เงินติดล้อ+โครงการกำลังใจ ใช้หลักบริหารการเงินช่วยผู้ก้าวพลาด

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาสนับสนุนโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ถือเป็นการทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง ทั้งยังถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของโครงการ “เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ยิ่งเฉพาะกับผู้ก้าวพลาดในเรือนจำชั่วคราวแคน้อย อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ บนภารกิจ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

หนึ่ง การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพ

สอง การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ

สาม การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด

ทั้งนั้น เพราะเรือนจำชั่วคราวแคน้อย แบ่งผู้ต้องขังออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวแคน้อย จำนวน 48 คน กลุ่มที่ 2 ผู้ต้องขังหรือผู้ก้าวพลาดเข้าโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จำนวน 101 คน โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าทำการอบรมเรื่องการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการประมาณ 5 เดือน และกลุ่มที่ 3 โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เรือนจำโครงสร้างเบา จำนวน 300 คน เฉพาะคนกลุ่มนี้จะทำการอบรมในการเสริมสร้างอาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้ต้องขังหรือผู้ก้าวพลาด ประมาณ 3 เดือน

เบื้องต้น “วันเพ็ญ ว่องไวกิตติสิน” ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จ.เพชรบูรณ์ เป็นเรือนจำเปิด และเป็นเรือนจำหญิงเพียงแห่งเดียวของประเทศ ที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกับสภาพสังคมภายนอก เพราะที่นี่ไม่มีกำแพงสูง มองเผิน ๆ เหมือนไม่ใช่เรือนจำ ทั้งยังมีอาณาบริเวณกว่า 237 ไร่ ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ต้องขังหรือผู้ก้าวพลาดทุกคนฝึกอาชีพในด้านต่าง ๆ บนภารกิจ 4 เรื่องหลัก ๆ คือ การพัฒนาอาชีพให้กับผู้ต้องขัง, การพัฒนาคุณภาพชีวิต, การพัฒนาจิตใจ และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยกลับสู่สังคม

“ผู้ต้องขัง หรือผู้ก้าวพลาดทั้งหมด ล้วนต้องโทษคดียาเสพติดจากทั่วประเทศ และทุกคนต้องโทษครั้งแรก แต่เป็นผู้ต้องขังชั้นดี โดยจำคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ และเหลือวันต้องโทษอีกไม่นาน เราจึงต้องเตรียมความพร้อมให้พวกเขามีอาชีพรองรับก่อนที่จะปล่อยตัวกลับไปสู่สังคมเดิม ด้วยการแบ่งกลุ่มอาชีพให้เขาเลือกเองตามพื้นฐานดั้งเดิมของครอบครัว อาทิ การเกษตร, เสริมสวย, อาหารเครื่องดื่ม, ธุรกิจซักรีดเสื้อผ้า, นวดไทยเพื่อสุขภาพ, คาร์แคร์”

“โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร เนื่องจากเราปลูกผักผลไม้อินทรีย์ทั้งหมด ดังนั้น พืชผักของเราจึงได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์แห่งแรกของกรมราชทัณฑ์, มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนทำให้พืชผักของที่นี่สามารถส่งออกผักไปยังต่างประเทศ โดยมีบริษัท N&P Food Co.,LTD. เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็จำหน่ายให้กับบริษัท Natural & Premium อีกด้วย ที่สำคัญ ที่นี่ยังมีฐานเรียนรู้เกษตร 1 ไร่ 1 แสน และศูนย์เลี้ยงหม่อนไหมเพื่อขายผลผลิตทั้งหมดให้กับไร่กำนันจุล ใน จ.เพชรบูรณ์อีกด้วย”

“ดังนั้น ผู้ก้าวพลาดที่เข้าโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นอกจากเราจะช่วยเหลือเขาให้เรียนรู้การใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในส่วนของภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เขายังได้เรียนรู้การวางแผนการผลิต การทำบัญชีครัวเรือน การรู้จักกิน รู้จักใช้ เขายังได้เติมความรู้ในการบริหารทางการเงิน การบริหารต้นทุน การผลิต และการวางแผนทางการตลาดที่ทางเงินติดล้อเข้ามาร่วมอบรมให้กับพวกเขาด้วย เพราะคนเหล่านี้ขาดความรู้เรื่องเหล่านี้อย่างมาก จึงทำให้เกิดความผิดพลาดทางการเงิน จนเป็นหนี้เป็นสินอยู่บ่อย ๆ”

ถึงตรงนี้ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด จึงกล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้วการให้ความรู้ทางด้านการเงินเราทำเป็นประจำอยู่แล้ว และเป็นหนึ่งในโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมของเรา เพียงแต่การมาร่วมกับโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ถือเป็นครั้งแรก

“แต่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกภูมิใจ เพราะเรานำประสบการณ์ของเราเองที่มีความถนัดในเรื่องของการบริหารการเงินมาช่วยผู้ก้าวพลาดทั้งหมดหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การให้ความสำคัญกับเรื่อง sustainability เนื่องจากโครงการนี้เราอบรมให้กับผู้ก้าวพลาด 1 วัน เพื่อให้เขาเข้าใจในเรื่องการบริหารการเงินตั้งแต่การบริหารต้นทุนไปจนถึงการออม แต่ถ้าจะให้ความเกิดความยั่งยืนต่อไป เราจึงทำโครงการ เทรน เดอะ เทรนเนอร์ ขึ้นมาอีก 2 วัน เพื่อทำการอบรมให้กับผู้คุมเรือนจำที่เข้าโครงการให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ด้วย เพื่อที่เขาจะได้เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ก้าวพลาด หลังจากที่เขาออกไปสู่สังคมภายนอกแล้ว”

“นอกจากนั้น เรายังมองเรื่องการให้สินเชื่อกับผู้ก้าวพลาดบางรายที่อยากจะมีเงินทุนในการตั้งต้นกับชีวิตใหม่หลังจากออกจากที่นี่ โดยเฉพาะผู้ก้าวพลาดที่เข้าร่วมโครงการกับเรา ซึ่งเหมือนเป็นการมอบโอกาสให้กับพวกเขา โดยมีเราคอยเป็นพี่เลี้ยงการบริหารทางการเงินเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ ตรงนี้เราจึงส่งคนของเราเข้ามาศึกษาข้อมูล เก็บรายละเอียดทั้งหมดว่าผู้ก้าวพลาดส่วนใหญ่อยากออกไปประกอบอาชีพอะไร จากนั้นเราถึงดีไซน์หลักสูตรขึ้นมาโดยเฉพาะ”

“ด้วยการใช้กิจกรรมเป็นเนื้อหาของการเรียนการสอน เพราะฉะนั้น ผู้ก้าวพลาดทุกคนจะรู้สึกไม่เครียดเพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ที่สำคัญ ยังทำให้เขาจดจำได้มากกว่ามานั่งเรียนทฤษฎีภายในห้องเรียนอีกด้วย และตอนนี้ทราบข่าวว่าหลักสูตรที่เราดีไซน์จะนำไปปรับใช้กับทุก ๆ เรือนจำทั่วประเทศ เพื่อที่จะสอนผู้ต้องขัง และผู้ก้าวพลาดรายอื่น ๆ เพื่อให้เขามีความรู้ทางด้านนี้หลังจากออกไปสู่สังคมภายนอกด้วย”

ขณะที่ “พยอม ราชสม” นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะมีหลักสูตร 5 เดือน สำหรับอบรมผู้ก้าวพลาดที่อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ซึ่งจะสอนพวกเขาในเรื่องวิชาชีพทางด้านการเกษตร และการดูแลสภาพจิตใจ แต่เมื่อเงินติดล้อเข้ามา เขาจะสอนเรื่องการผลิต เพราะเขาไม่รู้จักตลาด และไม่รู้ว่าจะนำสินค้าไปขายใคร เพราะพวกเขาไม่รู้จักการกระจายสินค้า

“คนส่วนมากที่ออกไป เขาอยากขายของนะ แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน แม้จะนำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า บางอย่างเขาต้องซื้อเหมือนกัน พอทางเงินติดล้อเข้ามาจึงช่วยเหลือพวกเขาดีมาก ๆ เพราะเป็นการสอนให้เขาคิดเป็น และคิดหารายได้เพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว จริง ๆ สำหรับเรือนจำในโครงการของพระองค์ภาฯจะมีทั้งหมด 5 แห่ง ทุกแห่งล้วนเป็นเรือนจำเปิดทั้งหมดใน 5 จังหวัด อาทิ เชียงราย, ชัยนาท, ตราด, สุรินทร์ และเพชรบูรณ์ เพียงแต่ที่นี่เป็นเรือนจำหญิงเพียงแห่งเดียว”

ทั้งยังเป็นเรือนจำที่มีการบริหารจัดการดีมาก ๆ เสียด้วย