ช่วยน้ำท่วม-น้ำแล้ง เรียนรู้จากระบบนิเวศ

นักสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ หลังจากยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เป็นตัวสร้างก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองเคยได้รับผลกระทบในปี 2554 เมื่อคราวเกิดมหาอุทกภัย ผลเช่นนี้จึงทำให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ “GIZ” ที่ร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องการเข้ามาร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ ในการช่วยเรื่องปรับตัวและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง โดยใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation – EBA) เป็นตัวขับเคลื่อน

“จารุวรรณ งามสิงห์” เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ เชิงระบบนิเวศเพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบให้ประเทศไทยประสบกับน้ำท่วมและภัยแล้งถี่ขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องมาจากกระบวนการผลิตต้องชะงัก

“ในอดีตประเทศไทยและเยอรมันมีความร่วมมือในการดำเนินการครอบคลุมแทบทุกสาขาด้านการพัฒนา โดยทศวรรษแรกมุ่งไปที่การพัฒนาชนบทเกษตรกรรมและอาชีวศึกษา จากการที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้เป้าหมายของความร่วมมือตั้งแต่ปี 2533 เปลี่ยนไปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย การรักษาสิ่งแวดล้อมและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ”

ดังนั้นในฐานะที่ GIZ เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงและปกป้องสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังมองว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่เพียงพอจึงเข้ามาช่วยเหลือผ่านโครงการ EBA

“โดยการดำเนินโครงการ EBA เราเลือกพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง 3 จังหวัด คือราชบุรี, ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช เพราะเราอยากทดลองในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กก่อน เพื่อดูว่าสามารถใช้ในประเทศไทยทั้งประเทศได้หรือไม่ โดยเราเริ่มจากการจัดอบรมความรู้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน จากนั้นจึงทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจต้นเหตุของปัญหา และหามาตรการป้องกันแก้ไข โดยเสนอมาตรการส่งต่อให้กรมทรัพยากรน้ำลงมือปฏิบัติอีกทางหนึ่งด้วย”

“จารุวรรณ” อธิบายต่อว่า โครงการ EBA ใช้ระบบนิเวศเป็นกลไกแก้ปัญหา เพราะระบบนิเวศมีประโยชน์ 4 ด้าน หนึ่ง ให้อาหาร และออกซิเจนในน้ำ ทำให้ระบบธรรมชาติทำงานอย่างลงตัว สอง สร้างสมดุลระหว่างปริมาณน้ำฝน และความร้อนจากดวงอาทิตย์ สาม ให้ประโยชน์ด้านวัฒนธรรม เช่น ลอยกระทง หรือประเพณีต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก สี่ เป็นระบบเพาะพันธุ์สัตว์

“นอกจากการทำงานกับหน่วยงานในประเทศไทย ภายใต้ร่ม EBA เรายังจัดการเรียนรู้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีความเปราะบางทางด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกลุ่มประเทศทางฝั่งตะวันออกกลาง ซึ่งล่าสุดเราจัดการดูงานเรื่องป่าชายเลน การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการจัดการน้ำเสีย ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ EBA จากนานาประเทศเกือบร้อยคนเดินทางมาศึกษา Best Practice ของประเทศไทย”

“ในอดีตชายฝั่งบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ประเทศไทยจึงมีการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ 7 รูปแบบ คือเขื่อนกันทราย และคลื่น, กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด, เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง, เขื่อนป้องกันเขื่อนนอกชายฝั่งแบบจมน้ำ, รอกดักทราย, การถมทรายถมชายหาด และกำแพงหินทิ้ง จากนั้นอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร จึงใช้สถานที่บริเวณนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ที่มาชมนำไปประยุกต์ใช้ และช่วยปลุกสำนึกให้ตระหนักถึงประโยชน์มหาศาลของป่าชายเลน”

จึงนับเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมันและไทยในการวางแผนมาตรการการปรับตัวเชิงระบบนิเวศ ที่นอกจากจะเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ยังจะช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย