แก้ปัญหาคนไอทีขาด ปรับหลักสูตรการศึกษา-จ้างพาร์ตไทม์

“เอ็กซ์พีริส (Experis)” บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความต้องการแรงงานด้านไอที โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 350 บริษัท ร่วมตอบแบบสอบถามพบว่ากลุ่มงานทางด้านไอทียังมีความต้องการสูง ทั้งยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพเนื่องมาจากการผลิตบัณฑิตที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ทั้งนั้น ภาคธุรกิจและภาคการศึกษาจึงต้องร่วมมือกันในการสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ความต้องการ เพื่อลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรป้อนตลาด และใช้โมเดลการจ้างงานแบบพาร์ตไทม์หรือฟรีแลนซ์ในการสร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน อันจะเป็นการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“วรรณชัย ไพบูลย์บารมี” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยชั้นนำทั้ง Gartner และ PWC Global ที่ระบุว่า ความก้าวล้ำและการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่าง autonomous things, augmented analytics, AI driven development, immersive experience, digital twin, blockchain และ quantum computing ส่งผลกระทบในวงกว้างกับทุกภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลลิบรา (Libra) ของเฟซบุ๊ก

ในส่วนของประเทศไทยแนวโน้มและทิศทางด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเทคโนโลยี ทั้ง AI, robotic process automation (RPA), big data analytics, internet of things, FinTech อย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นเทรนด์ของโลกแล้ว ยังมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้ภาครัฐและเอกชนศึกษาและส่งเสริมด้วยการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าในการต่อยอดการสร้างนวัตกรรมการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า

“จากการสำรวจตลาดแรงงานในสายงานไอทีของเอ็กซ์พีริสพบว่า สถานการณ์แรงงานในสายงานด้านไอทียังคงอยู่ในภาวะขาดแคลนสูง เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นทำให้การทำงานด้วยทักษะแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ จึงต้องมีการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในองค์กร ซึ่งปัจจุบันบุคลากรด้านนี้ในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดอีกด้วย”

อันนี้ไปสอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำนวน 5.7 แสนคนต่อปี และทำงานตรงสายอาชีพเพียง 15% เท่านั้น โดยอีก 81% ไม่ได้ทำงานในสายไอที ที่สำคัญในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 5,000 คน

“วรรณชัย” กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่หลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมแล้ว บุคลากรผู้มีทักษะความสามารถทางด้านไอทีและเทคโนโลยียังถูกซื้อตัวให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มที่มีประสบการณ์จะเลือกออกไปประกอบธุรกิจของตัวเอง

“ฉะนั้น บุคลากรด้านไอทีจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ก้าวตามทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการยกระดับทักษะ และการปรับทักษะในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้มีความหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าหลายองค์กรใช้วิธีเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง”

โดยผลสำรวจของแมคคินซีย์ ระบุว่า ภายในปี 2030 แรงงานกว่า 375 ล้านคน จำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเอง และเสริมทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับการทำงานในอนาคต การพัฒนาทักษะนอกเหนือจากทักษะด้านความรู้ทางเทคนิคแล้ว ควรเร่งพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องของการฝึกอบรมทักษะทางอารมณ์ควบคู่ไปด้วยกัน เพราะสายงานไอทีในยุคดิจิทัล เป็นงานที่ต้องทำงานใกล้ชิด และมีความเข้าใจเชิงธุรกิจมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและเอกชนจึงต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและยาวเพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการในการจ้างงาน

“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงาน มองว่า ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับโครงสร้าง และหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับเทรนด์ของเทคโนโลยี เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิรูประบบการศึกษาให้ผลิตบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดทิศทางสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มทักษะเทคโนโลยีทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

“ที่สำคัญต้องร่วมกันลงทุนสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ในอเมริกา เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการใช้งานจริงและสอดคล้องกับความต้องการของทุกอุตสาหกรรม ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงโอกาสและการเติบโตในสายงานไอที “วรรณชัย” มองว่า เนื่องจากตลาดงานด้านไอทีของไทยยังอยู่ในภาวะขาดแคลนหากเทียบกับความต้องการโดยรวม จึงเป็นโอกาสสำหรับบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์จะสามารถเติบโตในสายงานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเติบโตในระดับสายบริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีโอกาสได้รับงานโครงการใหม่ ๆ เข้ามา ทั้งยังจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์ตลาด หากเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ขาดแคลนสูง

“โดยทั่วไปสายงานไอทีเมื่อเปลี่ยนงานจะได้รับฐานเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระดับ 20-25% แต่หากมีทักษะที่เป็นที่ต้องการอย่าง AI/machine learning, robotic process automation, big data analytical, IOT, blockchain แล้วจะมีโอกาสได้รับการเสนอรายได้ขึ้นไปในระดับ 30-40% และถ้าเป็นการจ้างชั่วคราวหรือสัญญาจ้างตามโครงการระดับรายได้จะขึ้นไปได้ถึง 50-60% อีกด้วย”

“จากความต้องการตำแหน่งงานด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเดือนในกลุ่มทักษะเฉพาะ มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายงานไอที และบางสายงานอยู่ในภาวะขาดแคลนไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน ซึ่งการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้โมเดลการจ้างงานแบบพาร์ตไทม์หรือฟรีแลนซ์จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นของแรงงานกลุ่มนี้ โดยเห็นได้จากงานที่ปรึกษาทางด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจทางด้านการให้บริการดิจิทัล แบงกิ้ง รวมทั้งการทำงานแบบสัญญาจ้างรายโปรเจ็กต์และรายเดือนที่มีการจ้างงานลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้น”

ถึงตรงนี้ “วรรณชัย” บอกว่า สำหรับสายงานที่มีความต้องการสูงในรูปแบบของการจัดหาพนักงานไอที สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ กลุ่มงานที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ และระบบ ERP, งานพัฒนาซอฟต์แวร์, งานไอทีซัพพอร์ต และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกลุ่มงานด้านอีคอมเมิร์ซ

“ปัจจุบันองค์กรขนาดกลางและใหญ่มีการนำเข้าบุคลากรไอทีจากต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยเฉพาะสายงานบริหารระดับสูง และตำแหน่งที่ปรึกษาที่มีทักษะเชิงลึกเข้ามาบริหารจัดการงานโครงการต่าง ๆ โดยเป็นกลุ่มบุคลากรจากจีน, อินเดีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อเมริกา และยุโรป ขณะที่สายงานระบบ SAP/ERP consultant และสายงานโปรแกรมเมอร์จะนำเข้าบุคลากรจากอินเดีย, จีน และเวียดนาม”

“ในอนาคตต่อไปแมนพาวเวอร์กรุ๊ป มองเห็นโอกาสที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา ถาครัฐ และภาคเอกชนในการดำเนินโครงการ Tech Acdemy เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรไอทีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเติมเต็มความต้องการของตลาด ทั้งยังเป็นโครงการที่มาช่วยคัดสรร และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับบริษัทต่าง ๆ”

อันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านไอทีอย่างยั่งยืน