5 องค์กรดันไทยสู่เวทีโลก ผนึกกำลังทำวิจัยก้าวทันดิสรัปต์

จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2562 ที่ระบุว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในอีก 4 ปีข้างหน้า จำนวนงานกว่า 75 ล้านตำแหน่งจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ขึ้นแทนกว่า 113 ล้านตำแหน่ง จึงทำให้ “ทุกองค์กร” รวมถึง “คน” ที่เป็นแรงงาน ต้องเตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนในตลาดแรงงานส่วนใหญ่ยังคงทำงานในกลุ่มเกษตรกรรม

และจากความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคตที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ไม่สามารถนำเอารูปแบบ ขั้นตอน วิธีการ หรือตำราเดิม ๆ มาใช้ตอบโจทย์ความต้องการ การแก้ปัญหาในวันนี้และวันพรุ่งนี้ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกคิด ถูกเขียนมาจากอดีต ที่ไม่มีโจทย์ซับซ้อนอะไรมากมาย

หรือแม้กระทั่งงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวกับบริบทของแต่ละประเทศ หากแต่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กรในภาพรวมได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการรวมกันของบริษัทชั้นนำของไทยอย่าง เอพี ไทยแลนด์, เอไอเอส, ธนาคารกสิกรไทย และมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง “มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด” ในการร่วมกันศึกษา วิจัย เพื่อหาแนวทางพัฒนาคนและองค์กร รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อการแข่งขันบนเวทีโลก ภายใต้ชื่อ “The Stanford Thailand Research Consortium” โดยการดูแลและสนับสนุนจาก SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน

โดยใน The Stanford Thailand Research Consortium จะมีคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกว่า 20 คน จาก 9 สาขาวิชา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะบริหารธุรกิจ เพื่อศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกเต็มรูปแบบภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุม 4 มิติองค์ความรู้เพื่ออนาคต ได้แก่

หนึ่ง การยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลก

สอง การนำเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

สาม เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

และสี่ การส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

“พอล มาร์คา” ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า การรวมตัวกันเพื่อศึกษาวิจัยในครั้งนี้เกิดจากการเล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงทำให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคิดค้นวิธีการเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว ซึ่งพบว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่าง ๆ ในแต่ละประเทศให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับยุคดิสรัปชั่นได้อย่างทันท่วงที

“และจากการติดตามสังเกตสถานการณ์โลกมาอย่างยาวนาน พบว่าประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการทำวิจัยอย่างเจาะลึกเป็นจำนวนหลายหมื่นงานวิจัยต่อปี เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาที่องค์กรกำลังเผชิญ รวมถึงการคิดค้นและเร่งพัฒนาองค์กรเพื่อต่อสู้กับความท้าทายใหม่ที่กำลังเข้ามา จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด”

“ในส่วนประเทศไทยนั้น เรามองว่ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราได้เริ่มเข้ามาเพื่อศึกษาระบบต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา จึงเห็นถึงความเป็นไปได้ในการที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนไทย รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย

โดย The Stanford Thailand Research Consortium จะเป็นการรวมกลุ่มทำวิจัยระดับโลกที่เจาะลึกเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมี SEAC เป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการดำเนินการหัวข้อวิจัย ซึ่งเป้าหมายระยะยาวใน 2 เรื่องหลัก ๆ คือ “doing good” ซึ่งจะนำเอาข้อสรุปและผลสำเร็จของงานวิจัยมาต่อยอดในการพัฒนา และยกระดับศักยภาพ มาตรฐานของประเทศไทยในบริบทใหม่ ๆ รวมถึง “doing well” ที่เน้นด้านความสนใจของสมาชิก เพื่อพัฒนาความสามารถของบริษัท และผลักดันศักยภาพคนในองค์กร ทั้งเรื่ององค์ความรู้และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ให้พร้อมสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจบนเวทีโลกได้

“ทั้งนี้ ในการเลือกหัวข้องานวิจัยนั้น ทั้ง 3 บริษัทมีความมุ่งหวังตรงกันในเรื่องการพัฒนาและยกระดับประเทศไทยในหลากหลายแง่มุม โดยเอไอเอสจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เอพี ไทยแลนด์ จะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถของคนและการศึกษา ธนาคารกสิกรไทยจะเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า หน้าที่หลักของ SEAC ใน The Stanford Thailand Consortium จะครอบคลุม 3 ส่วน ได้แก่ การทำความเข้าใจกับบริษัทที่จะเข้ามาร่วมใน consortium โดยมุ่งเน้นองค์กรที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ และต้องการที่จะพัฒนาบริษัทตัวเอง เพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปในทางที่ดีขึ้น

“การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบท (context) ของบริษัทนั้น ๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการขององค์กรที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับบริษัทของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสากล ตลอดจนปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ เพื่อที่เราจะได้สรุปเรื่องราวต่าง ๆ แล้วส่งให้ทีมงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในการออกแบบในเรื่องของหัวข้อวิจัยที่จะตอบโจทย์ได้”

“และสุดท้ายคือ การทำงานร่วมกับ 3 องค์กร ทั้งเอไอเอส เอพี ไทยแลนด์ ธนาคารกสิกรไทย และที่กำลังจะเข้ามาร่วมใหม่อย่างไทยยูเนี่ยน โดย SEAC จะทำความเข้าใจว่าแต่ละบริษัทกำลังมีบริบทใด ๆ เพื่อนำเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงส่งผ่านไปยังมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและทีมอาจารย์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับการทำวิจัยในภาพที่เจาะลึกสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ”

“The Stanford Thailand Research Consortium จึงถือเป็นการทำวิจัยที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในบริบทของแต่ละบริษัท เพื่อช่วยในการหาคำตอบสำหรับยุคที่การแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะพัฒนาความสามารถขององค์กร ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพของคนไทยแล้ว ยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว เพราะจากข้อมูลสถิติทั่วโลกพบว่าประเทศที่ลงทุนและให้ความสำคัญกับการทำวิจัยมากเท่าไหร่ จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ”

“อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมายในยุคปัจจุบัน คุณภาพของคนคือประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ และคำว่า best practice ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จะไม่สามารถตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ ฉะนั้นแล้วทุกองค์กรจึงต้องศึกษา ค้นคว้า หาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้นำมาปรับใช้ให้ทันท่วงที และเหมาะกับบริบทของธุรกิจ รวมถึงสังคมนั้น ๆ

“ประเด็นเรื่องการยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลกจะเป็นหัวข้อหนึ่งในงานวิจัยที่ทาง The Stanford Thailand Research Consortium จะทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผมเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำประเทศก้าวเดินไปสู่มาตรฐานใหม่ ให้เท่าทันกับบริบทของโลกธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป”

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันนี้คำว่า digital disruption ไม่ใช่เพียงกระแสที่พัดเข้ามาแล้วจากไป แต่เอไอเอสเชื่อว่าสิ่งที่ท้าทายมากไปกว่าการปรับตัวให้ทันกระแสโลกยุคดิจิทัล นั่นคือการเตรียมพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และพร้อมนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปคิดค้นต่อยอดทำสิ่งใหม่ ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้าง

“การทำให้คนไทยมีองค์ความรู้และมีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และนอกจากที่องค์กรภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐบาลร่วมมือช่วยเหลือกันแล้ว ตัวบุคคลเองต้องปรับตัวด้วย เพราะคนที่มีทักษะที่พร้อมจะได้เปรียบ และไม่ควรรอให้องค์กรเป็นคนให้ ตัวบุคคลเองต้องลุกขึ้นมาเพิ่มทักษะและศักยภาพตัวเองให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา”

“สำหรับเงินที่ทั้ง 3 องค์กรร่วมกันสนับสนุนจำนวน 100 ล้านบาท ไม่อยากให้มองที่ตัวเงินเป็นหลัก แต่อยากให้มองถึงความมุ่งมั่นองค์กรที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศนี้ และสิ่งที่มากกว่าเงินคือเรื่องของกำลังคนและองค์ความรู้ที่เราต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นมูลค่าที่เปรียบเทียบได้ยากมาก ฉะนั้นแล้วการที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยให้ความสำคัญและทำให้ประเทศไทยขนาดนี้ องค์กรเอกชนต้องไม่ละเลยโอกาสที่จะช่วยสร้างให้สังคมแข็งแรง และถ้าประเทศแข็งแรง บริษัทจะแข็งแรง ท้ายสุดประชาชนจะแข็งแรงไปด้วยเช่นกัน”

“การเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ SEAC ในครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป”

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างโครงการรักษ์ป่าน่าน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการ Nan Sandbox เพื่อปฏิรูปและหาวิธีแก้ปัญหารากฐานของความถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหากับจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต

“ความร่วมมือในการทำวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาของประเทศให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจมากขึ้น เพราะด้วยดีเอ็นเอของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการพัฒนาผู้นำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง จะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างดีเอ็นเอให้กับทีมงานและผู้นำในทุกภาคส่วน”


เพื่อพร้อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไป และผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในเรื่องของ do good และ do well ต่อไป