ส่องดัชนี DJSI ปี’62 “8 บริษัทไทย”ขึ้นผู้นำอุตสาหกรรม

หลังจากที่ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ในฐานะผู้จัดทำ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 14 กันยายนผ่านมา โดยมีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 21 บริษัท ซึ่งมี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้รับการจัดอันดับใน DJSI World เป็นปีแรก

ที่สำคัญ ในปีนี้บริษัทไทยยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (industry leaders) มากถึง 8 บริษัท ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม coal & consumable fuels, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม food & staples retailing, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) ผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม beverages

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม food product, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม telecommunication services, บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม oil & gas refining & marketing, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม oil & gas upstream & integrated และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม chemicals

ส่วนบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2562 จำนวน 21 บริษัทนั้น แบ่งเป็น กลุ่มดัชนี DJSI World จำนวน 12 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, PTTGC, SCC, CPN, ADVANC, IVL และ AOT โดยดัชนีในกลุ่มนี้จะคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุด 2,500 อันดับแรกของโลก

ขณะที่กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 20 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, MINT, BANPU, IRPC, PTTEP, PTT, TOP, CPALL, CPF, THBEV, TU, IVL, PTTGC, CPN, HMPRO, TRUE, AOT, BTS และ ADVANC

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ประมวลข้อสรุปประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2562 ทั้งนั้น เพราะปีนี้ครบรอบ 20 ปีของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ทั้งยังถือว่าเป็นปีที่มีบริษัทจากทั่วโลกเข้าร่วมตอบ CSA (corporate sustainability assessment) มากที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนทั้งหมด 1,166 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 17.4% จากปี 2018 โดยทวีปเอเชียถือเป็นทวีปที่มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนนี้มากที่สุด คิดเป็น 38% รองลงมา ได้แก่ ทวีปยุโรป 27% และทวีปอเมริกาเหนือ 23% ตามลำดับ

ที่สำคัญ ในปี 2562 ยังมีการทบทวนถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านการเงิน การเพิ่มจำนวนคำถามที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะมากขึ้น ซึ่งได้ปรับปรุงข้อคำถามจำนวน 6 ข้อใหญ่ ได้แก่ (1) information secu-rity, cybersecurity & system availability, (2) privacy protection, (3) sustainable finance, (4) energy mix, (5) raw material sourcing และ (6) living wage โดยคำถาม 4 ข้อแรก จะอยู่ในส่วนของมิติทางเศรษฐกิจ (economic) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงวิธีการ แนวทาง โอกาสที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎหมายที่ดูจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น

ด้านของหัวข้อที่เป็น raw material sourcing จะให้น้ำหนักไปที่มิติทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นวัตถุดิบทางเกษตรกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) และส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน สุดท้ายจะเป็นเรื่องของ living wage ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่จะใส่เข้ามาในปีหน้า (2563) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ระหว่างนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำกับความเป็นจริง

สำหรับด้านอื่น ๆ CSA ยังคงสอดคล้องกับมาตรฐานกรอบการรายงานด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น CDP, GRI และ SASB และบริษัทที่ร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนสามารถได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี ESG ตัวใหม่ของ S&P Dow Jones Indices นอกเหนือไปจากดัชนี DJSI อีกด้วย

ทั้งนี้ RobecoSAM ยังย้ำอีกครั้งว่า ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา มีการเพิ่มน้ำหนักของ MSA (media stakeholder analysis-การตรวจสอบว่าบริษัทที่ได้รับเชิญต่าง ๆ ที่มีประเด็นข่าวเกี่ยวกับการละเมิดด้าน ESG หรือไม่) ซึ่งจะมีต่อผลคะแนนโดยรวมของบริษัทนั้น ๆ ทำให้การเพิ่มน้ำหนักในด้านนี้สะท้อนให้เห็นถึงความชัดเจนผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท และชี้ให้เห็นว่ามีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นให้ความสนใจ จับตาดู ทั้งสถานะการเงิน ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของบริษัทอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (industry leader) หรือได้คะแนนสูงเป็นที่ 1 ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ จำนวน 8 อุตสาหกรรมด้วย ถือเป็นประเทศที่มีผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวน 12 บริษัท แต่แม้จะเป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยยังถือเป็นที่หนึ่งของประเทศในเอเชีย ที่ถือว่ามีจำนวนผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุดอีกด้วย

ทั้งนั้น จากการวิเคราะห์สถิติทางตัวเลขทั้งหลายประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมตอบ CSA มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 78% หรือประมาณ 28 บริษัท จากที่ได้รับการเทียบเชิญทั้งสิ้น 36 บริษัท ในปี 2562 ดังนั้น การมีผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และการมีจำนวนบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้ติดอยู่ในดัชนีดาวโจนส์มากที่สุดในอาเซียน จำนวน 21 บริษัท โดยเพิ่มจากปีที่แล้ว 1 บริษัท ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทไทยให้ความสำคัญต่อดัชนี DJSI เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับผลการจัดอันดับโดย SustainAbility Rate the Rater 2019 : Expert views on ESG Ratings ที่ RobecoSAM Corporate Sustainability Assessment ได้รับการโหวตมากที่สุด คิดเป็น 40.75%

สาเหตุที่บริษัทไทยให้ความสำคัญ และเข้าร่วมตอบแบบประเมิน CSA ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่ง น่าจะมาจากการส่งเสริมจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งใจสนับสนุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยให้ดำเนินธุรกิจบนวิถีแห่งความยั่งยืน ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานอย่างมีบรรษัทภิบาลที่ดีสู่สาธารณะด้วย

เพราะที่ผ่านมา ตลท.ได้เข้าร่วมใน UN Sustainable Stock Exchange เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สถาบันการเงิน และนักลงทุนทั่วโลกในการพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้เกิดความโปร่งใส สร้างผลลัพธ์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนทั้งด้านตลาดทุนและตลาดการเงิน

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังส่งเสริมให้มีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code-Investment Governance Code) โดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี ประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัท และกิจการในตลาดทุนไทย รวมถึงจำนวนนักลงทุนจากทั่วโลกที่เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG (environment, social, gov-ernance) มากขึ้น ทั้งยังนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาลงทุนในบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย

ถึงตรงนี้ อาจจะเกิดความสงสัยจากคนบางกลุ่มว่า การได้รับจัดอันดับในดัชนี DJSI ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง หรือในมุมของนักลงทุนทั่วโลก เขาเหล่านั้นมีความเชื่อว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันนั้น จะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจได้อย่างไร

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ “Larry Fink” CEO BlackRock บริษัทบริหารกองทุนระดับโลกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ ภายใต้การบริหารจัดการสูงที่สุดในโลก ที่เคยพูดไว้เมื่อปี 2561 ว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า นักลงทุนทุกคนจะวัดผลกระทบของธุรกิจในด้านสังคม การกำกับดูแล และสิ่งแวดล้อม เพื่อดูมูลค่าของธุรกิจนั้น ๆ ดังนั้น การที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนี DJSI ซึ่งเป็นที่ยอมรับ อาจหมายถึงการได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกตามไปด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ มุมของบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมิน DJSI นั้น ยังถือว่าได้ตรวจสอบโครงสร้าง การบริหารจัดการ และขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ภายในองค์กรว่าเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

เพราะการจะได้รับการจัดอันดับในดัชนี DJSI นอกจากจะต้องมีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่ผ่านแล้ว ยังเป็นการเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมเดียวกันว่าเรื่องที่คิดว่าเราทำได้ดีมาก ๆ แล้ว แต่เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ร่วมอุตสาหกรรม สิ่งที่เราทำอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดา จึงเป็นเหมือนแรงผลักสำคัญให้ธุรกิจต้องหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่

คำถามในแบบประเมิน CSA จึงถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับบริษัทเพื่อใช้สำหรับการพัฒนา หรือปรับปรุงการทำงานต่อไป และนี่จึงเป็นที่มาว่า หากบริษัทพัฒนาตัวเองได้ไม่เร็วพอกับที่เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมพัฒนาไป อาจส่งผลให้หลุดจากการจัดอันดับในปีต่อ ๆ ไปได้

ในส่วนของบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้ร่วมตอบแบบประเมิน CSA แต่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมตอบแบบประเมินนี้ อาจลองเริ่มต้นด้วยการกลับมาดูที่เป้าหมาย วัตถุประสงค์ของธุรกิจ ก่อนว่าการคงอยู่ของธุรกิจเรานั้นสามารถสร้างคุณค่าใด ๆ ให้กับสังคมได้บ้าง และจะค่อย ๆ นำแนวคิดด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างไรบ้าง


ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้กับคณะทำงานขององค์กร เพื่อให้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืน รวมเข้าไปในแผนธุรกิจและการทำงานประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป