ภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับหุ้นส่วนสร้างชุมชนยั่งยืน

ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ของประชาชาติธูรกิจ เมื่อเร็วๆนี้ มีการเสวนาพิเศษหัวข้อ “หุ้นส่วนสร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับชุมชนยั่งยืน”

โดยมี “ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร” ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน “ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่าย Sustainable Development บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ “สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานขององค์กร ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไทย

ปั๊มชุมชนตัดคนกลาง

“ยอดพจน์” กล่าวว่า บางจากฯได้นำความเชี่ยวชาญเชิงธุรกิจมาช่วยพัฒนาชุมชนในรูปแบบปั๊มน้ำมันชุมชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “น้ำมันแลกข้าว” ที่เริ่มต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี รองรับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภาคการเกษตร เหมือนนำผู้ซื้อ-ผู้ขายมาเจอกัน ไม่ต้องผ่านคนกลาง ช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน เป็นโมเดลที่ขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ ด้วย

ทั้งยังมีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนกว่า 200 แห่ง โดยนำข้าวจากโครงการน้ำมันแลกข้าวมาต่อยอด ทั้ง 2 ส่วนจะถือเป็นการดำเนินการที่ส่งเสริมกันและกัน ซึ่งบางจากฯนำแนวคิดสำคัญในการดูแลสังคมที่จะยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นรากฐานในการดำเนินการ

ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันสหกรณ์ชุมชนมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนยอดขายถึง 25% โดยชุมชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนผ่านสหกรณ์ของแต่ละชุมชน และสถานีบริการน้ำมันจะมีพัฒนาการจากธุรกิจขนาดเล็ก ขยายเป็นสาขาใหญ่ พร้อมกับเพิ่มเติมสิ่งอื่น ๆ เข้าไป ที่เน้นรองรับความต้องการของคนในพื้นที่ และส่วนของการจัดหาพนักงานก็เลือกคนในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก

“ในแง่ของธุรกิจบลูโอเชียน ไม่ใช่น้ำมันแล้ว แต่ฐานลูกค้าอย่างเกษตรกรในแต่ละชุมชนทำให้รู้ถึงดีมานด์ที่ชัดเจน ทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ส่วนพนักงานในปั๊ม เราจ้างคนในพื้นที่นั้น ๆ เข้ามาทำ จนถึงวันนี้ปั๊มชุมชนเข้มแข็ง จากปั๊มขนาดเล็ก วันนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น สหกรณ์ชุมชนก็ได้รับประโยชน์ด้วย”

“บางจากฯยังสนับสนุนสินค้าชุมชน นำมาวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ สพาร์ (SPAR) รวมถึงร้านค้าของพันธมิตรด้วย ทั้งนี้ บางจากฯยังมองเห็นโอกาสที่จะร่วมมือกับสหกรณ์ชุมชน ทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ภาครัฐดำเนินการในโครงการโซลาร์เสรี”

โมเดลช่วยเกษตรกรยั่งยืน

“อรุษ” กล่าวว่า ในช่วงแรกของการทำสามพรานโมเดลไม่ได้มองในมุม CSR แต่มองเรื่องธุรกิจที่อยากหาจุดเด่นให้กับรีสอร์ตสวนสามพราน จ.นครปฐม ของตัวเอง และผมสนใจถึงสาเหตุที่เกษตรกร 20 กว่าล้านคนในประเทศไทยยากจน จนได้คำตอบว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถกำหนดราคาขายของตัวเองได้ เพราะต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ผมจึงทำข้อตกลงกับเกษตรกรแบบที่ทำให้ทั้งเกษตรกร และธุรกิจของผมอยู่ได้ โดยเราวางแผนการผลิตร่วมกัน ราคาผักผลไม้ที่ผมจ่ายตรงให้กับเกษตรกรมากกว่าราคาที่เขาขายผ่านพ่อค้าคนกลาง 3 เท่า ส่วนผมเองก็ได้สินค้าตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้น 9 ปีที่แล้ว เราขยายโครงการต่อด้วยการเปิดตลาดสุขใจ ใกล้กับรีสอร์ต เป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมียอดขาย 35 ล้านบาท โดยมีการเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% โดยมีจำนวนผู้ขายปีละประมาณ 60 ราย”

“การจะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ต้องไม่คิดว่าเราเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา เพราะการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับเงินทุน ถ้าวันไหนทุนหมดก็ไปต่อไม่ได้ แต่เราต้องคิดว่าเขาเท่าเทียมกับเรา และเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เพราะนี่คือรูปแบบของสามพรานโมเดล หรือธุรกิจเกื้อกูลสังคม คือ การสร้างความเชื่อใจทั้งห่วงโซ่อาหาร ทั้งความมั่นใจต่อเกษตรกร และความมั่นใจต่อผู้บริโภค”

“ทางภาครัฐให้ความสนใจในโมเดล และสอบถามว่ามีอะไรที่ระดับนโยบายจะช่วยได้ไหม ผมจึงบอกไปว่าภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ผมเคยสอบถามถึงเรื่องการให้ประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ตรงกับเกษตรกร ทางภาครัฐเองก็สนใจและนำกลับไปพิจารณา”

เซ็นทรัลสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

“ดร.ชาติชาย” กล่าวว่า วันนี้กลุ่มเซ็นทรัลเปลี่ยนการทำซีเอสอาร์ มาสู่การสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคม ผ่านกลยุทธ์ออกเป็น 4 ด้านหลัก และในวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ในกลยุทธ์ด้านที่ 1 ที่เป็นการศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดีของคน โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน และจ้างงานผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

“เพราะแต่เดิมการเข้าไปช่วยเหลือ และพัฒนาชุมชน สังคมจะเน้นเป็นส่วน ๆ เท่านั้น เขาเดือดร้อนอะไร อยากได้อะไร ก็จะไปช่วยเหลือในสิ่งนั้น และทำเพียงแค่วันเดียว หรือทำพิธีส่งมอบแล้วกลับ ตรงนี้ถือว่าไม่ยั่งยืน และเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านั้นไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น ฉะนั้น ทุกเรื่องทุกมิติที่จะทำ ต้องถามตัวเองว่า โครงการที่ทำอยู่นั้นมีความยั่งยืนหรือเปล่า”

“เรื่องความยั่งยืน เราเป็น business partner หรือเป็น partnership กับผู้ทำโครงการกับเรา และเขาเหล่านั้นต้องยืนอยู่บนขาของตนเอง ไม่ได้ให้ปลา แต่ให้เครื่องมือจับปลา ดังนั้น การสร้างงานให้กับโรงเรียน ชุมชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเซ็นทรัลจึงมองและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งยังต้องให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เลี้ยงตัวเองได้ และทำให้เขาเหล่านั้นเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ เพื่อทำงานในเชิงความคิดร่วมกันต่อไปได้”

“อย่างการจ้างงานคนพิการ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดบริษัทที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ซึ่งเซ็นทรัลมีพนักงาน 72,000 คน ในประเทศไทย ทำให้เราต้องจ้างผู้พิการ 720 คน ปัจจุบันเราจ้างไป 768 คน ราว 543 คน เป็นการจ้างตามมาตรา 53 เป็นพนักงานประจำ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพนักงานทุกคน ซึ่งเป้าหมายต่อไปของเรา คือ การจ้างงานผู้พิการให้ได้ 1,000 คน”

ไม่เพียงเท่านี้ “ดร.ชาติชาย” ยังบอกอีกว่า กลุ่มเซ็นทรัลยังเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้พิการในแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับเขาเหล่านี้ เพื่อให้เกิดศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกัน ด้วยการให้กลุ่มผู้พิการเป็นผู้ออกแบบ หรือกำหนดกิจกรรมตามความต้องการ ผ่านโครงการส่งเสริมสนับสนุนอาชีพ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อมีสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ออกมา เราให้ช่องทางของเซ็นทรัลในการช่วยจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนพิการอย่างยั่งยืน

“บทเรียนหนึ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลได้รับระหว่างการทำงานกับกลุ่มผู้พิการ ตลอดจนชุมชนอื่น ๆ คิดว่าการที่องค์กรต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือไม่ใช่ต้นทุนของตนเอง ฉะนั้น เราจึงต้องเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการขาย การคิดต้นทุน การทำการตลาด การพัฒนาต่าง ๆ ให้ครบวงจร เพื่อให้เขาเหล่านั้นทำธุรกิจเป็น การจะทำโครงการต่าง ๆ ไม่ใช่ทุกกลุ่ม ทุกชุมชนจะทำได้ แต่เราต้องเลือกกิจกรรม โครงการให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ชุมชน และสภาพของกลุ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเขาเหล่านั้น”

“ที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่ทำงานแบบครอบจักรวาล แต่จะเลือกทำโครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกสูง และเน้นการทำงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาในการทำงานด้านสังคม การส่งเสริมการศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดีของคนที่ว่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับผู้คนในสังคมอย่างรอบด้าน”

LPC พัฒนาสตรีด้อยโอกาส

“สุรัสวดี” กล่าวว่า ธุรกิจ LPC เกิดจากการตั้งคำถาม และระเบิดจากปัญหาเล็ก ๆ ที่เจอในธุรกิจบริการ และแม่บ้านที่ทำงานกับเรา จนค้นพบว่ารูปแบบขององค์กรไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ เพราะ LPC มีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มสตรีด้อยโอกาส ด้วยการจ้างเขาเหล่านั้นเข้ามาเป็นพนักงาน ซึ่ง LPN เป็นผู้ลงทุนหลัก ส่วนกำไรที่ได้จะไม่ปันผลมาให้ตนเอง แต่จะกลับคืนไปสู่พนักงานของ LPC ในรูปแบบค่าจ้าง ค่าตอบแทน ที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับการพัฒนาและยกระดับสตรีด้อยโอกาส LPC ดำเนินการผ่านภารกิจสร้างสุข 4 สร้าง อันได้แก่

1) สร้างรายได้ โดยพนักงาน LPC จะได้รับค่าจ้างมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่ 10%

2) สร้างโอกาส นอกจากการมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว เรายังสอนให้เขาเหล่านั้นตกปลาเป็น ไม่ใช่คอยรับแต่ปลา ด้วยการให้ความรู้ในเรื่องการนวด ซึ่งเหมาะกับศักยภาพของเขาเอง และตลาดมีความต้องการ เพื่อให้เป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้

3) สร้างศักดิ์ศรี โดยสร้างจากภายนอกมาสู่ภายใน ด้วยการทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับเรา โดยที่นี่จะมียูนิฟอร์มแบบเดียวกัน ที่ใส่ตั้งแต่ประธานบริษัท จนถึงแม่บ้าน ต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน ที่สำคัญ สวัสดิการต่าง ๆ โบนัสต่าง ๆ ทุกคนได้เท่าเทียมกัน ดีใจไปพร้อม ๆ กัน

4) สร้างความสุข ซึ่งถือเป็นความสุขทั้งสองฝ่าย สุขทั้งเป็นผู้ให้ และสุขที่ได้เป็นผู้รับ

“อย่างไรก็ตาม LPC จะยังคงมุ่งเน้นการทำงานซีเอสอาร์ในกระบวนการธุรกิจ ด้วยการจ้างงานกลุ่มสตรีด้อยโอกาส เพราะการที่เราทำให้เขาเรียนรู้ถึงศักยภาพ คุณค่าของตนเอง และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกภาคภูมิใจได้ในที่สุด ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในส่วนนี้เราจะยังดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

“ที่สำคัญ หากผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ มีความสนใจที่จะดำเนินวิสาหกิจเพื่อสังคม ไม่ต้องมองว่าตัวเองจะเป็นรายใหญ่ หรือรายเล็ก ซึ่งถ้ามีความพร้อม มีศักยภาพ มีทรัพยากรที่ดี สามารถลงมือทำได้เลย อย่าง LPC ที่เกิดการระเบิดจากจุดเล็ก ๆ ไม่ได้มองสเกลใหญ่ ๆ แต่เพียงการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ต้องอาศัยความใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อพัฒนาธุรกิจขึ้นมา อีกทั้งภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้ธุรกิจของเขาสามารถดำเนินไปได้อย่างยืนยาวขึ้น”


นับเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน