“เมืองปลอดฝุ่น” เป็นไปได้

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR talk

โดย ชยากรณ์ กำโชค

 

มลพิษทางอากาศ เคยเป็นวิกฤตที่ประเทศจีนต้องเผชิญความท้าทายตลอดทศวรรษที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยสถิติผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะจากฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่คนไทยคุ้นหูอย่าง PM 2.5 พบว่าเฉพาะปี 2014 มีชาวจีนเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบไหลเวียนเลือดถึงกว่า 1 ล้านราย หรือมีอัตราการเสียชีวิต 74 รายต่อประชากร 100,000 คน กระทั่งปี 2015 ที่ผ่านมา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) กลับมามีคุณภาพที่ดีขึ้น และล่าสุดปี 2019 ค่า AQI เฉลี่ยอยู่ที่ 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต

ขณะที่กรุงเทพมหานครเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (51-100) ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (101-200) และเคยอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 201) มาแล้วในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา จนกระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศปิดโรงเรียนในกรุงเทพฯ และต้องตระเวนฉีดน้ำระงับฝุ่นบนผิวการจราจรกันให้วุ่น ที่สำคัญผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยกันถ้วนหน้า

ทั้งนั้น หากพูดถึงประเทศไทย ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังกรุงเทพมหานครกลายเป็น “เมืองจมฝุ่น” ขั้นอันตราย สาเหตุหลักเกิดจากควันท่อไอเสียยานพาหนะ การก่อสร้างอาคาร และโครงสร้างพื้นฐาน การเผาไหม้ขยะ และโรงงานอุตสาหกรรม บางหน่วยงานบอกว่าหมูกระทะก็เป็นสาเหตุ ฯลฯ แต่ความจริงแล้วพี่น้องชาวเหนือนั้นคุ้นชินกับปัญหาเป็นอย่างดีในนาม “หมอกควันไฟป่า” ในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน มีสาเหตุหลักจากการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร ขณะที่พี่น้องชาวใต้ต้องเผชิญกับฝุ่นละอองที่ลอยมาไกลจากอินโดนีเซีย สาเหตุใกล้เคียงกับการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

จากสถานการณ์ข้างต้น หากจะบอกว่าไทยเป็น “ประเทศ 3 ฝุ่น” เห็นจะไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากนัก จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ก่อนที่สถานการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้น ความพยายามลองผิดลองถูกของจีนในทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศ 3 ฝุ่นกำลังพัฒนาไม่มากก็น้อย เพียงแต่ต้องเชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข เพียงแต่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุเท่านั้น

โดยมลพิษทางอากาศในจีนเกิดวิกฤตมากในช่วงปี 2008-2014 แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลจีนโดยเฉพาะเทศบาลกรุงปักกิ่ง เริ่มต้นให้ความสนใจตั้งแต่ปี 1998 หรือกว่า 20 ปีก่อน โดยคาดการณ์จากการเติบโตของเมือง อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงได้ออกแผนบริหารจัดการคุณภาพอากาศในระยะสั้น-กลาง-ยาว ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศ โดยพุ่งเป้าไปที่การควบคุมการเผาไหม้ถ่านหิน และท่อไอเสียยานพาหนะ แผนดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จ เมืองลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ตามมาตรฐาน

