“ไทยเบฟ” เบอร์ 1 DJSI ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มอาเซียน

หลังจากที่ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2562 ซึ่งมีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 21 บริษัท ทั้งยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (industry leaders) มากถึง 8 บริษัท โดยหนึ่งในนั้น คือ “บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV)” ที่ไม่เพียงได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI World Index และกลุ่มดัชนี Emerging Market Index เท่านั้น

ไทยเบฟยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยคะแนน 92 คะแนน สูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม (beverage) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งถือเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทย และของอาเซียนเพียงบริษัทเดียว ที่ได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่โดดเด่น และสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

“โฆษิต สุขสิงห์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง กล่าวว่า DJSI ถือเป็นดัชนีที่ใช้ในการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจในทั่วโลก ทั้งยังเป็นดัชนีที่กองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน เพราะมั่นใจว่าบริษัทที่ติดใน DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี และยั่งยืนได้

“การประเมิน DJSI ในปีนี้ ไทยเบฟได้คะแนนในภาพรวมอยู่ที่ 92 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน และถือว่าเป็นคะแนนสูงสุดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทำให้เราขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งในดัชนีระดับโลกและดัชนีตลาดเกิดใหม่ โดยสัดส่วนคะแนนที่ไทยเบฟได้มากที่สุดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน ซึ่งเป็นการมองภาพใหญ่ของห่วงโซ่ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะที่เรื่องการบริหารและพัฒนาบุคลากรเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราได้คะแนนสูง”

“สำหรับเนื้อหาสาระของการประเมินที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ (raw material sourcing) ถือว่าเป็นส่วนที่คะแนนของทุกบริษัทในทั่วโลกลดลง ซึ่งรวมถึงไทยเบฟ เนื่องจากมีการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินใหม่ โดยถามหาวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตวัตถุดิบที่อยู่ต้นน้ำให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระด้านความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด และมีการตรวจสอบ วัดผล และประเมินผลจากหน่วยงานภายนอกเป็นอย่างไรบ้าง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่านอกจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรแล้ว สิ่งสำคัญคือ การขยายฐานความรู้ และแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนไปยังคู่ค้า ซัพพลายเชน ตลอดจนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบ ๆ ด้านของธุรกิจด้วย”

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟให้ความสำคัญกับเรื่องซัพพลายเออร์ที่อยู่ในกระบวนการต้นน้ำของการผลิตเป็นอย่างมาก โดยสร้างการเชื่อมโยงผ่านโครงการ และการดำเนินงานที่เข้าไปช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพผู้ผลิตวัตถุดิบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางที่ DJSI ให้ความสำคัญ ทั้งยังเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะผลผลิตของวัตถุดิบที่เกิดขึ้น

“ไทยเบฟเน้นย้ำห่วงโซ่คุณค่าเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การขายการตลาด การสื่อสารผู้บริโภค สุดท้ายคือ การเก็บกลับ ตรงนี้เรามองว่าถ้าไทยเบฟจะเข้มแข็งได้ ทุก ๆ ส่วนของห่วงโซ่คุณค่าจะต้องเข้มแข็งด้วย อย่างการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบ สิ่งแรกที่ไทยเบฟให้ความสำคัญ คือ การได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้า และบริการที่ออกมามีคุณภาพ ซึ่งเราในฐานะบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม จุดแรกที่มองคือเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของธุรกิจ โดยไทยเบฟมีแนวทางบริหารจัดการน้ำให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดตลอดทั้งกระบวนการผลิต ทั้งยังมีการวิเคราะห์การไหลของน้ำทั้งประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาช่วยเปรียบเทียบตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และมองไปถึงอนาคต ว่าทิศทางการไหลของน้ำเป็นอย่างไร มีสิ่งเจือปนที่จะไหลผ่านชุมชน หรือซัพพลายเออร์บริเวณไหน เพื่อให้เราและเขารู้ข้อมูลล่วงหน้า และสามารถบริหารจัดการได้”

“การที่ไทยเบฟทำเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตที่เป็นซัพพลายเออร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการความยั่งยืนมากขึ้นแล้ว ยังทำให้แนวทางการทำงานของไทยเบฟ และซัพพลายเออร์ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สุดแล้วจะทำให้ไทยเบฟมีวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ และมีความยั่งยืนอีก ซึ่งถือเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้จากทำงานด้านความยั่งยืนไปขยายผล สร้างการเรียนรู้ให้กับซัพพลายเออร์อีกด้วย”

“โฆษิต” กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่น้ำหนักทางด้านสังคม ในปีนี้ DJSI ให้ความสำคัญกับการวัดผลมูลค่าเพิ่มที่สามารถสร้างสรรค์ได้ ผ่านโครงการที่บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และพัฒนาจนสามารถขยายผลให้กับชุมชน อย่างโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่ไทยเบฟเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการ ซึ่งถือเป็นการนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่ของภาคเอกชนไปร่วมพัฒนาโรงเรียน และต้องวัดผลได้ว่า นักเรียนมีพัฒนาการเป็นอย่างไร เด็กนักเรียนมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ส่วนเนื้อหาฝั่งเศรษฐกิจ นอกจากผลประกอบการ ผลกำไร และการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว การประเมินของ DJSI ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารแบรนด์สินค้า สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์สินค้าและบริการของธุรกิจ

“ทั้งนั้น จากการเปรียบเทียบผลประเมินของ DJSI ในปีนี้ การที่เราจะได้คะแนนประเมินเพิ่มขึ้น 1 คะแนน ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะแบบประเมิน CSA (corporate sustainability assessment) จะมีหัวข้อ และมุมมองกว่า 28 ข้อ ที่ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเบฟต้องทำความเข้าใจ แล้วตอบแบบประเมินอย่างละเอียดและรอบคอบ ทั้งนี้ หากมีบริษัทใดได้คะแนน 100 เต็ม ผู้ประเมินจะมีการเปลี่ยนคำถามในแบบประเมินใหม่”

“ที่ผมบอกว่าในแบบประเมินจะมีหัวข้อ และมุมมองนั้น ไม่ใช่ว่าจะออกมาเป็นข้อคำถาม แต่จะเป็นรูปแบบไกด์ไลน์ให้เท่านั้น ซึ่งเราต้องนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ของบริษัทในเชิงประจักษ์ ที่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเราทำเรื่องเหล่านี้จริง มาตอบในหัวข้อและมุมมองนั้น ๆ และหลักการของหัวข้อและมุมมองที่เกิดขึ้น จะมาจากผลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทในปีก่อนหน้านั้น ทำให้เราไม่สามารถสร้างข้อมูลเท็จขึ้นมาได้”

ทั้งนั้น หากย้อนมาดูถึงแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ เราจะให้ความสำคัญและน้ำหนักกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การบริการจัดการซัพพลายเชน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีกระบวนการการจัดการของเสียอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

“เพราะเรามองว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดปัญหาจะส่งผลกระทบโดยตรงมาสู่ผู้คน ชุมชน ตลอดจนสังคม และถ้าหากทั้ง 2 ส่วนนี้มีปัญหา จะส่งผลให้ไทยเบฟดำเนินธุรกิจไม่ได้ กล่าวง่าย ๆ คือ ถ้าสิ่งแวดล้อมมีปัญหา สังคมอยู่ไม่ได้ เราจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจ ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมต้องดี ชุมชนและสังคมต้องอยู่ได้ ตรงนี้จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโต แข็งแรงไปพร้อม ๆกันได้”

อีกทั้งเรามองว่าการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเข้าไปอยู่ทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำจะตอบโจทย์กลยุทธ์ และนโยบายขององค์กร ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เกิดการจัดการธุรกิจที่เป็นระบบ ตอบสนองความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ถึงตรงนี้ “โฆษิต” บอกอีกว่า การที่ไทยเบฟได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนี DJSI ทั้งในกลุ่ม World และ Emerging Index รวมถึงได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 2 ปีซ้อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความตั้งใจในการที่จะพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟ ที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทในการสร้างความยั่งยืน

“เป้าหมายความสำเร็จด้านความยั่งยืนของไทยเบฟ ไม่ใช่เพียงแค่การได้รับจัดอันดับ หรือการได้รับรางวัล การรับรองต่าง ๆ เท่านั้น แต่เรื่องความยั่งยืนต้องเป็นวัฒนธรรมองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอที่พนักงานทุกคนต้องให้ความสำคัญ ทั้งยังจะต้องถูกส่งผ่านข้ามเจเนอเรชั่นไปสู่รุ่นต่อไปของธุรกิจในอนาคต ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก”

อันเป็นการตอกย้ำถึงความพร้อม และศักยภาพทางธุรกิจของไทยเบฟ ที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลกต่อไป

สำหรับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM โดยได้เทียบเชิญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 3,400 แห่งใน 60 อุตสาหกรรม เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลก รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน และมั่นใจว่าบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุนได้ และในปี 2562 นี้มีบริษัทไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 21 บริษัท โดยแบ่งเป็นกลุ่มดัชนี DJSI World จำนวน 12 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, PTTGC, SCC, CPN, ADVANC, IVL และ AOT ซึ่งดัชนีในกลุ่มนี้จะคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุด 2,500 อันดับแรกของโลก ขณะที่กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 20 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, MINT, BANPU, IRPC, PTTEP, PTT, TOP, CPALL, CPF, THBEV, TU, IVL, PTTGC, CPN, HMPRO, TRUE, AOT, BTS และ ADVANC


ที่สำคัญในปีนี้มีบริษัทไทยยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (industry leaders) มากถึง 8 บริษัท ได้แก่ BANPU (coal & consumable fuels), CPALL (food & staples retailing),THBEV (beverages), TU (food product), TRUE (telecommunication services), TOP (oil & gas refining & marketing), PTTEP (oil & gas upstream & integrated) และ PTTGC (chemicals)