3 ภาคีรัฐ สานต่อองค์กรแห่งความสุข ต่อยอดไปยังแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี

สสส. และสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการ “โครงการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมองค์กรแห่งความสุข” ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้สามฝ่าย เพื่อวางรากฐานสู่ต้นแบบแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระยะยาว

  สสส. หนุนงบประมาณ วัดคุณภาพชีวิตและความสุขในที่ทำงาน

“สุจิตต์ ไตรพิทักษ์” ที่ปรึกษากรรมการบริหารแผน 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือโครงการเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรภาครัฐ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ เป็นการขยายผลความสำเร็จต่อเนื่องหลังจากที่กระทรวงได้ดำเนินการครั้งแรกในปี 2556 และได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ สสส. ที่ต้องการสนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การมีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่แจ่มใส และสติปัญญาที่ดี อันจะนำไปสู่สุขภาวะสังคมในอนาคต ซึ่งการจะเริ่มสร้างสังคมให้มีความสุขนั้น ส่วนหนึ่งยังจะต้องเริ่มจากการสร้างความสุขในสถานที่ทำงาน หรือที่เรียกว่าสุขภาวะองค์กร ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่แนวทางภาคปฏิบัติร่วมกันได้ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรศาสนา ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้จะต้องไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะสังคมและของประเทศชาติ ได้ในที่สุด

“สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณส่วนหนึ่งในระยะแรก และเครื่องมือองค์ความรู้ โดยมีสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องพร้อมสำรวจปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการสร้างสุขภาวะองค์กร ผ่านดัชนีชี้วัดการประเมินสุขภาวะองค์กร HOA. (Healthy Organization Assessment) ตัวมาตรวัดคุณภาพชีวิตและการทำงานของบุคลากร”

เรามุ่งมั่นให้โครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบการสร้างสุขภาวะองค์กรในระดับกระทรวง ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่จะต่อยอดไปยังแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีในการพัฒนาบุคลากร จากการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปยังแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในระยะยาวว่าหากสามารถสร้างสุขภาวะองค์กรได้อย่างถาวรแล้ว  ข้าราชการและบุคลากรจะมีสุขภาวะทั้งร่างกาย จิตใจที่ดีจะนำไปสู่การทำงานด้านบริการราชการที่มีประสิทธิภาพด้วยความสุข และอาจจะส่งผลให้ปัญหาการคอรัปชั่นลดลงไปด้วย

  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เดินหน้าปั้นนักสร้างสุของค์กร

“วิจารย์ สิมาฉายา” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงนามโครงการเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรเริ่มขึ้นจากส่วนกลางครั้งแรกในปี 2556 และขยายผลการจัดทำโครงการ/กิจกรรมย่อย ไปยังหน่วยงานในสังกัดระดับภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ

“ส่งผลให้บุคลากรในสำนักงานปลัดกระทรวงมีเครือข่ายในการประสานงาน การดำเนินงานมีความคล่องตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างนักสร้างสุของค์กรให้เกิดขึ้นจริงจำนวนทั้งสิ้น 140 คน ต่อมาในปี 2560 กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง  ได้จัดทำโครงการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของกรมควบคุมมลพิษ (Happy WorkPlace@PCD) ซึ่งสามารถสร้างนักสร้างสุของค์กรให้เกิดขึ้นจริงจำนวนทั้งสิ้น 120 คน”

สำหรับความร่วมมือล่าสุดในครั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำโครงการเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรมาขยายผลการดำเนินกิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่องในระดับกระทรวง โดยจะมีหน่วยงานในสังกัดระดับกรมทุกกรมจำนวน 10 กรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 หน่วยงาน และ องค์การมหาชน จำนวน 2 หน่วยงาน มีจำนวนข้าราชการและบุคลากรทั้งสิ้น 41,414 คน

โดยวางแผนระยะเวลาในการดำเนินการโครงการประมาณ 2 ปี (พ.ศ. 2562-2564) และคาดว่าจะสามารถสร้างนักสร้างสุของค์กรตัวคูณได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นผู้นำในการเสริมทัพขับเคลื่อนแนวคิดการเสริมสร้างองค์กรสุขภาวะ

  จุฬา ชู ‘โมเดล 5-4-3’ ขับเคลื่อนองคาพยพ ‘สุขภาวะองค์กร’

“ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน” อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สสส. และสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ได้นำผลการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาสู่แนวทางปฏิบัติ (โมเดล) สร้างสุขภาวะองค์กรภายใต้สูตร “5-4-3” มาร่วมใช้ในกิจกรรมสร้างสุขภาวะองค์กรกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุสู่ต้นแบบสุขภาวะองค์กร (Healthy Organization) ระดับประเทศได้อย่างเหมาะสม

โมเดล 5-4-3 จะประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้ ในขั้นแรกหลัก5 ส. ประกอบด้วย 1.สถานการณ์ ที่ควรศึกษาสำรวจวิเคราะห์ข้อมูล เข้าใจความต้องการบุคลากรและปัญหาในองค์กร 2.สร้างแกนนำขับเคลื่อนต้องมีเครือข่ายและบุคลากรที่ดำเนินการเตรียมแผนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ 3.สนับสนุนพื้นที่คิด เครื่องมือที่ทำให้เกิดกลุ่มชมรม เปิดทางเลือกที่หลากหลายตามความต้องการและงบประมาณที่มี 4.ส่งเสริมสู่การปฏิบัติภายในให้เกิดนโยบาย อาจมีคำสั่งเพื่อให้เกิดการผลักดันที่เป็นรูปธรรม หรือแต่งตั้งกรรมการให้ขยับช่วยกันทำ 5. สื่อสาร เพื่อนำเสนอ เผยแพร่ สร้างความเข้าใจ ตระหนักรู้และบอกเล่าความสำเร็จเป็นระยะ ๆ ทั้งในระดับบุคลากรและระดับผู้บริหาร

จากนั้น เข้าสู่กระบวนการ 4 ต. ประกอบด้วย 1.ติดตั้งความรู้การใช้เครื่องมือ อบรมและฝึกทักษะปรับสู่คุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ให้กับบุคลากรทุกระดับและแกนนำที่เรียกว่านักสร้างสุของค์กร (นสอ.) 2.ติดตามเพื่อบ่มเพาะ (nursing) ภาคีในการดำเนินงาน เน้นการตรวจเยี่ยมให้การปรึกษาคำแนะนำเพื่อลดหรือแก้ปัญหา 3.เติมเต็มสิ่งที่ยังขาดด้วยวิธีการโค้ช (coaching) ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จและ 4. ต่อยอด คือการยกระดับสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบที่มีมาตรฐาน เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมนำสู่องค์กรสุขภาวะต่อไป

โดยเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นความสำเร็จจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.สู่องค์กรสุขภาวะอย่างถาวร (change for good) 2.สู่การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐกับหน่วยงานกำกับนโยบาย (network integration) 3. สู่นโยบายระดับชาติ (national agenda) มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว

สำหรับระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลเป็นไปตามเป้าหมายโครงการฯ คาดใช้ระยะเวลา 2-3 ปี โดยนับจากวันเริ่มนำโครงการเข้าสู่แผนเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง

พลังในการร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงาน ท้ายสุดย่อมส่งผลไปสู่การพัฒนาประเทศ เพื่อคนไทยในภาพรวม