผมตั้งใจว่าจะต้องทำให้ได้ในชีวิตนี้ เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจะมุ่งเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิด การลงมือทำให้มากที่สุด และเราจะทำหน้าที่เพียงผู้สนับสนุน”

“และเฝ้ามองความสำเร็จของพวกเขาอยู่ห่าง ๆ”

อันเป็นคำตอบของ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ที่ทุกคนสามารถไปร่วมรับฟังฉบับเต็มได้ที่งานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปีแต่จะต้องเข้าไปลงทะเบียนก่อนที่ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/mtc9/

เท่านั้นเราก็จะเข้าใจกับคำว่า “ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน”