“ซัมซุง” ส่งต่อภูมิปัญญา ใช้ไอทีบันทึกชาติพันธุ์ม้ง

การส่งต่อความรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่งดงาม ผ่านการบอกเล่าของคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ อาจทำให้บางรายละเอียดอาจหล่นหายไปได้ โจทย์นี้ทำให้ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด มีแนวคิดที่จะเก็บรายละเอียดของชาติพันธุ์ม้ง ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ความถนัดขององค์กร นั่นคือ ความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างองค์การยูเนสโก และสำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
ภายใต้โปรเจ็กต์ “Hack Culture” กะเทาะเปลือกวัฒนธรรม : การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรี และรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น (Hack Culture : Digital Solutions to Empower Woman & Safeguard Traditional Crafts)

“วิชัย พรพระตั้ง” รองประธานที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิกส์ จำกัด ระบุว่า ภายใต้โปรเจ็กต์ดังกล่าวจะมีกิจกรรม 2 เรื่องหลัก คือ 1) รักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน และ 2) สร้างประโยชน์ให้คนในชุมชนด้วยการนำผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง บนดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับการอบรมให้สามารถใช้เทคโนโลยีมาสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้นำพนักงานจิตอาสาจากสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเกาหลีใต้รวมกว่า 30 คน

ภายใต้โปรเจ็กต์ “Samsung One Week” โดยจิตอาสาดังกล่าวจะใช้เวลาตลอด 1 สัปดาห์เพื่อให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี และเพื่อให้ตลาดเข้าถึงสินค้าของชนเผ่าม้งได้ง่ายขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์และสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น “วิชัย” ยังขยายภาพของโปรเจ็กต์ครั้งนี้ให้ชัดขึ้นอีกว่า ซัมซุงต้องการต่อยอดใน 2 ประเด็น คือ คุณค่าวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามา “จัดเก็บ” เพื่อให้ความรู้กับคนรุ่นหลังไม่ถูกวัตถุใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกลืนกินหายไป และเพื่อให้ชุมชนยั่งยืนจึงต้องสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่

“ถามว่าซัมซุงจะสร้างโอกาสให้กับชาวม้งได้อย่างไร คำตอบคือ ซัมซุงมอง 2 เรื่องหลักที่ควรดำเนินการ คือ ช่วยสร้างดิจิทัล แพลตฟอร์ม และช่วยชี้ช่องทางการทำตลาด นอกจากนี้ ยังได้นำผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจรวม 10 คนเข้ามาช่วยเป็นแม่แบบ และแนะนำการทำธุรกิจท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ พันธมิตรอย่างยูเนสโกยังมองว่าจะใช้โมเดลดอยปุยนี้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต”

ผลงานดังกล่าวนี้ “วิชัย” บอกอีกว่า เป็นโปรเจ็กต์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจด้วย เนื่องจากเมื่อนำผู้หญิงชาวม้งมาเข้ารับการอบรมแล้ว ยังนำเสนอผลงาน ที่เรียกว่า “pitching” ซึ่งจะช่วยให้มองภาพได้ชัดเจนว่าจะรักษาและส่งต่อภูมิปัญญาของชาวม้งอย่างไร เรามองโปรเจ็กต์นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ 1 สัปดาห์ เราได้เห็นทั้งช่องว่างระหว่างความเป็นจริงและความคาดหวัง ทำให้ชาวม้งได้เรียนรู้ คำว่า starting เป็นอย่างไร

“ประโยชน์ คือ เป็น platform ที่ดี กลุ่มเป้าหมายเข้าใจคำว่าเทคโนโลยีมากขึ้น สามารถนำไปขยายผลต่อได้ อาจจะต่อด้วยกะเหรี่ยง และอื่น ๆ ได้อีก และมองอีกโจทย์ สิ่งสุดท้ายคือ ทางออกจะต้องนำไปสู่ความยั่งยืนที่ท้าทาย คือจบงานแล้วชาวม้งเดินหน้าต่อไปได้ เพราะโอกาสบนโลกใบนี้ยังมีอีกเยอะ”

ด้าน “ดร.ซุง บี แฮน์” หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก ระบุว่า เป้าหมายของยูเนสโกต้องการสร้างสันติภาพ ความเท่าเทียม การศึกษาและวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งก่อนหน้าได้เริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่บนดอยปุย พบว่าชาวม้งมีความสามารถในด้านหัตถกรรมที่มีศักยภาพจะพัฒนาให้เป็นธุรกิจได้ และยังมองว่าควรสร้างโอกาสการส่งผ่านความรู้ วัฒนธรรม หัตถกรรมให้กับคนรุ่นหลัง

“เพราะปัจจุบันโลกถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การสืบทอดหลาย ๆ อย่างลดลง แต่หากนำเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เข้ามาผนวกไว้ด้วยจะทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น แต่เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้พวกเขามีรายได้ต่อเนื่องแม้จะไม่ใช่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวก็ตาม”

“เราพบว่าคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ม้งในช่วงอายุ 17-18 ปี ลดความสนใจในวัฒนธรรมชาติพันธุ์ลดลง อย่างงานหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวก็สนใจลดลง และหัตถกรรมส่วนใหญ่ใช้เองแต่เมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นจึงผลิตขายแต่ใช้เวลานาน ฉะนั้น จึงค่อนข้างยาก แต่เรามองว่าสินค้าของชาติพันธุ์ม้งมีความแตกต่างและไม่เหมือนใคร จึงควรนำจุดแข็งที่ว่านี้มาช่วยทำการตลาดได้ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ เพื่อรักษาสมดุลเอาไว้”

“เพราะดอยปุยเหมือนเป็นเมืองหลวงของม้ง และยังเป็นต้นกำเนิดอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการศึกษา โรงเรียน ศาสนา ฯลฯ แต่ชาวม้งที่เป็นคนรุ่นใหม่อาจยังไม่เข้าใจบริบทของตัวเองอยู่มาก ดังนั้น ซัมซุงจึงต้องมีคนเข้ามาช่วยเก็บบันทึกภูมิปัญญา และคาดหวังว่าสิ่งที่ทำในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และจะมีการขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต”