แก้ไขปัญ​หาหนี้เกษตรกร​ 3 ขั้นตอน​ตามพระราช​ดำริ

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และอดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในงานสัมมนา“แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน”ถึงต้นเหตุหนี้ของเกษตรกรว่า เมื่อ 38 ปีที่แล้วเกษตรกรไม่ได้กู้เงินมากมาย และสามารถชำระหนี้ได้ดี แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 คนไทยกู้เงินกันมากขึ้น กู้ไปจนถึงต่างประเทศ

“แต่ปัญหาเกษตรกรสมัยนั้นไม่ซับซ้อนเท่าตอนนี้ ปัญหาตอนนั้นเริ่มจากแนวโน้มที่ลูกหลานของชาวเกษตรกรไม่อยากทำการเกษตร และพ่อแม่เองก็ไม่อยากให้ลูกทำ เลยกู้เงินส่งลูกเรียนปริญญา พอเศรษฐกิจล่มสลาย หลายบริษัทปิดตัว คนจบปริญญาเลยตกงานแล้วกลับไปหาพ่อแม่ และครอบครัวไม่มีรายได้พอจ่ายหนี้ และละเลยการจ่ายดอกเบี้ย”

ต้นเหตุของปัญหาหนี้ของเกษตรกรทำให้ผมพยายามหาทางแก้ นึกถึงความรู้ที่ไปร่ำเรียนมาจากศาสตราจารย์ชาวต่างชาติ ตอนผมไปเรียนที่ Wharton School of the University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา แต่ก็หาวิธีแก้ไม่ได้ จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่ปวงชนชาวไทยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผมเลยนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่า วิธีแก้ไขต้องทำเป็นขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง ทำให้ชาวเกษตรกรพออยู่พอกิน สอง ชุมชนต้องร่วมกันคิด หาปัญหาร่วมที่ต้องการจะแก้ไข สาม ขยายผลทางธุรกิจ ร่วมมือกับภายนอก

ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีภูมิคุ้มตัวเอง มีทักษะการจัดการ รู้จักปรับตัวเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญพ่อค้าคนกลางต้องทำการค้าอย่างเป็นธรรม และสถาบันการศึกษาต้องผลักดันข้อมูลวิจัยมาใช้จริง