เมืองแข็งแกร่งที่เท่าเทียม

คอลัมน์ CSR talk

โดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

 

หลังจากการประกาศโครงการ One New York เมื่อปี 2015 รวมระยะเวลาทำการศึกษา และรวบรวมความคิดเห็นจากพลเมืองนิวยอร์ก และหน่วยงานชุมชนต่าง ๆ กว่า 3 ปี เล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนยุทธศาสตร์เมือง OneNYC 2050 ได้เผยโฉมกลยุทธ์ เมื่อเมษายน 2019 ที่ผ่านมานั้น นิวยอร์กมหานครเอกของโลกนับเป็นหนึ่งในเมืองต้น ๆ ที่มุ่งมั่นและจริงจังกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

โดยผู้ว่าการเมืองนิวยอร์ก “Bill De Blasio” ได้แสดงวิสัยทัศน์ของโครงการ OneNYC ไว้ว่าแรงผลักดันที่สำคัญของโครงการ OneNYC 2050 คือการต่อสู้เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรมทางสังคม โดยทั้งหมดนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง

ซึ่งดิฉันเองเคยมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิต กิน นอน เดิน เล่นอยู่ที่มหานครแห่งนี้อยู่หลายปี ได้เห็นบ้านเมืองที่คนนิยมการเดินอย่างขวักไขว่ อาจจะเพราะสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้ร้อนตลอดทั้งปีเหมือนเมืองไทย แต่นิวยอร์กเองต่างมีฤดูหนาวที่ยาวนาน และทรมานร่างกายมนุษย์อยู่ไม่น้อย จะเรียกว่า หนาว 8 แดด 4 ก็ว่าได้

แต่เมืองที่ออกแบบให้คนเดินได้ หรือมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี การที่จะเจอคนที่หิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม ใส่สูทผูกไทนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน (subway) ไปทำงานที่ wall street เหมือนกับดิฉันที่นั่งรถไฟไปเรียนหนังสือ หรือทำงานพิเศษนอกเวลา จึงเป็นเรื่องปกติของที่นี่ เห็นแล้วอดคิดถึงวลียอดฮิตของ “เอนริเก้ เพนาโลซ่า” อดีตนายกเทศมนตรีนครโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ที่เคยกล่าวไว้ว่า A developed country is not a place where the poor have cars, it’s where the rich use public transportation. หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ความว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนจนมีรถ แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้การขนส่งสาธารณะ

นิวยอร์กจึงถือเป็นอีกเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะ สะดวก และสบาย สำหรับคนมาจากประเทศไทย ที่เป็นเด็กสาวชานเมืองกรุงเทพฯ ที่บ้านยังไม่เคยมีรถไฟฟ้าผ่านในช่วงเวลาก่อนที่ดิฉันจะไปเป็นนิวยอร์กเกอร์ ไม่ใช่เพียงแค่ความสะดวกที่มีรถวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยังสบายกระเป๋าสาวเมืองกรุงเทพฯอย่างดิฉันที่มีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการเดินทาง อย่างการโดยสารรถไฟฟ้าแบบไม่จำกัดเที่ยว (ที่แถมพ่วงการขึ้นรถเมล์ ใช้เรือข้ามฟากจากเกาะแมนฮัตตัน กับเกาะรอบ ๆ) เป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของรายได้

นอกจากค่ารถที่ราคาสมเหตุสมผลสำหรับดิฉันแล้ว นิวยอร์กยังมีระบบการแบ่งปันจักรยาน (bicycle sharing) ที่สามารถเช่าขี่เล่นได้ทั่วเกาะแมนฮัตตัน หรือจะทำสมาชิกรายปี ใช้สำหรับเชื่อมจากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างออกไปหน่อย นิวยอร์กจึงเป็นเมืองที่คนขี่จักรยานสามารถตะโกนก่นด่ารถที่ขับมากินเลนจักรยานได้โดยไม่โดนบีบแตรไล่

ส่วนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างการทิ้งขยะนั้น นิวยอร์กทำให้ฉันเปลี่ยนนิสัยเรื่องนี้ไปตลอดกาล จนแม้แต่กลับมาอยู่เมืองไทย พฤติกรรมการแยกขยะ การพกถุงผ้า การเลี่ยงไม่รับถุงพลาสติกที่ติดตัวมา อาจจะดูขัดหูขัดตาคนอื่นไปบ้าง หากจะให้เล่าถึงประสบการณ์รอบตัวที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของชาวนิวยอร์ก คงต้องแบ่งได้อีกหลายตอน

เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมของมนุษย์ ชาวนิวยอร์กเริ่มทำกันมาอย่างจริงจังสักพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลังคาสีขาว (ที่ไม่ใช่เรื่องปลอดยาเสพติด) แต่เป็นการทาหลังคาสีขาวลดการดูดซับแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวอาคาร หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การเก็บมัดจำขวด ค่าปรับการแยกขยะ การเก็บค่าน้ำทิ้ง หรือแม้แต่การบริจาคอาหารให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดอาหารที่สูญเปล่า และเป็นต้นเหตุของก๊าซมีเทนอีกด้วย

สำหรับโครงการ OneNYC เป็นแผนระยะยาวไปจนถึงปี 2050 โดยได้แสดงเจตจำนงไว้ว่าในปี 2050 นิวยอร์ก ซึ่งตอนนั้นจะมีประชากรกว่า 9 ล้านคน จะเป็นเมืองที่อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ระบบขนส่ง และเศรษฐกิจมาจากพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะเป็นเมืองต้นแบบของโลกที่จะไม่มีการพึ่งพิงรถยนต์ แต่จะเน้นการพัฒนาระบบรถรางใต้ดิน (subway) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีเลนจักรยาน และทางเดินเท้าจะเป็นวิธีการเดินทางหลักของคนในเมือง

ขณะที่การสัญจรทางน้ำจะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช้สิ่งของที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use waste) การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้จะถูกพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน และที่สำคัญเป้าหมายของโครงการนิวยอร์กนี้ไม่เพียงแต่เพื่อชาวนิวยอร์กเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าเป็นแม่แบบในการพัฒนาให้กับเมืองอื่น ๆ ในประเทศอเมริกาเอง และเมืองอื่น ๆ ในโลกอีกด้วย

เพราะฉะนั้น โครงการ OneNYC จึงไม่ลืมที่จะออกนโยบายลูกที่คู่ขนานด้วยการมุ่งเน้นเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่น่าสนใจ และน่าจับตามองเป็นอย่างมาก คือ Green New Deal จากรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการ OneNYC ที่เผยแพร่เมื่อเมษายน 2019 ที่ผ่านมาระบุว่ารัฐได้ทุ่มงบประมาณกว่า 14 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2030 และลดการใช้ก๊าซคาร์บอนภายในปี 2050 เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด 100% เต็ม เมืองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคาร และจุดกำเนิดต่าง ๆ

โดยมีการสร้างงานสีเขียว (green jobs) และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยห้ามใช้กระจกที่ไม่มีประสิทธิภาพกับอาคาร นิวยอร์กจะรวบรวมขยะอินทรีย์ทั่วเมือง เพื่อขยายโครงการการจัดการสารอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมถึงรถขนขยะอินทรีย์ ตลอดจนสนับสนุนโอกาสในการทำปุ๋ยหมักชุมชน

จากเครื่องมือวัดผลการดำเนินการจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรม อย่างในปี 2017 นิวยอร์กได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 17% ซึ่งเทียบกับปี 2005 ที่ใช้เป็นเกณฑ์ตั้งต้น และการเอาจริงเอาจังกับปฏิบัติการนี้คือ ในปีนี้ 2019 เมืองนิวยอร์กได้ออกกฎหมาย 10 ฉบับ โดยส่วนใหญ่มีผลบังคับให้อาคาร ตึกสูงที่มีพื้นที่มากกว่า 25,000 ตารางฟุต หรือ 2,322 ตารางเมตร ที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซกว่า 70% ในเมืองนิวยอร์กลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2040 หรือต้องจ่ายค่าปรับทดแทนหากปล่อยก๊าซเกินกว่าที่กำหนด

OneNYC และ New Green Deal จึงมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) โดยนครนิวยอร์กเป็นเมืองแรกในการจัดทำแผนกลยุทธ์ท้องถิ่น ส่งไปยังแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งการทบทวนท้องถิ่นโดยความสมัครใจต่อสหประชาชาติ เพื่อคอยติดตามความก้าวหน้าของนิวยอร์กไปสู่เป้าหมาย ซึ่งการสร้างเมืองที่เข้มแข็งและยุติธรรม เกิดการร่วมมือเจรจาต่อรองในเมือง ทำให้มหานครนิวยอร์กสามารถเป็นผู้นำในเวทีระดับโลกได้

จะเห็นได้ว่าแม้แต่มหานครนิวยอร์ก เมืองที่มีความเจริญระดับสูงสุด เป็นมหานครหลวงของโลกที่ขึ้นชื่อว่าไม่เคยหลับใหล จากการสำรวจข้อมูลของ U.S. Census Bureau รายงานว่ามีประชากรมากกว่า 8.4 ล้านคน ในปี 2018 นิวยอร์กเมืองที่มีแท็กซี่สีเหลือง และหญิงสาวถือคบเพลิงคอยยืนต้อนรับ พร้อมกับขนมปังไส้กรอกหรือฮอตดอกอยู่หัวมุมถนน ไม่เพียงแต่การดำเนินตามเป้าหมายของ SDGs แต่เมืองนิวยอร์กเองยังมีแผนการพัฒนาเมืองของตนเองที่กินระยะเวลายาวไปอีกกว่า 30 ปีต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งนิวยอร์กเคยมีนโยบาย New Deal ของประธานาธิบดี “Franklin Delano Roosevelt” ในช่วงปี 1933-1943 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่า the great depression era ระหว่างปี 1929-1930 ประชาชน 1 ใน 3 ของนิวยอร์กตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัย วิกฤตการล้มของตลาดหุ้น นิวยอร์กใช้เวลากว่า 10 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา ระยะเวลาผ่านมา 70 กว่าปี นิวยอร์กเมืองแห่งความเป็นผู้นำในแทบจะทุกด้านของโลกได้มีนโยบาย Green New Deal ที่เป้าหมายไม่ใช่เพียงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เป็นวาระของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับชาวนิวยอร์ก เพื่อที่จะเป็นต้นแบบให้กับเมือง และประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเจอกับวิกฤตทางสภาพแวดล้อมที่รุนแรงจนมนุษย์ไม่อาจย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่เหมือนการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

เราคงต้องคอยดู และเอาใจช่วยเมืองพี่ใหญ่ของโลกที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเหล่าประเทศที่กำลังพัฒนา และเมืองต่าง ๆ ที่กำลังตั้งใจออกแบบอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้ผู้บริหารบ้านเมือง คนอยู่อาศัยในบ้าน และผู้มาเยี่ยมชม หันมาให้ความสนใจ ร่วมมือกันจริงจังในการออกแบบ และพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นเมืองสำหรับทุกคน และหนึ่งในนั้นคือกรุงเทพมหานคร บ้านเกิดของดิฉันเอง

ฉะนั้น NYC City for All จึงไม่ใช่เพียงแต่คำขวัญเท่ตามเสน่ห์ของนิวยอร์ก แต่เป็นสิ่งที่ชาวนิวยอร์กกำลังจะทำให้เกิดขึ้นจริง