“ปิดทองฯ” ผนึก 296 อปท.ชายแดนเหนือ ใช้แนวพระราชดำริแก้ปัญหายาเสพติด

ปิดทองฯ จับมือท้องถิ่น 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ กระตุกต่อมคิดปรับใช้แนวพระราชดำริแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งเป้าให้ความรู้ 296 อปท. หวังให้เกิดโครงการเร่งด่วนสู่ปฏิบัติจริง

นายการัณย์  ศุภกิจวิเลขการ  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวภายหลังการประชุมใหญ่ของอนุกรรมการดำเนินการอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาการค้าและการลำเลียงยาเสพติดบริเวณชายแดนภาคเหนือ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ หน่วยงานด้านความมั่นคงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินโครงการอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริแก่ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือที่มีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติด

โดยผู้นำท้องถิ่นที่เข้าร่วม ครอบคลุมพื้นที่ 269 ตำบล 19 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา ระยะเวลาดำเนินงานปี 2562-2565 ซึ่งปีงบประมาณ 2562 มีความคืบหน้าน่าพอใจ และการประชุมอนุกรรมการดำเนินการอบรมฯ ครั้งนี้ได้เห็นชอบในหลักการแผนดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณ 2563 เพื่อกำหนดการทำงานให้มีความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ได้แก่ 1.กิจกรรมการเรียนรู้ประสบการณ์การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริโครงการร้อยใจรักษ์ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 2.การฝึกปฏิบัติด้านการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2563 จะมีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับกับความต้องการในพื้นที่ดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมอนุกรรมการดำเนินการอบรมฯในครั้งนี้ได้ให้การเห็นชอบในหลักการด้วย

“การทำงานในช่วงปีแรกของโครงการมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งในส่วนการให้ความรู้ที่เป็นส่วนของทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันทำงาน เช่น สำนักงาน ปปส. ก็ให้ความเห็นว่านอกจากการให้ความรู้เพื่อพัฒนาทางเลือกแล้วจะต้องเพิ่มน้ำหนักกับประเด็นการเฝ้าระวังยาเสพติด ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ รวมถึงประเด็นให้ความสำคัญกับอำเภอมาเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการนำทุกความเห็นไปปรับเข้ากับแผนในปีต่อๆไป” นายการันต์กล่าว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินการอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาการค้าและการลำเลียงยาเสพติดบริเวณชายแดนภาคเหนือ ให้แก่ผู้นำท้องถิ่นเป้าหมายในปี 2562-2565 นั้น ในส่วนกิจกรรมกการเรียนรู้ประสบการณ์การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริโครงการร้อยใจรักษ์ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

มีเป้าหมายให้ความรู้ 296 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2561–10 ต.ค.2562 รวม 107 รุ่น จำนวน 111 อปท. มาจาก จ.เชียงใหม่  33 อปท. 5 อำเภอ จ.เชียงราย 60 อปท. 9 อำเภอ จ.แม่ฮ่องสอน 15 อปท. 3  อำเภอ และ จ.พะเยา 4 อปท. 2 อำเภอ รวมผู้เข้ารับการอบรม 6,632 คน ส่วนในปี 2563 จะดำเนินการ 94 อปท.

ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยบุคคลจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการระดับอำเภอที่ปฏิบัติงานในตำบล ผู้บริหารและข้าราชการ อปท.  ผู้นำท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน  องค์ความรู้ที่ได้ คือการเรียนรู้เรื่องหลักการทรงงานที่นำมาประยุกต์ใช้ในโครงการร้อยใจรักษ์  เช่น ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา  หลักการการระเบิดจากข้างใน การทำงานแบบบูรณการกับหลายภาคส่วน และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ

มีการเรียนรู้การจัดการพื้นที่แบบองค์รวมในพื้นที่ 75 ไร่ มีการพัฒนาระบบน้ำ การเกษตรพอเพียง (พืชระยะยาว) ความมั่นคงทางอาหาร (พืชระยะสั้น) และปศุสัตว์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการทำงานของส่วนราชการ เช่น กฎระเบียบหมู่บ้าน และโครงการอาสาทำความดี

สำหรับหลักสูตรการฝึกปฏิบัติด้านการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอพียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ผู้นำท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรแรกแล้วมีการคัดเลือก อปท.ละ 20 คน มาปฏิบัติจริง มีเป้าหมายตลอดโครงการ 208 อปท. ในปี 2562 ดำเนินการตั้งแต่ 25 ก.พ.2562- 25 ต.ค.2562 อบรมไปแล้ว 9 รุ่น รวม 34 อปท. มาจาก จ.เชียงใหม่ 16 อปท. 5 อำเภอ จ.เชียงราย 18 อปท. 9 อำเภอ รวมผู้เข้ารับการอบรม 846 คน

นำเสนอโครงการเร่งด่วน ที่นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงที่ได้รับอนุมัติแล้ว 25 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 โครงการ ใช้งบประมาณดำเนินการ 11.13 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณของ อปท. 6.2 ล้านบาท และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สมทบทุน 4.9 ล้านบาท โดยในปี 2563 มีเป้าหมายดำเนินการใน 68 อปท. และเกิดโครงการเร่งด่วน 60 โครงการตามหลักสูตรนี้


เป้าหมายของโครงการทุกระยะ ทุกรูปแบบ เพื่อฝึกปฏิบัติตามหลักการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสภาพปัญหาของชุมชน ตามหลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เรียนรู้ความรู้ประเด็น เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่แบบประณีต การปลูกข้าว ไร่ผลผลิตสูง ปศุสัตว์ ฝาย ระบบน้ำ และเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการนำเสนอโครงการเร่งด่วนหรือโครงการควิกวินของแต่ละพื้นที่