ลดหนี้ให้เกษตรกร ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำทาง

“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กล่าวถึงต้นเหตุหนี้ของเกษตรกร ในงานสัมมนาพิเศษ “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ว่าปัญหาตอนนั้นเริ่มจากแนวโน้มที่ลูกหลานของชาวเกษตรกรไม่อยากทำการเกษตร และพ่อแม่เองก็ไม่อยากให้ลูกทำ จึงไปกู้เงินส่งลูกเรียนในระดับปริญญา ดังนั้น พอเศรษฐกิจล่มสลาย หลายบริษัทปิดตัว คนจบปริญญาจึงพลอยตกงานแล้วกลับไปหาพ่อแม่ และครอบครัว แต่ไม่มีรายได้พอจ่ายหนี้ และละเลยต่อการจ่ายดอกเบี้ย

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่ปวงชนชาวไทยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพระองค์ตรัสว่าวิธีแก้ไขต้องทำเป็นขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) ทำให้ชาวเกษตรกรพออยู่พอกิน 2) ชุมชนต้องร่วมกันคิด หาปัญหาร่วมที่ต้องการจะแก้ไข และ 3) ขยายผลทางธุรกิจ ร่วมมือกับภายนอก ขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเอง มีทักษะการจัดการ รู้จักปรับตัวเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญพ่อค้าคนกลางต้องทำการค้าอย่างเป็นธรรม และสถาบันการศึกษาต้องผลักดันข้อมูลวิจัยมาใช้จริง”

“3 ขั้นตอนดังกล่าว ส่งเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีในสังคม และชุมชน ไม่ควรต่างคนต่างอยู่ และต้องมีอาชีพเสริมที่หลากหลาย ซึ่งใน 300 กว่าชุมชนต้นแบบที่ผมเข้าไปส่งเสริม มีผลลัพธ์ออกมาในทางที่ดี เช่น มีสถาบันการเงินชุมชน, สวัสดิการชุมชน, แผนชุมชน, ธนาคารต้นไม้, ธนาคารขยะ, ธนาคารความดี เป็นต้น”

ดังนั้น การแก้ไขเรื่องหนี้ของเกษตรกร จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาเป็นแนวทาง ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมหลักอยู่หลายส่วนที่เกษตรกรสามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และช่วยปลดหนี้ให้กับตนเอง ได้แก่

หนึ่ง อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าการเกษตร เพียงแต่ที่ผ่านมาเกษตรกรเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ และส่งให้บริษัทใหญ่ ๆ แปรรูป ทำให้ขาดรายได้ที่ตนเองสามารถสร้างได้ ผลตรงนี้ จึงต้องสร้างพวกเขาให้ได้รับการส่งเสริม และรู้จักการแปรรูป

สอง อุตสาหกรรมอาหารไทย เพราะอาหารไทยเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และแต่ละภูมิภาคมีจุดเด่นแตกต่างกัน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำอาหารขายเองได้

สาม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ ปัจจุบันเป็นยุคที่คนชอบไปทานอาหารนอกบ้าน และเช็กอินโชว์ตามโซเชียลมีเดีย เกษตรกรสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างร้านอาหาร หรือร้านกาแฟที่ดึงดูดคน และใช้ผลผลิตจากสวนของตัวเอง

สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือการสร้าง “คน” เพราะถ้าเราไม่สร้างคน สิ่งต่าง ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ ผลตรงนี้ จึงทำให้ต้องเสริมสร้างคนสู่วิถีพอเพียง สอนเกษตรกรให้รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เช่น ทำบัญชีครัวเรือน, ข้อมูลการผลิต นอกจากนั้น รัฐบาลควรมีเครื่องมือที่เหมาะสม และต้องส่งเสริมเกษตรกร หรือผู้ผลิตให้มีนวัตกรรม ผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับเทรนด์ในปัจจุบัน เช่น สินค้าที่เหมาะกับผู้สูงวัย เป็นต้น

ถ้าเราสร้าง “คน” สำเร็จ เศรษฐกิจก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน