อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา CSR-ศก.โลก-ฟุตบอล

สัมภาษณ์

บ่ายแก่ ๆ พุธที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” คือหนึ่งในสื่อมวลชนได้รับเชิญจาก “คิง เพาเวอร์” ร่วมรับฟังความคืบหน้าโครงการ King Power Thai Power พลังคนไทย ที่กำลังมุ่งหน้าสู่ Creating Shared Value (CSV) เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างพันธมิตรธุรกิจ ลูกค้า ชุมชน สิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ซึ่งวันนี้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฉายภาพให้เห็นว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้เดินหน้าใน 4 แกนหลัก ๆ คือ กีฬา, ดนตรี, ชุมชน, การศึกษาและสาธารณสุข รวมกว่า 12 โครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่าปีละ 200 ล้าน สามารถกระจายโอกาสและสร้างความสุขสู่ชุมชนทั่วทุกภูมิภาค ทั้ง 77 จังหวัด กว่า 3,000 ชุมชน

“อัยยวัฒน์” ขยายความถึงสิ่งที่ทำมาตลอดหลายปีว่า … ถ้าเอาแกนหลัก ๆ ที่เราทำ เรื่องกีฬาเนี่ยชัดเจน เราอยากเห็นคน และน้อง ๆ เติบโตในสังคมที่มันยากขึ้นเรื่อย ๆ

ในส่วนดนตรีหรือ MUSIC POWER ส่งเสริมให้คนรักเสียงดนตรีกว่า 4,000 คน ได้แสดงความสามารถในเวทีประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่าที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีมาตรฐานสูง เป็นที่จับตาที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งมองว่าสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้

ส่วนเรื่องชุมชนได้ช่วยพัฒนาโปรดักต์ต่าง ๆ ของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับ โดยมีคิง เพาเวอร์, สโมสรเลสเตอร์ และ OHL (ทีมฟุตบอลอีกทีมหนึ่งของคิง เพาเวอร์) ที่เบลเยียม เป็น marketing tool สำคัญ

ขณะที่การศึกษาและสาธารณสุข ขับเคลื่อนผ่านมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภามอบตู้อบเด็กให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเดอ มง ฟอร์ต อังกฤษ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศไปแล้ว 20 ทุน

ตั้งแต่เดือนตุลาคมทั้งเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขจะถูกขับเคลื่อนผ่านมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นหลัก

ถามความคืบหน้าโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย สนามฟุตบอลหญ้าเทียม และโครงการล้านลูกล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี ต็อบ-อัยยวัฒน์ บอกว่า ได้สร้างสนามฟุตบอล 7 คน เสร็จไปแล้ว 60 แห่ง และมอบลูกฟุตบอลไปแล้วกว่า 5 แสนลูก

“กำลังดูว่าจะสามารถต่อยอดออกไปอย่างไรได้อีก ต้องมาดูว่าในอนาคตน้อง ๆ ยังต้องการสนามแบบนี้อีกไม่”

โดยตัวสนามฟุตบอลตอบโจทย์ Creating Shared Value ไม่แพ้การมอบให้ชุมชนต่าง ๆ ผลิตของที่ระลึกทำจากผ้าให้กับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ อวดสายตาชาวโลก

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซีอีโอของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ยอมรับ ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสิ่งที่ทำไป

“ถ้าคิดจะทำดีไม่ต้องแอบทำ ต้องร่วมกันทำ จงภูมิใจในสิ่งที่ทำ” เมื่อคิดจะทำอะไรต้องดูให้ดี เลือกให้ถูกว่าเขาเดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องมองให้ชัดเจนว่าจุดไหนที่สำคัญ เรื่องที่เขาลำบากคืออะไร ต้องหาคนไปคลุกเพื่อลงมือทำร่วมกัน และไม่ว่าอะไรที่สามารถสร้าง value ได้ก็จะทำ

แม้การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จะมุ่งโฟกัสไปที่โครงการเพื่อสังคม “King Power Thai Power พลังคนไทย” และไม่ยอมเอ่ยถึงธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี เรือธงธุรกิจหลัก แต่ซีอีโอหนุ่มคิง เพาเวอร์ ที่มีธุรกิจกระจายอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษซึ่งกำลังมีประเด็นเรื่อง Brexit ยอมรับว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้หนักหนาไม่น้อย

“เศรษฐกิจไม่ดีหมด ไม่ใช่แค่เรา (ประเทศไทย) ไม่ใช่แค่อังกฤษ จีน อเมริกา คงเป็นช่วงที่เป็นขาลงจริง ๆ ถามว่า กระทบมั้ย กระทบหมดทุกคนอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะทำยังไงกับมันมากกว่า อันดับแรกคงต้องดูสิ่งที่เรามีความสามารถก่อน อย่างเช่นตลาดต่างประเทศซึ่งเรามีความแข็งแรง หรือกับลูกค้าในประเทศ แล้วแต่บริษัทไหนทำ ผมว่าเรื่องคอสต์คือสิ่งสำคัญ ต้องดูดี ๆ เพราะว่าปลี่ยนแปลงเร็ว”

ยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีอีกเมื่อไหร่ และกระทบไปทุกที่ น่าจะอีกนานหลาย ๆ เดือน หลาย ๆ ปี และไม่ต้องบอกว่าใครผิด ใครถูก

กับคำถามที่ว่า มีโอกาสที่เด็กไทยจะไปเล่นให้ทีมเลสเตอร์ ซึ่งคิง เพาเวอร์เป็นเจ้าของอยู่ หรือในสโมสรอังกฤษอื่น ๆ บ้างหรือเปล่า

“คุณต็อบ” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ลีก และแฟนฟุตบอลชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตา ทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดสดมายังประเทศไทย ตอบว่า

“มีปัจจัยอยู่ 2 อย่าง อันแรกคือเรื่องของวินัย ผมไม่ได้บอกว่า คนไทยไม่มีวินัย แต่นักฟุตบอลไทยเวลามีโอกาสไปฝึกที่นั่น ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง ต้องดูแลตัวเองแบบไหน การเป็นโปรเฟสชั่นนอล (นักฟุตบอลอาชีพ) ต้องทำตัวอย่างไร เวลามีน้อง ๆ ไป สิ่งที่มองเห็นเลย เค้าต้องปรับตัวกับสิ่งที่ไม่เคยเจอ กินต้องตรงเวลา นอนต้องตรงเวลา ไปเรียนหนังสือ แล้วก็ต้องเล่นกีฬา ในเวลาหนึ่งวันเขาต้องจัดการเองหมด ไม่มีพ่อแม่ไปนั่งดู

ถ้านอนน้อย พักผ่อนน้อย เล่นไม่ดี ก็จะหลุดจากทีม หรือถ้าไม่ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี ไม่มีกล้ามเนื้อ ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้หมด คือมันโดนทรีตด้วยความโปรเฟสชั่นนอลของสตาฟ บางทีคนไทยจะคิดว่าฉันเก่งแล้ว

ข้อที่ 2 คือความเข้าใจในการเล่นฟุตบอล เราไม่ได้สอนให้นักกีฬาเราเข้าใจ ถ้าลูกบอลไม่อยู่กับตัวต้องทำยังไง ตอนที่กองหน้าอีกฝั่งวิ่งไปเราต้องทำอะไรบ้าง แต่ความรู้พวกนี้ที่อังกฤษเขาฝึกตั้งแต่ 9 ขวบ เด็กไทยเจอเข้าไปแบบนี้ อาทิตย์สองอาทิตย์แรกแทบวิ่งไม่เป็น

ผมเคยถามสตาฟโค้ช เขาตอบว่า (เด็กไทย) skill ดี เทคนิคดี ร่างกายไม่ใช่ปัญหา แต่ knowledge ของฟุตบอลไม่มีเลย

ถามอีกว่า ช่วงนี้ asset ในยุโรปราคาลดต่ำลงมาก เป็นช่วงจังหวะที่จะเข้าไปทำอะไรเพิ่ม ลงทุนในสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ในยุโรปอีกหรือเปล่า

“ผมเห็นด้วยว่าราคา asset ตอนนี้ต่ำ แต่ถ้าถามว่า จะลงทุนอะไรเพิ่มมั้ย ยอมรับว่าดูอยู่เหมือนกัน ไม่ว่า Brexit จะออกมาอย่างไรคงไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้แล้ว เพราะผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าอังกฤษก็ยังเป็นอังกฤษ ยังมีแต่คนอยากไป ต่อให้จะมีอะไรเกิดขึ้นกตาม


“นี่มองจากผมนะ อาจจะผิดก็ได้” อัยยวัฒน์ กล่าวในที่สุด