วรวัฒน์ บูรณากาญจน์ “BGP ต้องโตแบบก้าวกระโดด”

หากพูดถึงการแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต และจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นคำว่า “ราคาถูก” กับ “คุณภาพสูง” แต่กระนั้น จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงผู้รับงานปลายทางได้หลากหลายขึ้น จึงทำให้การบริหารจัดการองค์กร การบริหารธุรกิจ จำต้องปรับเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องทีมงาน พนักงาน เทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนองค์ความรู้ และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์

เฉกเช่นเดียวกับ “บีจีพี (BGP)” หรือ “บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด” ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต และจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ได้แก่ ขวดพลาสติก ฝา ฉลาก ลัง และกล่องกระดาษลูกฟูก ภายใต้การบริหารของ “วรวัฒน์ บูรณากาญจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด ที่มีการปรับโครงสร้างองค์กร การเสริมแกร่งให้กับทีมผู้บริหาร การส่งพนักงานคนไปฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้คุณภาพ และผลิตภาพจากการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนลดลง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เบื้องต้น “วรวัฒน์” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบีจีพี เขาเองเคยทำงานบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบีจีพี มากว่า 15 ปี ผ่านการทำงานทั้งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว และธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ จนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จึงเข้ามาดูแลและบริหารธุรกิจบรรจุภัณฑ์บีจีพี

“โจทย์หลักที่ผมได้รับจากผู้บริหาร คือ ทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนธุรกิจบีจีพีให้สามารถแข่งขันได้ และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะวันนี้การแข่งของธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะแพ้หรือชนะขึ้นอยู่ต้นทุนการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งวัตถุดิบมาจากแหล่งเดียวกัน เงินทุนและเทคโนโลยีไม่แตกต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้ต้นทุนจากการผลิตถูกลง เพื่อลูกค้ามีกำไรมากขึ้น ประหยัดมากขึ้น และยังสามารถตอบโจทย์กับปลายทางที่เป็นผู้ใช้ได้มากขึ้น”

ดังนั้น หากย้อนกลับมาดูที่ความท้าทายสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของบีจีพี ปรากฏฏว่ามีอยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา 2) คู่แข่งขัน และการบริการที่เราต้องมี และ 3) เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและตระหนักถึง โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก

“โดยในเรื่องของความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าธุรกิจพลาสติกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้ความต้องการของลูกค้ามีมากขึ้น เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ และบริการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ตรงนี้ทำให้บีจีพี ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้า ทั้งในเชิงของคุณภาพ และการบริการ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้”

“ต่อมาเป็นเรื่องของคู่แข่งขันในตลาด ถ้าหากพูดถึงตลาดของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นขวด ฝา ฉลาก ในปัจจุบันการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากผู้ผลิตและจำหน่ายในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอันดับ 1-20 เป็นรายใหญ่ ตรงนี้จึงทำให้เราหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีการพัฒนามาตรฐานและความเป็นเลิศในหลากหลายด้านให้มากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการในเรื่องของต้นทุนจากโรงงาน หรือต้นทุนจากพันธมิตร และซัพพลายเออร์ของเราเอง เพื่อทำให้ราคาของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมาถูกลง”

“สุดท้าย คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม วันนี้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาขยะเป็นอย่างมาก และมีการคาดการณ์ว่าต่อไปในอนาคตพลาสติกจะต้องไม่มีอยู่ ตรงนี้เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นสำหรับธุรกิจของบีจีพี ปัจจุบันเรามีการศึกษาค้นคว้าร่วมกับซัพพลายเออร์ว่าต่อไปธุรกิจพลาสติกจะมีความยั่งยืนได้อย่างไร และจะมีอะไรมาทดแทน หรือเสริมได้หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่แค่เพียงบีจีพีเท่านั้นที่ได้ศึกษา แต่คู่แข่งขันของเราทั้งในและต่างประเทศได้มีการศึกษา และปรับตัวเพื่อหาทางรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

“วรวัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาค้นคว้าและวิจัยในเรื่องพลาสติกที่ทำอยู่ ตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น อาจจะต้องใช้เวลาในการทำงาน และหากมองในระยะยาว ส่วนตัวแล้วคิดว่ายังไม่มีอะไรสามารถทดแทนพลาสติกได้อย่างชัดเจน แต่อาจจะมีสิ่งที่เข้ามาเสริม เช่น เม็ดพลาสติกบางอย่างอาจจะย่อยสลายง่ายกว่าพลาสติกในรูปแบบปัจจุบัน

“อาจจะเป็นรูปแบบการนำกลับ มา ใช้ใหม่ แต่ว่าในปัจจุบันลูกค้าหลัก ๆ ของเราจะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้นำเอาวัตถุดิบที่เป็นรีไซเคิลมาใช้ ทำให้ของเสียที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเรานำกลับมารีไซเคิลใช้ในโรงงาน ส่วนที่เหลือเราส่งให้กับพันธมิตรเพื่อนำไปใช้อย่างอื่น ดังจะเห็นว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกจะมีความท้าทายกว่ากระดาษ แม้ว่าจะมีการคิดค้นพลาสติกรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทน แต่ยังมีราคาสูง ทำให้ไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้”

“ขณะที่กระดาษนั้นสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% และปัจจุบันธุรกิจของบีจีพีใช้กระดาษรีไซเคิล ในส่วนที่เรียกว่า ลอนกระดาษ ซึ่งเป็นกระดาษลูกฟูกส่วนตรงกลางของกล่อง ขณะที่ปะนอกปะในมีบางส่วนเท่านั้นที่มาจากการรีไซเคิล ส่วนที่เหลือเป็นเยื่อกระดาษที่ทำจากไม้ที่ได้จากการปลูกเพื่อทำให้กล่องมีความแข็งแรงและทนทานขึ้น และด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความต้องการใช้กล่องกระดาษ กล่องพัสดุเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องด้วย เฉพาะของบีจีพีเองมีการเติบโตค่อนข้างดี 7-10% ขณะที่พลาสติกโตขึ้นในอัตรา 3-5% เท่านั้น โดยปัจจุบันสัดส่วนของการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกของเรา คิดเป็น 55% ขณะที่กระดาษอยู่ที่ 45%”

“ผมมองว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษจะเติบโตได้อีกมาก ฉะนั้น เราจึงจะพัฒนาส่วนนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น ในช่วง 1-3 ปีต่อจากนี้ไป ซึ่งสอดคล้องกับพันธมิตรของเราที่อยู่ต้นน้ำของการผลิตมีแผนที่จะขยายธุรกิจ ตรงนี้ทำให้เรามองว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษจะเป็นธุรกิจหลักมากขึ้น และคาดว่าปีหน้าสัดส่วนระหว่างพลาสติกและกระดาษจะเท่ากัน”

อย่างไรก็ตาม จากความท้าทายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของบีจีพี “วรวัฒน์” จึงมองเห็นทิศทางที่จะพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บีจีพีแข่งขันได้ และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเขาบอกว่า สิ่งที่ผมทำตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง คือ การปรับปรุงโรงงาน โดยเฉพาะกระบวนการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ด้วยการนำเอาทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาเสริมแกร่งให้กับทีมบริหารเดิม ทั้งยังส่งพนักงานไปฝึกอบรมภายนอกจากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการร่วมกับพันธมิตรเพื่อหาวิธีการเก็บกลับมาใช้ใหม่ในส่วนที่เป็นพลาสติก และกระดาษ

“เหตุผลที่เราต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาโรงงาน เพราะโรงงานผลิตกล่องของเราดำเนินการมากว่า 40 ปี ถือเป็นโรงงานแรก ๆ ของประเทศ รวมถึงโรงงานพลาสติกถือว่าเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ทำให้ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยี องค์ความรู้ กระบวนการ และขั้นตอนที่ดีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบโจทย์การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเสริมแกร่งทีมบริหารที่นำเอาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามา จะทำให้ทีมบริหารเดิมเปิดมุมมอง หรือมิติใหม่ ๆ เพราะผู้บริหารใหม่ที่เข้ามาไม่ได้อยู่ในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ แต่มีองค์ความรู้ในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตที่หลากหลาย อย่างบางคนทำชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งจากฝั่งยุโรป หรือฝั่งญี่ปุ่น ตรงนี้จะทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้บริหารเดิมที่มีประสบการณ์ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ กับผู้บริหารใหม่ที่มีทักษะ ประสบการณ์ด้านอื่น ๆ เข้ามาทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น”

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน ควบคู่ไปกับการเสริมแกร่งให้กับทีมผู้บริหาร โดยการส่งพนักงานไปอบรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเชิงเทคนิคและวิศวกรรม เพราะต่อจากนี้ไป เราจะมีการส่งออกมากขึ้น จึงต้องมีการอัพเกรดเทคโนโลยีสู่มาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน ทีมงานต้องมีความรู้ความสามารถ ล่าสุดเรามีการส่งทีมงานไปดูงานที่ประเทศแคนาดา รวมถึงอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในเรื่องขององค์ความรู้และทักษะเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ เรามองกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่”

“สุดท้ายเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอย่างกระดาษ เรามีการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่แล้ว ส่วนพลาสติกเราได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการหาวิธีการช่วยลูกค้าให้สามารถเก็บกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งความชัดเจนในเรื่องนี้จะเห็นได้ในปีหน้า”

ถึงตรงนี้ “วรวัฒน์” บอกว่า นอกจากความท้าทายทั้ง 3 เรื่องดังที่กล่าวมา การแข่งขันในธุรกิจนี้จะแพ้ หรือชนะ ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ออกมาต้นทุนต้องมีราคาถูกลง ทำให้ลูกค้าได้กำไรมากขึ้น สะดวกมากขึ้น ประหยัดมากขึ้น สามารถตอบโจทย์กับปลายทางที่เป็นผู้ใช้ได้มากขึ้น

“ฉะนั้น สิ่งที่เราทำในการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร พัฒนาทักษะพนักงาน รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ของเสียน้อยสุดแข่งขันได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าธุรกิจของเราในปีนี้จะปิดยอดขายอยู่ 1,700 ล้านบาท และในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จะเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดราว 3,000-5,000 ล้านบาท”

“โดยสัดส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจะมาจากธุรกิจกล่องกระดาษ 65% และพลาสติก 45% ซึ่งตรงกับเป้าหมายของเราที่ต้องการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ทั้งในส่วนโรงงาน และกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น”

อันเป็นสิ่งที่ “วรวัฒน์” กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น