กระทั่งฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 เข้ามาเป็นปัญหาใหม่ต่อการดำรงชีพในเมือง รัฐบาลจีนจึงได้ตอกย้ำมาตรการไปทั่วประเทศ ด้วยการประกาศแผนปฏิบัติการปี 2013-2017 พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 7 แสนหยวน สำหรับบรรลุเป้าหมายสร้างอากาศสะอาดโดยมีวิธีการต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนเตาเผาถ่านหินกว่า 2 ล้านเครื่องในกรุงปักกิ่งเป็นเตาประเภทไร้ควัน ออกคำสั่งปิดหรือย้ายโรงงานรอบกรุงปักกิ่ง มีตำรวจสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมการกระทำผิดของโรงงานโดยเฉพาะ ควบคุมการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์เก่าพร้อมสนับสนุนให้คนใช้รถพลังงานไฟฟ้า ควบคุมการใช้รถยนต์ในแต่ละวันตามหมายเลขทะเบียน ยุติการก่อสร้างอาคารในช่วงฤดูหนาวเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งเสี่ยงปัญหาฝุ่นพิษมากที่สุด พร้อมใช้การจัดเก็บข้อมูล (data) รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน รายปีเพื่อใช้เป็นผลประเมินการดำเนินโครงการทั้งหมด และนี่ยังไม่นับรวมถึงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทันสมัยเข้ามาแก้ปัญหา เช่น อาคารขนาดใหญ่สำหรับกรองฝุ่นละอองในเขตเมือง

จากรายละเอียดเพียงเล็กน้อยข้างต้นพอจะอนุมานได้ว่าการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศนั้น จำเป็นต้องมองลึกให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาและประเมินตามความเป็นจริงและจำเป็นต้องมองไกลไปยังอนาคต แม้เป็นช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึง แต่เต็มไปด้วยความท้าทายที่น่าวิตกกังวลชนิดที่ไม่มีเมืองใดในโลกปฏิเสธ การมองลึก และมองไกลจะนำมาซึ่งแผนบริหารจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม แทนที่จะทำเป็น “มองไม่เห็น” อันส่งผลให้ทำได้เพียงตั้งรับปัญหาและแก้ไขไปวันต่อวันตามกระแส

อีกความท้าทายของปัญหาที่มองข้ามไม่ได้คือมลพิษทางอากาศไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับเมืองต่อเมือง และประเทศต่อประเทศ เช่น ฝุ่นละอองจากการเผาสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบกว้างไกลทุกปีถึงประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย หรือการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นค่านิยมร่วมของพี่น้องในพื้นที่ชายแดนฝั่งพม่าอีกด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจำเป็นต้องจับมือกันในระดับภูมิภาค ผนวกไปกับการเจาะจงแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั่นเอง

“แกรี ฟูลเลอร์” นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศแห่งคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ผู้เขียนหนังสือ “ฆาตกรที่มองไม่เห็น : ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกของมลพิษทางอากาศ-และเราจะต่อสู้ได้อย่างไร” กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่าร้อยละ 80 ทั่วโลกที่กำลังสูดดมเอาอากาศเป็นพิษ เฉพาะปี 2015 มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคน และปัญหายากที่จะแก้ไข หากเมืองยังไม่มีแผนตัดวงจรการสร้างอากาศเป็นพิษ เนื่องจากแนวโน้มประชากรจะย้ายเข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากขึ้นกว่า 2 ใน 3 ภายในปี 2050

“แกรี ฟูลเลอร์” ยังแนะนำการสร้าง “เมืองปลอดฝุ่น” (smog-free city) ว่า เมืองต้องจำกัดพื้นที่หรือโซนนิ่งเขตห้ามปล่อยสารที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หยุดการใช้พาหนะประเภทสันดาปเชื้อเพลิงเบนซิน และดีเซล เปลี่ยนผิวจราจรสำหรับรถยนต์เป็นพื้นที่สาธารณะ สร้างเมืองเดินได้พร้อมลำดับความสำคัญของการใช้พาหนะในเมืองเป็นการเดิน ปั่นจักรยาน และรถยนต์ตามลำดับ กระตุ้นการใช้ยานพาหนะร่วมกันหรือส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เปลี่ยนระบบการจัดการขยะโดยลดการเผาไหม้

ทั้งนี้ แม้ดูจะเป็นไปได้ยากสำหรับกรุงเทพฯ แต่หากมองลึก และมองไกลด้วยสายตาอันไม่ประมาท ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยของเราต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง เพื่อฟื้นฟูคุณภาพอากาศ และส่งต่อมันให้กับลูกหลานของเราต่อไป