“อินทัช” ลงพื้นที่ “ร้อยเอ็ด” สร้างคุณภาพชีวิตในโรงเรียน

จากอิทธิพลของพายุโพดุล ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ รวมไปถึง จ.ร้อยเอ็ด ผลเช่นนี้ จึงทำให้อินทัชลงพื้นที่ใน จ.ร้อยเอ็ด เพื่อมอบสิ่งของจำเป็นเร่งด่วนช่วยเหลือครอบครัวนักเรียน ครู โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมติดตามผลการดำเนินงานในโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักเรียนในโรงเรียนด้อยโอกาส ทั้งยังรวมถึงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่โรงเรียนบ้านหนองม่วง อำเภอโพนทอง, โรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ และชุมชนบ้านวังยาว อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด

“เอนก พนาอภิชน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นปฏิรูประบบการศึกษาดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 3 ต่อจากจังหวัดน่าน และเลย ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

“โดยการทำงานยังเป็นกรอบเดิม ๆ แต่เปลี่ยนสถานที่ เนื่องจากเราทำงานร่วมกับโรงเรียน และคนในชุมชนทั้งสอง เพื่อดูความต้องการของพวกเขา สิ่งที่อินทัชช่วยเหลือหลัก ๆ มี 3 ด้าน คือ

ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาที่จำเป็นในโรงเรียน, พัฒนาทักษะความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก และส่งเสริมสุขภาพอนามัย โดยจัดสรรงบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านบาท”

“จากการที่พูดคุยกับโรงเรียนบ้านหนองม่วง และชุมชนอื่น ๆ เราพบว่าโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนบ้านหนองม่วงไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หลังคารั่ว ในช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลเอ่อเข้าไปในโรงอาหาร ทำให้นักเรียนที่จะรับประทานอาหารเต็มไปด้วยความยากลำบาก รวมทั้งไม่มีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัย เราจึงสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเรียนและโรงอาหารให้อยู่ในสภาพแข็งแรง ปลอดภัย”

“ด้วยการสร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมกับปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์สำหรับใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนและชุมชน เช่น ลานกีฬา จัดงานมงคลต่าง ๆ ของชุมชน รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักเรียน มอบคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นข้อมูล จัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และความสนใจของเด็ก เช่น สารานุกรม วรรณกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย คู่มือเตรียมสอบ หนังสือรางวัลซีไรต์ หนังสือที่เด็ก ๆ ชอบอ่าน เพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก ๆ จากเดิมที่มีนักเรียนเข้ามาใช้บริการ 30 คนต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 110 คน นอกจากนั้น ยังพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารจัดการภายในห้องสมุดโดยใช้ระบบบาร์โค้ดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน สืบค้นได้ง่าย รวดเร็วยิ่งขึ้น”

ส่วนโรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์มีความขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด น้ำมีสีเหลือง และมีกลิ่น เนื่องจากระบบกรองน้ำชำรุด ไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทำให้โรงเรียนต้องแบ่งงบฯส่วนหนึ่งไปซื้อน้ำบรรจุถังวันละ 4-5 ถังมาใส่ตู้น้ำให้เด็กดื่ม ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่อินทัชเข้าไปสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 10,000 ลิตรต่อวัน โดยประยุกต์การใช้งานเข้ากับระบบไอโอที (NB-IOT) ทำให้สามารถตรวจสอบปริมาณการผลิตน้ำจากอินเทอร์เน็ตได้ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำของโรงเรียน และนำไปจัดทำระบบผลิตน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต ช่วยประหยัดค่าไฟต่อเดือนประมาณ 500-1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญสำหรับชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีน้ำสะอาดบริโภคในราคาถูกกว่าที่ซื้อทั่วไปที่ราคา 5 บาทต่อถังขนาด 20 ลิตร และยังสามารถสร้างรายได้มาดูแลซ่อมแซมระบบผลิตน้ำ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่โรงเรียนในระยะยาว

ที่สำคัญ อินทัชยังร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


“ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ” รองผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าเราใช้ GPS เพื่อมองพิกัดแหล่งน้ำต่าง ๆ และที่สำคัญเราใช้แผ่นแผนที่พกไปด้วยทุกที่เหมือนกับที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำ เพื่อให้เข้าใจพื้นที่ พอคุยกับภาคประชาชนก็จะเข้าใจมากขึ้น

“ในการช่วยแก้ปัญหาชุมชนบ้านวังยาว มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ติดกับแม่น้ำชีทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งบ่อยครั้งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เรานำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ อาทิ พัฒนาศักยภาพชุมชนโดยจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชน และคณะกรรมการน้ำชุมชนมีความรู้เรื่องการสำรวจแหล่งน้ำ

การอ่านแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม GPS ข้อมูลน้ำ สถานการณ์น้ำ เพื่อนำไปวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังได้ร่วมกันสร้างฝาย เพื่อยกระดับน้ำในกุดชีเฒ่า เสริมโครงสร้างประตูหน้าท่อเชื่อมระหว่างกุดชีเฒ่าและคลองไผ่”


เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต