ภารกิจสตรีเปลี่ยนแปลงโลก For Women in Science

โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) เป็นการสานต่อจุดยืนของ “ยูชีน ชูแลร์” นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ในระดับโลกโครงการนี้มีชื่อว่า L”Oreal-UNESCO For Women in Science ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 21 ปีก่อน โดยความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก (UNESCO-the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ในการสนับสนุนการตระหนักถึงนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ประสบความสำเร็จ โดยมอบทุนวิจัยเป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงแสดงศักยภาพและก้าวเข้าสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ

สำหรับโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีไทยในการสร้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติผลักดันนักวิทย์หญิงสู่สากล

“อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สัดส่วนจำนวนนักวิทยาศาสตร์เพศหญิงทั่วโลกมีน้อยกว่านักวิทยาศาสตร์เพศชาย เราจึงสนับสนุนงานวิจัยของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยที่มีสัดส่วน 56.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังนับเป็นเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ของนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลก

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในโครงการปีนี้ คือ เราลดเหลือ 2 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่หมวดหมู่งานวิจัยภายใต้แต่ละสาขาขยายกว้างมากขึ้น และเรากำลังสนับสนุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นด้วย ในอนาคตจะมีการต่อยอดนักวิจัยในโครงการนี้ โดยจะเสริมศักยภาพพวกเขาในเรื่องของ soft skill หรือทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น และพวกเขาไม่สามารถหาเองได้ นอกจากนั้น เราจะสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 65 คน”

สำหรับปีนี้ นักวิจัยสตรีทั้ง 5 ท่านได้รับทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีจำนวน 2 ท่าน คือ “ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร” จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กับงานวิจัยหัวข้อการวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ “ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ” จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับงานวิจัยหัวข้อ เอนอีซ (ENZease) : เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ มีจำนวน 3 ท่าน คือ “ดร.จำเรียง ธรรมธร” จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับงานวิจัยหัวข้อการสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อมาลาเรีย, “รศ.ดร.ศิริลตา ยศแผ่น” จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อการออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ ด้วยแนวคิด C-H functionalization สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน และ “รศ.ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์” จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อการศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม

วิทย์ชีวภาพลดปัญหา สวล.

“ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร” กล่าวถึงเหตุผลของการทำวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า คนไทยสร้างขยะมูลฝอยหรือขยะชุมชนสู่ระบบนิเวศกว่า 27.37 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 74,998 ตันต่อวัน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จึงอยากหาวิธีในการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยจึงต้องการเปลี่ยนขยะให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง

“โดยคัดเลือกหัวเชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติจากแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อสร้างหัวเชื้อจุลินทรีย์ต้นแบบในการแปลงขยะอินทรีย์ในครัวเรือน เพื่อสังเคราะห์เชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเป็นพลังงานสะอาด สามารถนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือก ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีไปใช้แล้วที่จังหวัดน่าน และที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และกำลังวางแผนที่จะขยายไปยังชุมชนอื่น”

“ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ” อธิบายว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีและพลังงานสูง จึงทำวิจัยคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตเอนไซม์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์สัญชาติไทย ที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จนได้เอนไซม์สัญชาติไทยชื่อว่า เอนอีซ (ENZease) สามารถใช้ทดแทนการใช้สารเคมีได้

“ทีมวิจัยจึงมุ่งศึกษาคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตเอนไซม์ที่มีศักยภาพสูง ผ่านเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วย เทคโนโลยีการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์แบบสมรรถนะสูง เพื่อทำการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์จากคลังเชื้อจุลินทรีย์หลายร้อยสายพันธุ์ จนได้เชื้อจุลินทรีย์เพียงหนึ่งเดียวที่สามารถผลิตได้ทั้งเอนไซม์ลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกประเภทแวกซ์ และไขมัน บนผ้าฝ้าย เทคโนโลยีการหมักเอนไซม์ เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวเอนไซม์หลังการหมัก เทคโนโลยีการผสมสูตรเอนไซม์ และเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้เอนไซม์ในการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว”

วิทย์กายภาพตอบโจทย์รักษาโรค

“ดร.จำเรียง ธรรมธร” กล่าวว่า เราตั้งใจทำงานวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิธีการสังเคราะห์สารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและการฆ่าเชื้อมาลาเรีย

“สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และง่ายต่อการสังเคราะห์สารที่มีความหลากหลายทางโครงสร้างเพื่อมุ่งสู่การงานวิจัยที่ต่อยอดไปยังการค้นหาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และเชื้อมาลาเรีย ซึ่งนับเป็นโรคที่ทำให้ประชากรของประเทศเสียชีวิตมากที่สุดโรคหนึ่ง ดังนั้น หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่การค้นพบตัวยาชนิดใหม่ ๆ ที่สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการสังเคราะห์ตัวยาได้เองในประเทศ”

ขณะที่ “รศ.ดร.ศิริลตา ยศแผ่น” วิจัยมุ่งเน้นที่จะคิดวิธีพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์ทางเลือกใหม่ โดยได้ใช้แนวคิด carbon-hydrogen (C-H) bond functionalization ผสมผสานกับการเร่งปฏิกิริยาเคมี (catal-ysis) และหลักการทางเคมีสีเขียว (green chemistry) อันเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการสังเคราะห์สารอนุพันธ์ของยารักษาโรคในกลุ่มไพราโซโลน (pyrazolone) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และสารอินทรีย์โมเลกุลเล็ก

“carbon-hydrogen (C-H) bond functionalization เป็นหลักการที่ได้รับความสนใจจากนักเคมีเป็นอย่างมากในปัจจุบัน งานวิจัยนี้จึงนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเคมีอินทรีย์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยทางด้านชีวเคมี ชีววิทยา เภสัชศาสตร์ หรือด้านอื่น ๆ ได้”

“รศ.ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์” นักวิทยาศาสตร์อีกหนึ่งคนที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ พูดถึงที่มาที่ไปของงานวิจัยว่า ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาพลังงานทางเลือกจากทรัพยากรที่ยั่งยืน คณะวิจัยจึงศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจน ของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม เพื่อเรียนรู้ว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเข้าไปมีบทบาทอย่างไรในการลดพลังงานที่ใช้ในการเปลี่ยนสารตั้งต้นเป็นสารผลิตภัณฑ์

“โดยคณะวิจัยพบว่าในการเปลี่ยนไดฟีนิลอีเทอร์ และเมทิลฟีนิลอีเทอร์ด้วยการเติมไฮโดรเจนให้เป็นฟีนอลเมทานอลและเบนซีนโดยตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล มีกระบวนการแตกพันธะคาร์บอนออกซิเจนเป็นขั้นตอนที่อาศัยพลังงานมากที่สุด ทั้งยังพบว่ากรดลิวอิสไตรเมทิลอะลูมินัมสามารถไปเกาะกับออกซิเจนทำให้ลดความแข็งแรงของพันธะคาร์บอนออกซิเจนลง ช่วยให้การแตกพันธะคาร์บอนออกซิเจนใช้พลังงานน้อยลงได้ นำไปสู่แนวคิดการออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีทั้งโลหะและกรดลิวอิสในโครงสร้างโมเลกุลเดียวกัน คาดว่าจะสามารถใช้ย่อยพันธะคาร์บอนออกซิเจนให้ได้โมเลกุลที่มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมีต่อไป”

นับเป็นแบบอย่างให้ผู้หญิงไทยมีความมั่นใจว่า เธอสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโลกใบนี้ โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลักไมล์นำทาง