“มิตรผล” ร่วมพัฒนา สร้างชุมชนเข้มแข็ง-พึ่งตนเอง

ต้องยอมรับว่า นอกจากการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง ด้วยการการนำเอาเทคโนโลยี เครื่องจักร และการบริหารจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตแล้ว ประเด็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ

โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการจัดการกับผลผลิต การจัดจำหน่าย การหาแนวทางสร้างรายได้เสริม พร้อมผลักดันวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ คืออีกส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเกษตรอย่างยั่งยืน

ซึ่งเหมือนกับ “กลุ่มมิตรผล” ที่ไม่เพียงจะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หากยังมีความผูกพันกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาเป็นเวลานาน เพราะชาวไร่อ้อยเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นเจ้าของวัตถุดิบ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงมีความสำคัญดังปรัชญาของกลุ่มมิตรผลที่ว่า “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

เนื่องจากกลุ่มมิตรผลเริ่มเข้าไปมีส่วนดูแลชาวไร่ ในโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ในปี 2545 โดยนำผู้ที่มีความรู้มาร่วมคิด ร่วมพัฒนา ซึ่งเริ่มต้นจากระดับหมู่บ้าน จนยกระดับมาสู่ตำบล โดยอาศัยความร่วมมือกับชาวไร่เป็นหลัก เพื่อมุ่งเน้นการให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

ล่าสุด กลุ่มมิตรผลมีการจัดงาน “สืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนา” เพื่อสะท้อนความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“คมกริช นาคะลักษณ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การจัดงานสืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนาครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่กลุ่มมิตรผลดำเนินงานภายใต้เป้าหมาย 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยอาชีพเสริม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยมีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำไร่อ้อย เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งในครัวเรือนเพื่อความสุข ความยั่งยืน 5 ด้าน

สอง เพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิต ด้วยมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS-Participatory Guarantee System)

สาม ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างมาตรฐานสินค้า และอัตลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับ และแข่งขันได้ รวมถึงการขยายตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย

“หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต้องบอกว่า เกิดจากการที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ยืนอยู่บนหลักความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ในขั้นตอนของทุกกระบวนการในการทำธุรกิจจะต้องนำพาผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน ตั้งแต่ชาวไร่อ้อย คู่ค้า ลูกค้า ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโต อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

“จากแนวคิดร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จึงถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาของเรา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราจึงเริ่มโครงการพัฒนาผลผลิต และเพิ่มพูนผลกำไรให้กับชาวไร่อ้อยผ่านโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ตั้งแต่ปี 2545 จนในปี 2555 มีการยกระดับสู่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”

“คมกริช” กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนถือเป็นระยะที่ 4 ของโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงโอกาสในด้านสังคม เสริมสร้างสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ชุมชนมีความสุข เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาใน 5 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนในชุมชนมีความพอเพียงด้วยการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ละเลิกอบายมุข และทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งเสริมการออม พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพหลักและอาชีพเสริม

สอง ด้านสังคม พัฒนาผู้นำ ครัวเรือนต้นแบบ บุคคลต้นแบบ และบุคคลตัวอย่าง สนับสนุนการมีส่วนร่วม และการรวมกลุ่ม สร้างศูนย์การเรียนรู้ อาทิ โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ

สาม ด้านสุขภาวะ ให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ชุมชนมีสุขลักษณะอนามัยที่ดี

สี่ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีเพื่อให้ปลอดภัยจากสารพิษ มุ่งเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดกลุ่มการจัดการทรัพยากรชุมชน

ห้า ด้านจิตใจ มุ่งเน้นครอบครัวอบอุ่น มีการวางแผนชีวิต สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง มีจิตสาธารณะ มีจริยธรรม

“สำหรับเป้าหมายการพัฒนาต่อไปตั้งแต่ปี 2560-2564 เราตั้งใจว่าแผนงานและตัวชี้วัดความสำเร็จของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ดำเนินงานจะต้องครอบคลุมใน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาระบบเกษตรชุมชน และอาหารปลอดภัย ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน และด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน”

“ปัจจุบันเราดำเนินโครงการในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผล ใน 21 ตำบล 8 จังหวัด เป็นพื้นที่นำร่อง 9 ตำบล และเป็นพื้นที่ขยายผลอีก 12 ตำบล มีสมาชิกครัวเรือนอาสากว่า 1,612 ครัวเรือน และพัฒนาเป็นครัวเรือนต้นแบบไปแล้ว 105 ครัวเรือน และที่สำคัญยังเกิดกลุ่มปลูกผักจำนวน 45 กลุ่ม เกิดตลาดเพื่อการจำหน่ายผลผลิต 21 แห่ง และมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,410,239 บาทต่อปี”

นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน