ห้องเรียนโซเชียลแลป จ.น่าน “ปิดทองหลังพระ” แนะชาวบ้านเป็นนักธุรกิจ

ในช่วงเดือนกันยายน 2562 เป็นวาระครบ 9 ปี ขึ้นปีที่ 10 ในการพัฒนาพื้นที่ “ต้นแบบ” โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ จ.น่าน ตามแนวพระราชดำริมา ซึ่งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 จึงได้มีการจัดระดมความคิดเห็น “เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาชนบทพื้นที่ประยุกต์ ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน” ขึ้น เพื่อพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาเกิดผลการพัฒนาในพื้นที่ต้นแบบขึ้น 3 ระดับตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นประกอบด้วย ขั้นแรกการสร้างความอยู่รอดในระดับครัวเรือน ได้พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตรมีพื้นที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 11,620 ไร่ จากเดิมมีจำนวน 2,012 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 390 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 560 ก.ก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 44% รวมทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชหลังฤดูทำนาคิดเป็นเงิน 739 ล้านบาท ผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 1,709 ครัวเรือนคิดเป็น 97% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดในพื้นที่ต้นแบบ

สำหรับขั้นที่สอง เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตในระดับชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตป้อนตลาดได้ตามความต้องการ มีกลุ่มและกองทุนรวม 24 กลุ่ม มูลค่ากองทุนรวม 5.26 ล้านบาท มีสมาชิกกองทุน 779 ครัวเรือน แบ่งเป็น กลุ่มผู้ใช้น้ำ กองทุนเมล็ดพันธุ์พืช กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ และกองทุนโรงสีข้าว ส่วนขั้นที่ 3 คือสนับสนุนให้ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก เพื่อเปิดรับความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมทั้งเชื่อมโยงกับตลาดที่รับซื้อผลผลิตของชุมชนได้ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวไร้สารพิษ บ้านยอด อ.สองแคว ที่ผลิตมะนาวส่งขายในห้างแม็คโครได้เดือนละ 2-3 ตัน

“น่านเป็นห้องเรียนโซเชียลแลป หรือห้องทดลองทางสังคมของเราอย่างหนึ่ง และประสบการณ์ที่น่านเอาไปทำที่อื่นจำนวนมาก เช่นไปส่งเสริมทุเรียนคุณภาพที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแม้จะเป็นคนละบริบท แต่ได้นำบทเรียนที่น่าน เรื่องการเตรียมคน เตรียมกลุ่ม รวมถึงเรื่องข้อมูลว่าทำอย่างไร เข้าไปใช้จนได้ผลดี” นายชาติชายกล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้สรุปบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว และนำไปสู่การกำหนดทิศทางของการพัฒนาชุมชนของ จ.น่านในระยะต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยพบว่าจากเวทีระดมความคิดเห็นดังกล่าว ทำให้เห็นทิศทางว่า มีหลายเรื่องที่ชาวบ้านต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต เช่น การพยายามที่จะทำให้พื้นที่ทำกินที่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ เป็นที่ดินทำกินที่ถูกต้อง สามารถปลูกพืชทำประโยชน์ในที่ดินให้มากขึ้น เช่น การปลูกไผ่หรือมะขามเปรี้ยว นับเป็นเรื่องที่ดีที่มาช่วยกันคิดและกำหนดทิศทางของชุมชน อย่างไรก็ตามบทบาทของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯต่อพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาของ จ.น่าน จะปรับรูปแบบจากเป็นคนนำให้ชุมชนช่วยกันทำในช่วงแรกเปลี่ยนเป็นคอยสนับสนุนในส่วนที่ยังขาดอยู่

“ถ้าเขายังต้องการพัฒนากระบวนการปลูกไปถึงการขาย อะไรที่เป็นจุดอ่อนทำไม่ได้ดี และมาบอกกับเรา เราจะทำหน้าที่ไปหาคนที่รู้ หาข้อมูลมาเติมให้ หรือแลกเปลี่ยนกัน สรุปบทบาทจากเดิมที่พาเขาทำ มาอยู่ข้างหลังให้เขาทำเองและขาดอะไรเราจะเติมให้ อีกอย่างคือพยายามทำให้เขาเกิดเครือข่ายที่กว้างขึ้น เวลาพูดถึงจังหวัดน่าน ยังมีแพร่ เชียงราย หรือจังหวัดอื่น อยู่ในสถานะที่ดีเชื่อมโยงจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศจะได้ช่วยกันได้มากขึ้น” ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าว

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเปลี่ยนชาวบ้านจากเป็นคนผลิตเป็นผู้ประกอบการ ทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลของจำนวนคนปลูก ข้อมูลผลผลิตที่ชัดเจน จะสามารถนำข้อมูลมาพูดเป็นเหตุเป็นผลได้และยังสามารถเชื่อมโยงกับตลาดเช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มารับซื้อผลผลิต เนื่องจากมีตัวเลขผลผลิตที่ชัดเจน และคิดต้นทุนกำไรได้

“มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จะช่วยเหลือแบบผู้ใหญ่ สอนให้ชาวบ้านรู้จักการเป็นนักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการมากกว่าการเป็นหน่วยผลิต ชาวบ้านของไทยเก่งการผลิต เก่งปลูกพืช ขุดดิน แต่ว่าเก่งแบบใช้ภูมิปัญญาเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่โลกมีวิทยาการสมัยใหม่ มีคำอธิบายสากลที่ใครๆก็ฟังรู้เรื่อง เราก็ควรให้เขาคว้ามา หยิบของต่างประเทศมาแล้วมาต่อยอดกัน ไม่ได้ให้ทิ้งของเก่า แต่เอาของต่างประเทศที่เป็นสากลมาเติม ให้ของเดิมไม่ตาย และโตได้ด้วย และทำให้เขาเป็นผู้ประกอบการได้”

“เขาเคยมี mindset ปลูกเก่งทุกอย่างแต่ขายได้หรือไม่ไม่รู้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณต้องรู้จักตลาด รู้จักว่าโลกภายนอกว่าต้องการอะไร แล้วคุณอาจจะต้องปลูกในสิ่งที่คุณไม่ชำนาญเลย แต่ก็ต้องไปเรียนมาให้ได้ เปลี่ยนจากที่เอาตัวเขาเป็นตัวตั้ง ยึดความชำนาญจากตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า เป็นตัวตั้ง เปลี่ยนมาเป็นเอาผู้บริโภค ตลาดเป็นตัวตั้ง” นายชาติชายกล่าว

นอกจากการผลิตแล้วจะต้องมาร่วมกันเป็นกลุ่ม ต่อรองการค้าขาย สิ่งที่ต้องการเห็นคือชาวบ้านรวมกลุ่มกัน ช่วยกันคัดพันธุ์ คัดผลผลิต และร่วมกันขาย จัดการกันเอง เปลี่ยนจากเกษตรกรผู้เก่งผลิต เป็นนักธุรกิจไปด้วยในตัว ทั้งการแปรรูปและการตลาด ปัจจุบันปลูกพืชเก่งอย่างเดียวไปไม่รอด ต้องค้าขายเป็น ทำการค้าเกษตรออนไลน์เป็น จึงจะได้ราคาดีขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านมีข้อมูลและคุ้นเคยกับการหาทางเลือกได้ด้วยตัวเอง อะไรที่รัฐให้มาก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้