ภารกิจ “หม่อมเต่า” ปฏิรูปแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จากผลพวงของ “ดิสรัปชั่น” ที่เปลี่ยนมุมมอง ความต้องการ การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับรูปแบบการทำงาน กลยุทธ์องค์กร การเพิ่มขีดความสามารถของ “คน” ให้สามารถรับมือกับพลวัตที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะการมาถึงของดิจิทัล เทคโนโลยี หุ่นยนต์ สมองกล และเอไอต่าง ๆ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการทำงาน เป็นการเพิ่มสมรรถนะ เพิ่มผลิตภาพให้กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงคนทำงานที่ต้อง “เสริมทักษะใหม่” (upskill) และ “เพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น” (reskill) ให้เท่าทัน และรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนั้น จึงไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และคนทำงาน ที่ต้องปรับตัว เตรียมการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แต่ “กระทรวงแรงงาน” ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการด้านแรงงาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย วางทิศทางใหม่ในการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้สอดคล้องกับกระแสโลก วิสัยทัศน์ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงความท้าทายในภารกิจการเตรียมความพร้อมให้กับกำลังแรงงานไทยทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจในภาพรวม

ปฏิรูปแรงงานตอบโจทย์โลกยุคใหม่

เบื้องต้น “ม.ร.ว.จัตุมงคล” กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานในภาพรวมของไทย กระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ คือ เร่งรัดปฏิรูปกำลังแรงงาน workforce transformation ให้มีทักษะการพัฒนาที่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ทำให้ไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

การปฏิรูปกำลังแรงงาน workforce transformation ไม่ใช่แค่เพียงการผลิตและพัฒนากำลังแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ ปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีผลิตภาพเพิ่ม เป็นกำลังแรงงานคุณภาพ (super worker) รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ การปฏิรูปโครงสร้างการทำงานในกระทรวงให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว เพื่อนโยบายบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

เร่งปรับโครงสร้างองค์กร

“เพราะที่ผ่านมากระทรวงแรงงานไม่มีหน่วยงานที่เป็นระดับคลังสมอง (think tank) โดยเฉพาะข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานที่จะนำใช้วิเคราะห์ วางทิศทางกระทรวง รวมถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เป็นเช่นนี้จึงทำให้การงานในเรื่องเฉพาะทางที่มีความจำเพาะต้องใช้คนจากกรม กองต่าง ๆ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานมาทำ ส่งผลให้กรอบการทำงานของกระทรวงไม่มีความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตรงนี้จึงเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งดำนินการแก้ไขก่อน ซึ่งตอนนี้ผมได้เชิญข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเป็นทีมคณะทำงาน คณะที่ปรึกษา โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เป็นประธานในการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้”

ใช้โมเดล EEC ผุด 20 ศูนย์ฝึกแรงงาน

“ม.ร.ว.จัตุมงคล” กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มตลาดแรงงานให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเพิ่มศักยภาพ และทักษะให้กำลังแรงงานในพื้นที่อีอีซี โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ แบ่งปันข้อมูลสถานการณ์ด้านดีมานด์ ซัพพลาย และการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคน ให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ใช้ และผู้ผลิต ทั้งยังได้จัดตั้ง centers of excellence 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ และศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากลอีกด้วย

“การเตรียมกำลังคนในพื้นที่อีอีซีถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะมีศูนย์ฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติทักษะแรงงานที่รองรับความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต้องมีการฝึกทักษะ เพื่อให้กำลังคนสามารถรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ โดยกระทรวงแรงงานได้มีการตั้งศูนย์ฝึกกระจายไปใน 20 แห่งทั่วประเทศ เทียบเท่าศูนย์ฝึกที่อีอีซี ทำให้กำลังแรงงานเกิดการพัฒนาทักษะขั้นสูงไปพร้อมกัน”

ใช้มาตรการภาษีหนุนจ้างงานผู้สูงวัย

“ขณะเดียวกันมีกำลังแรงงานที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่มีอายุ 55-60 ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในไลน์การผลิต ที่ไม่ได้ควบคุมเครื่องจักร ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่กว่า 3 แสนคน เพราะหากนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทน กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างมาก เป็นที่มาของการปรับปรุง แก้ไขระเบียบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบื้องต้นมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือกับปลัดกระทรวงการคลัง ดำเนินการในรูปแบบ cohold ซึ่งกระทรวงแรงงานแก้ไขกฎระเบียบ และให้กระทรวงการคลังมีมาตรการทางด้านภาษีในการให้เงินอุดหนุนนายจ้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแรงงานที่สูงอายุ ตอนนี้คาดว่าได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว เพียงแต่รอการแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น”

ทั้งยังได้มีการปรับสูตรการคำนวณบำนาญ การปรับอายุขั้นของผู้ประกันตนมาตรา 33 และการขยายโอกาสในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานยังร่วมกับภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งยังได้ประกาศอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง part time สำหรับผู้สูงอายุ จ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละ 45 บาท ระยะเวลาการทำงานไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และไม่เกินสัปดาห์ละ 6 วัน

รื้อสูตรค่าจ้าง ใช้ข้อมูลวิเคราะห์

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โดย “ม.ร.ว.จัตุมงคล” บอกว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มาจากอัตราตัวเลขที่ไม่ได้เกิดจากการศึกษาข้อมูล บริบทปัจจัยต่าง ๆ มีเพียงแต่ให้อนุกรรมการจังหวัดประชุมร่วมกันเพื่อเสนอตัวเลข แล้วส่งมาให้คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในการพิจารณา หลังจากนั้นจะส่งตัวเลขให้กับคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา และส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุย ถกเถียงหาข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หรือหากพิจารณาไม่ได้ จะให้มีการประชุมกันใหม่ จนกว่าจะเป็นที่สิ้นสุด

“จากปัญหาดังกล่าว ผมจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นและลงเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคล (per capita income) การย้อนดูสถิติข้อมูลตลอด 30 ปี ของค่าจ้างขั้นต่ำ เทียบกับรายได้เฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) และการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบของตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำและรายได้จีเอ็นพีของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะทำให้เห็นและเข้าใจตัวเลขที่จะปรับขึ้นว่าควรจะเป็นอย่างไร”

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของขวัญปีใหม่

“อย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ได้ผ่านขั้นตอนการเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากคณะอนุกรรมการทุกจังหวัดแล้ว และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปรอเพียงการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง วันที่ 20 พ.ย.นี้ หากที่ประชุมมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างใหม่ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ และเชื่อว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะประกาศใช้ทันภายในปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน”

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของภารกิจ workforce transformation เตรียมความพร้อมให้กับกำลังแรงงานของไทยทั้งระบบ ของกระทรวงแรงงานภายใต้การบริหารของ “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล”