ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำป่าสัก ชูเกษตรยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา

ถึงตอนนี้โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน เดินทางมาถึงปีที่ 7 แล้ว ที่ไม่เพียงจะมีพันธมิตรจากหลายภาคส่วนร่วมเดินทางด้วยกัน อาทิ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อร่วมโครงการล่าสุดเมื่อหลายเดือนผ่านมากับกิจกรรม “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 อ.ภูหลวง และ อ.ภูเรือ จ.เลย

ยิ่งเฉพาะกับเรื่องการฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย ซึ่งถือเป็นบริเวณต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ โดยครอบคลุมอาณาบริเวณกว่า 15,625.87 ตารางกิโลเมตร

วิวัฒน์ ศัลยกำธร”

“วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า จ.เลยเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่เราจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตั้งแต่ปี 2547 ทั้งยังจัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงในปี 2551 ลุ่มน้ำป่าสักจึงเป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศที่มีการดำเนินโครงการของเรา

“ทั้งยังมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกในการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างหลุมขนมครกกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้ชาวบ้านพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น จนเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายของเราต้องการให้ชาวบ้านน้อมนำศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสัก พร้อมกับขยายผลไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย”

“เพราะศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า และการพัฒนาคน ที่สำคัญศาสตร์พระราชายังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ 1 ใน 17 เป้าหมายเรื่องการขจัดความยากจนด้วยการสอนให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งพาตนเอง เพิ่มรายได้จากการทำเกษตรพอเพียงในการลดภาระค่าใช้จ่ายจากแหล่งอาหารภายในบ้าน เพื่อขจัดความหิวโหยด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้านเกษตรกรรมในการทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี”

ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม

ขณะที่ “ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวเสริมว่า ลักษณะภูมิประเทศของ จ.เลยส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำเลย, ลำน้ำพุง, ลำน้ำพอง, แม่น้ำเหือง รวมถึงแม่น้ำป่าสัก ด้วยความที่เป็นต้นน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้

“เพราะเมื่อก่อนสภาพพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายมากจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ ไม่มีรากไม้ยึดเกาะดิน จนเกิดปัญหาดินถล่ม การชะล้างหน้าดิน ดินตะกอนทับถมในแม่น้ำจนตื้นเขิน จึงเกิดน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างรุนแรง ชาวบ้านหินสอจึงชักชวนกันคืนผืนป่า และช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูจนป่าต้นน้ำกลับคืนมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง แต่กระนั้นยังต้องการความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และกระตุ้นด้วยการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ และลงมือทำจริงในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักต่อไป”

“เราจึงมีการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสวนป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น ยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย”

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

สำหรับ “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ขาดแคลนทรัพยากร เพราะประเทศของเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดินดีอุดมสมบูรณ์ แต่ประชาชนขาดองค์ความรู้และการจัดการที่ดี โครงการจึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก

“โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่เหลือจะเป็นเฟสสุดท้ายของโครงการ และจะต้องเป็นช่วงที่ต้องเร่งเครื่องอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพจนเกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง เราจึงเข้ามาสนับสนุนโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ด้วยการมุ่งเน้นอบรมและจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” มาตั้งแต่ปี 2557 และจะทำต่อเนื่องจนถึงปี 2563 รวมทั้งหมด 7 ปี โดยมุ่งหวังให้แนวทางนี้เป็นกระแสหลักที่คนไทยต้องหันมาลงมือทำ เพราะเชฟรอนยังคงต้องร่วมกันทำงานกับพันธมิตรและเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแตกตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศในเร็ววัน”

แสวง ดาปะ

“แสวง ดาปะ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าของพื้นที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ลูกเดือย จนมีหนี้สินมาก ผมจึงเปลี่ยนมาทำการเกษตรผสมผสานด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้อินทรีย์ต่าง ๆ โดยไม่ใช้สารเคมี จนทำให้หนี้สินลดลง นอกจากนั้น ผมยังนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้กับการทำพื้นที่การเกษตรด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

“ที่สำคัญทาง สจล.ยังมาช่วยออกแบบพื้นที่การเกษตรของผมด้วยการทำโคก หนอง นา โมเดล จนทำให้ผมสามารถปลูกลิ้นจี่ 14 ไร่ พร้อมกับให้เช่าปลูกขิง 5 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 30 กว่าไร่ยังปลูกไม่เต็มพื้นที่ ซึ่งผมกะว่าจะปลูกกาแฟกับหมากเม่าผสมผสานกัน ตอนนี้ผมเตรียมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ผมยังวางแผนที่จะปลูกพืชที่ให้ผลผลิตตลอดปีอย่างยอดหวาย, มะขามหวาน พร้อม ๆ กับปลูกพืชสมุนไพร เช่น ขมิ้น, เปราะหอม, ไพร เพราะเรามีเครือข่ายที่จะส่งสมุนไพรเหล่านี้ให้กับทางอภัยภูเบศร, พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ, เครือข่ายชุมชนของเบโด้, พาณิชย์จังหวัด และสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพราะเครือข่ายเหล่านี้เป็นตลาดของเรา และเขายินดีที่จะรับซื้อผลผลิตของเราโดยไม่จำกัดจำนวน”

จนทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเป็นบุคคลตัวอย่างของการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน